WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

เงินเฟ้อพ.ย.57 ต่ำสุดรอบ 5ปี เหตุราคาน้ำมันตลาดโลกลดต่อเนื่อง

     แนวหน้า : นางอัมพวัน พิชาลัย รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วประเทศ เดือนพ.ย. 2557 ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป(เงินเฟ้อ) เท่ากับ 107.19 ลดลง 0.12% จากเดือนก่อนหน้า และสูงขึ้น 1.26% เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งเป็นเงินเฟ้อที่สูงขึ้นในอัตราชะลอตัวลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 และยังเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดในรอบ 61 เดือน(5 ปี) เนื่องจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศปรับตัวลดลง ตามราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ราคาอาหารบางชนิดปรับราคาลง เช่น เนื้อสุกร ไก่สด และผลไม้ เพราะผลผลิตออกสู่ตลาดมาก แต่ความบริโภคยังปกติ ส่งผลให้เงินเฟ้อระยะ 11 เดือนสูงขึ้น 2.02%

    “เศรษฐกิจภาพรวมตอนนี้ดีขึ้น โดยเฉพาะการบริโภคที่ดีขึ้นต่อเนื่อง แต่ที่เงินเฟ้อยังชะลอตัวอยู่ปัจจัยหลักเป็นผลมาจากราคาน้ำมันที่ปรับราคาลงต่อเนื่อง ประกอบกับการที่รัฐมีมาตรการช่วยลดค่าครองชีพ อย่างไรก็ตามยังไม่ถึงว่าเป็นสัญญาณของเงินฝืด ซึ่งการจะเป็นเงินฝืด ตัวเลขเงินเฟ้อปีต่อปีเทียบกันจะต้องติดลบ 6 เดือนต่อเนื่องกัน

   ทั้งนี้ การสำรวจสินค้า 450 รายการ มีสินค้าที่ปรับราคาขึ้น 197 รายการ เช่น ผักสด หอมหัวแดง กับข้าวสำเร็จรูป อาหารกลางวัน(ข้าวราดแกง) ก๋วยเตี๋ยว อาหารแบบตะวันตก ก๊าซหุงต้ม สินค้าที่ไม่เปลี่ยนแปลงมี 157 รายการ และสินค้าที่ปรับตัวลดลง ข้าวสารเจ้า เนื้อสุกร ไก่สด น้ำมันเชื้อเพลิง

    สำหรับ การคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในเดือนธ.ค. 2557 นั้น มองว่าเงินเฟ้อจะปรับตัวลงเล็กน้อย โดยในไตรมาสที่ 4 เงินเฟ้อจะเฉลี่ยที่ 1.6% ซึ่งจะทำให้ครึ่งปีหลังเงินเฟ้ออยู่ที่ 1.8% และทั้งปีคาดว่าเงินเฟ้อจะสูงขึ้น 2.00% ซึ่งยังอยู่ในกรอบที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ไว้ระหว่าง 2.00-2.80%

   ส่วนในปี 2558 กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ว่า เงินเฟ้อจะอยู่ในกรอบระหว่าง 1.8-2.5% ภายใต้สมมติฐาน 4 ประการคือ 1.อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศในปี 2558 ขยายตัวได้ที่ระดับ 4-5% 2.ราคาน้ำมันดิบในตลาดดูไบ อยู่ในช่วงระหว่างราคา 90-110 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล โดยราคาน้ำมันในขณะนี้ก็ยังคงมีแนวโน้มปรับตัวลดลง 3.อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทอยู่ในช่วงระหว่าง 31-34 บาทต่อเหรียญสหรัฐ และ4.รัฐบาลยังคงใช้มาตรการลดค่าครองชีพประชาชนอย่างต่อเนื่อง

    นอกจากนี้ ในช่วงปลายปีที่จะมีการจัดงานมหกรรมกระตุ้นการใช้จ่ายประชาชน ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้ร่วมมือกับเอกชนจัดงานขึ้น 7 วันนั้น มองว่าจะไม่มีผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อมากนัก แต่ถือว่าการการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยในการซื้อสินค้าในราคาถูกมากกว่า ขณะที่ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ผ่านมาอยู่ในระดับสูงขึ้น และความเชื่อมั่นในอนาคตปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน แต่ยังเป็นระดับที่ต้องการความช่วยเหลือลดค่าครองชีพจากรัฐบาล

พาณิชย์ เผย CPI เดือน พ.ย.โต 1.26%, Core CPI โต 1.60%

     กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผย ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ(CPI)เดือน พ.ย.57 อยู่ที่ 107.19 เพิ่มขึ้น 1.26% จากเดือน พ.ย.56 แต่ลดลง 0.12% จาก ต.ค.57 ส่งผลให้ CPI เฉลี่ย 11 เดือน(ม.ค.-พ.ย.57) เพิ่มขึ้น 2.02%

     ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน(Core CPI) เดือน พ.ย.57 อยู่ที่ 105.20 เพิ่มขึ้น 1.60% จากเดือน พ.ย.56 และเพิ่มขึ้น 0.11% จาก ต.ค.57 ส่งผลให้ Core CPI เฉลี่ย 11 เดือน(ม.ค.-พ.ย.57) เพิ่มขึ้น 1.57%

     สำหรับ ดัชนีราคาสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มเดือน พ.ย.57 อยู่ที่ 113.43 เพิ่มขึ้น 3.38% จาก พ.ย.56 และเพิ่มขึ้น 0.22% จาก ต.ค.57 ขณะที่ดัชนีราคาสินค้าที่ไม่ใช่หมวดอาหารและเครื่องดื่มอยู่ที่ 103.76 เพิ่มขึ้น 0.14% จากเดือน พ.ย.56 แต่ลดลง 0.30% จาก ต.ค.57

    นางอัมพวัน พิชาลัย รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ทิศทางของดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ(CPI)เดือน พ.ย.57 เป็นเงินเฟ้อที่สูงขึ้นในอัตราชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องจากเดือนที่ผ่านมาซึ่งเท่ากับ 1.48% ซึ่งถือเป็นอัตราต่ำสุดในรอบ 5 ปี เนื่องจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกภายในประเทศที่ปรับตัวลดลงตามราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง และมาตรการลดค่าครองชีพของรัฐบาล ไม่ได้เป็นผลจากกำลังซื้อของประชาชนลดลง หรือภาวะเงินฝืด ขณะที่ราคาอาหารสดปรับตัวสูงขึ้น แต่มีบางชนิดที่ปรับราคาลดลง ได้แก่ เนื้อสุกร ไก่สด และผลไม้สด เนื่องจากมีผลผลิตออกสู่ตลาดมาก โดยความต้องการบริโภคยังคงปกติ ส่งผลให้แรงกดดันเงินเฟ้ออ่อนตัวลง

    ทั้งนี้ ภาพรวมระดับราคาอยู่ในเกณฑ์ดีมีเสถียรภาพ ซึ่งคาดว่าอัตราเงินเฟ้ออยู่ในกรอบที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ไว้ระหว่าง 2.00-2.80% และเมื่อเทียบกับเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ที่อยู่ระหว่าง 0.5-3.0% ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานเดือน พ.ย.57 ยังอยู่ในช่วงเป้าหมายของ ธปท.

    นางอัมพวัน กล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อในช่วงไตรมาส 4/57 คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นราว 1.6% และทั้งนี้ปีขยายตัวราว 2% จากกรอบที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 2.0-2.8% ส่วนอัตราเงินเฟ้อในปี 58 คาดว่าจะขยายตัว 1.8-2.5% ซึ่งสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ภายใต้สมมุติฐาน 4 ประการ คือ 1.อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ที่ร้อยละ 4.0-5.0 2.ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ 90-110 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล 3.อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 31-34 บาท/เหรียญสหรัฐ และ 4.รัฐบาลยังคงมาตรการลดค่าครองชีพ

อินโฟเควสท์

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!