- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Tuesday, 02 December 2014 07:57
- Hits: 2379
พาณิชย์ คาดเงินเฟ้อปีหน้าอยู่ที่ 1.8-2.5% บนสมมุติฐานจีดีพีโต 4-5% ส่วนปีนี้คาดเงินเฟ้ออยู่ในกรอบ 2-2.8% มองราคาสินค้ามีเสถียรภาพ
พาณิชย์ คาดเงินเฟ้อปีหน้าอยู่ที่ 1.8-2.5%บนสมมุติฐานจีดีพีโต 4-5% ส่วนปีนี้คาดเงินเฟ้ออยู่ที่ 2% ในกรอบ 2-2.8% หลังมองราคาสินค้าในภาพรวมอยู่ในเกณฑ์มีเสถียรภาพ ขณะที่เงินเฟ้อทั่วไปเดือน พ.ย.57อยู่ที่ 1.26%ต่ำสุดรอบ5ปี ส่งผล 11 เดือน แรกปีนี้ (ม.ค.-พ.ย.)เงินเฟ้อ อยู่ที่ 2.02 % ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 1.57%
นางอัมพวัน พิชาลัย รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในปี 2558 กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์กรอบเงินเฟ้อทั่วไปไว้ที่ 1.8-2.5% โดยอยู่ในสมมติฐานว่าจีดีพี ในปี 2558 จะขยายตัวได้ 4-5% ประกอบกับราคาน้ำมันยังคงปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง มาตรการดูแลค่าครองชีพของภาครัฐมีผล ส่วนในปีนี้คาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ 2%ซึ่งอยู่ในกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่คาดการณ์ไว้ที่ 2.00-2.80% เนื่องจาก ระดับราคาสินค้าในภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดีมีเสถียรภาพ โดยพบว่าอัตราเงินเฟ้อมีการเติบโตในอัตราที่ลดลงจากการปรับโครงสร้างราคาพลังงาน ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับลดลง มาตรการดูแลค่าครองชีพของภาครัฐ เป็นต้น
ในปีหน้าเรามองเงินเฟ้อที่ 1.8-2.5% โดยสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่จะกับมาขยายตัวได้ และรัฐบาลยังคงมาตรการลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชนต่อไป”นางอัมพวัน กล่าว
สำหรับ ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (เงินเฟ้อทั่วไป)ของประเทศ เดือนพฤศจิกายน 2557 เท่ากับ 107.19 เทียบกับเดือนตุลาคม 2557 ลดลง 0.12%(MoM)(เดือนตุลาคม 2557ลดลง 0.10% )และเมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2556สูงขึ้น 1.26%(YoY)เป็นเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ในอัตราชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องจากเดือนที่ผ่านมาซึ่งเท่ากับร้อยละ 1.48(YoY) และเป็นเงินเฟ้อที่สูงขึ้นในอัตราชะลอตัวต่ำสุดในรอบ 5ปี
สาเหตุเนื่องจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกภายในประเทศที่ปรับตัวลดลงตามราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ราคาอาหารสดปรับตัวสูงขึ้น แต่มีบางชนิดที่ปรับราคาลดลง ได้แก่ เนื้อสุกร ไก่สด และผลไม้สด เนื่องจากมีผลผลิตออกสู่ตลาดมาก โดยความต้องการบริโภคยังคงปกติ ส่งผลให้แรงกดดันเงินเฟ้ออ่อนตัวลง
ทั้งนี้ ภาพรวมระดับราคาอยู่ในเกณฑ์ดีมีเสถียรภาพ ซึ่งคาดว่าอัตราเงินเฟ้ออยู่ในกรอบที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ไว้ ระหว่าง 2.00% - 2.80%
ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศ (เงินเฟ้อพื้นฐาน) ไม่รวมอาหารสดและพลังงาน เดือนพฤศจิกายน 2557เท่ากับ 105.20 เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2556 สูงขึ้น 1.60(YoY)เป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลงจากเดือน ต.ค.2557 ซึ่งอยู่ที่ 1.67%
โดยเป็นผลจากสินค้าและบริการที่มีราคาสูงขึ้น ได้แก่ หมวดอาหารสำเร็จรูป จากหมวดอาหารบริโภค-ในบ้าน และหมวดอาหารบริโภค-นอกบ้าน หมวดค่าเช่า หมวดสิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด หมวดค่ารักษาพยาบาล รวมทั้งการปรับขึ้นของยาสูบ เบียร์ ขณะที่สินค้าและบริการที่มีราคาลดลง ได้แก่ หมวดเสื้อสตรี ทั้งนี้เมื่อเทียบกับเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารแห่งประเทศไทยหรือธปท.ที่อยู่ที่0.5-3% ดัชนีเงินเฟ้อพื้นฐานจึงยังอยู่ในช่วงที่ ธปท.ได้มีการคาดการณ์ไว้
ส่งผล ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (เงินเฟ้อทั่วไป) 11 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ย.57) อยู่ที่ 2.02% จากการสูงขึ้นของดัชนีราคาหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ 4% ตามการสูงขึ้นขอองราคาหมวดข้าว แป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้ง 1.41% หมวดเนื้อสัตว์ เป็ดไก่และสัตว์น้ำ สูงขึ้น 7.08%หมวดไข่และผลิตภัณฑ์นม สูงขึ้น 2.12% หมวดผักและผลไม้ สูงขึ้น 0.70%
นอกจากนี้ ยังมีหมวดเครื่องประกอบอาหารสูงขึ้น 4.45% หมวดเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮออล์ สูงขึ้น 0.97% สำหรับดัชนีราคาหมวดอื่นๆไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้น 0.98% ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (เงินเฟ้อพื้นฐาน)ของประเทศ 11 เดือนอยู่ที่ 1.57%
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย