- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Friday, 05 August 2022 12:41
- Hits: 2611
พาณิชย์ รับรอง 26 บริษัทแรก ผ่านประเมินระบบควบคุมสินค้าใช้ทำอาวุธร้ายแรง
กรมการค้าต่างประเทศมอบประกาศนียบัตรแก่ภาคเอกชนที่ผ่านการประเมินประสิทธิภาพระบบงานควบคุมสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง จำนวน 26 บริษัทแรก มั่นใจช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้คู่ค้าว่าสินค้าที่ส่งออกจากบริษัทเหล่านี้มีความปลอดภัย ได้รับการตรวจสอบ มีมาตรฐานควบคุมสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการนำไปใช้ทำอาวุธอานุภาพทำลายล้างสูงได้
นายพิทักษ์ อุดมวิชัยวัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้จัดงานมอบประกาศนียบัตรแก่องค์กรที่ผ่านการประเมินผลการรับรองระบบงานควบคุมสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (ระบบงาน ICP) จำนวน 26 องค์กร ที่มีผลการดำเนินงานการจัดทำระบบงาน ICP ที่มีประสิทธิภาพตามหลักเกณฑ์ที่กรมฯ กำหนด โดยทั้ง 26 องค์กร นับเป็นตัวแทนภาคเอกชนไทยรุ่นแรกที่ได้ผ่านการรับรองระบบงาน ICP จากกรมฯ ซึ่งผลของความสำเร็จดังกล่าว จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับบริษัทคู่ค้าว่าสินค้าที่ส่งออกมีความปลอดภัย
และได้รับการตรวจสอบการใช้และผู้ใช้สุดท้ายอย่างเข้มงวด อีกทั้งเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์การส่งออกสินค้าไทยว่ามีมาตรฐานในการควบคุมสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (WMD) เทียบเท่าสากล ทัดเทียมกับนานาประเทศ และจากนี้ กรมฯ จะนำรายชื่อทั้ง 26 องค์กรไปประชาสัมพันธ์ในการประชุม The Singapore Export Control Summit ที่สิงคโปร์ ในเดือนก.ย.2565 ด้วย
สำหรับ การประเมินผลการรับรองระบบงาน ICP กรมฯ ได้เปิดรับสมัครผู้ประกอบการไปเมื่อวันที่ 1-15 พ.ย.2564 และ 21-31 ม.ค.2565 โดยได้พิจารณาประเมินตามประกาศหลักเกณฑ์ ICP ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ระดับ มีผู้ผ่านการประเมินจำนวนทั้งสิ้น 26 บริษัท ดังนี้
1.บริษัทที่มีการดำเนินการครบถ้วนในระดับสมบูรณ์ จำนวน 22 บริษัท ได้แก่ 1.บริษัท กันยงอีเลคทริก จำกัด (มหาชน) 2.บริษัท โคเวสโตร (ประเทศไทย) จำกัด 3บริษัท แซนมินา-ไซ ซิสเท็มส์ (ประเทศไทย) 4.บริษัท โซจิทสึ (ประเทศไทย) จำกัด 5.บริษัท โซนี่ เทคโนโลยี จำกัด 6.บริษัท ไดกิ้น อินดัสทรีส์ (ประเทศไทย) จำกัด 7.บริษัท เด็นโซ่ อิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด 8.บริษัท โตโยต้า ไดฮัทสุ เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด 9.บริษัท โตโยต้า ทูโช (ไทยแลนด์) จำกัด 10.บริษัท นิสสัน เทรดดิ้ง (ไทยแลนด์) จำกัด 11.บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด
12.บริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริค คอนซูมเมอร์ โปรดักส์ (ประเทศไทย) จำกัด 13.บริษัท เมลโก้ เทรดดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด 14.บริษัท ยามาฮ่า มอเตอร์ เอเชียน เซ็นเตอร์ จำกัด 15.บริษัท อาร์เซลิก ฮิตาชิ โฮม แอพพลายแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด 16.บริษัท อินะบาตะไทย จำกัด 17.บริษัท อีริคสัน (ประเทศไทย) จำกัด 18.บริษัท เอปสัน พรีซิชั่น (ไทยแลนด์) จำกัด 19.บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด 20.บริษัท เอ็มเอชไอ ออโตโมทีฟ ไคลเมท คอนโทรล (ไทยแลนด์) จำกัด 21.บริษัท ฮานา เซมิคอนดักเตอร์ (อยุธยา) จำกัด 22.บริษัท โฮยา ออปติคส์ (ประเทศไทย จำกัด
2.บริษัทที่มีการดำเนินการครบถ้วนในระดับดีมาก จำนวน 2 บริษัท ได้แก่ 1.บริษัท มิตซูบิชิ อิเล็คทริค เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด 2.บริษัท อาร์เอ็มเอ ออโตโมทีฟ จำกัด
3.บริษัทที่มีการดำเนินการครบถ้วนในระดับดี (Basic) จำนวน 2 บริษัท ได้แก่ 1.บริษัท พานาโซนิค แมนูแฟคเจอริ่ง อยุธยา จำกัด 2.บริษัท ยูเซ็น โลจิสติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด
ก่อนหน้านี้ ประเทศไทยได้ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (Weapons of Mass Destruction : WMD) ให้สอดคล้องตามข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่ 1540 ที่มุ่งเน้นการตรวจสอบการใช้และผู้ใช้สุดท้าย โดยกรมการค้าต่างประเทศได้ดำเนินการออกประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง มาตรการเพื่อประโยชน์ในการควบคุมสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงและมาตรการเกี่ยวกับสินค้าที่มีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการใช้สุดท้ายหรือผู้ใช้สุดท้ายที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง พ.ศ.2564 (ประกาศมาตรการ CAC)
ซึ่งถือเป็นมาตรการหลักเพื่อควบคุมการส่งออก ส่งกลับ ถ่ายลำ ผ่านแดน และการถ่ายโอนเทคโนโลยีและซอฟต์แวร์ สินค้าที่ใช้ได้สองทาง (Dual-Use Items : DUI) และสินค้าเข้าข่ายเป็น DUI ในกรณีที่พบว่ามีความเสี่ยงต่อการแพร่ขยาย WMD และต่อมาได้ออกประกาศกรมการค้าต่างประเทศ เรื่อง หลักเกณฑ์การรับรองระบบงานควบคุมสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง พ.ศ.2564 (ประกาศหลักเกณฑ์ ICP) เพื่อเป็นมาตรการเสริมในการควบคุมสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ขยาย WMD ควบคู่กับมาตรการ CAC
ที่ผ่านมา กรมการค้าต่างประเทศยังได้ให้ความสำคัญและผลักดันภาคเอกชนในการจัดทำระบบงาน ICP ภายในองค์กร โดยได้ดำเนินการจัดโครงการบ่มเพาะระบบงานควบคุมสินค้าภายในองค์กร (ICP In-house) และโครงการภาคีเครือข่ายความร่วมมือระบบงานควบคุมสินค้าภายในองค์กร (ICP Network) ซึ่งทั้ง 2 โครงการมีวัตถุประสงค์เพื่อฝึกอบรมให้ภาคเอกชนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดทำระบบงาน ICP ที่มีประสิทธิภาพ
เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับองค์กรที่ประสงค์ขอรับการประเมินผลการรับรองระบบงาน ICP กับกรมการค้าต่างประเทศให้สามารถดำเนินการได้อย่างถูกต้องครบถ้วน ซึ่งจัดโครงการมาแล้ว 4 รุ่น ภายในระยะเวลา 2 ปี มีผู้เข้าร่วมโครงการมากกว่า 250 บริษัท จากหลากหลายกลุ่มอุตสาหกรรม เช่น ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น