- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Sunday, 03 July 2022 11:52
- Hits: 1887
กรมเจรจาฯ หนุนเกษตรกรเบตง ใช้ประโยชน์ FTA ส่งออกทุเรียนขายตลาดต่างประเทศ
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศหนุนผู้ประกอบการ วิสาหกิจชุมชน และเกษตรกร ในพื้นที่เบตง จ.ยะลา ใช้ประโยชน์จาก FTA เพิ่มโอกาสการส่งออกทุเรียนไปขายตลาดต่างประเทศ เผยล่าสุดมีถึง 17 ประเทศที่ไม่เก็บภาษีนำเข้าจากไทยแล้ว เหลือแค่เกาหลีใต้ประเทศเดียว ที่ยังเก็บภาษี แต่จะลดภายใต้ RCEP เหลือ 0% ในปี 74
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า วันที่ 1 ก.ค.2565 ที่ผ่านมา กรมฯ ได้ลงพื้นที่เยี่ยมชมวิสาหกิจชุมชนสวนทุเรียนศักดิ์ศรี อำเภอเบตง จังหวัดยะลา เพื่อพบหารือกับผู้ประกอบการ วิสาหกิจชุมชน และเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียน กรุยทางให้ผลผลิตทุเรียนภาคใต้ที่เริ่มทยอยออกสู่ตลาดในเดือน ก.ค.นี้ ได้ใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่ไทยทำกับคู่ค้า 18 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน จีน ฮ่องกง ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย ชิลี และเปรู ที่ได้ยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้าทุเรียนจากไทยแล้ว ใช้ประโยชน์จาก FTA ในการส่งออกทุเรียนไปยังตลาดที่ไทยมี FTA ได้ถึง 17 ประเทศ โดยเหลือเพียงเกาหลีใต้ที่ยังคงเก็บภาษีนำเข้าที่ร้อยละ 36 แต่จะทยอยลดเหลือร้อยละ 0 ในปี 2574 ภายใต้ความตกลง RCEP
ทั้งนี้ วิสาหกิจชุมชนสวนศักดิ์ศรีทุเรียนเบตง จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2564 มีสมาชิก 7 คน ปลูกทุเรียนบนพื้นที่ 25 ไร่ มากกว่า 17 ปี รวม 400 กว่าต้น ผลิตทุเรียน 3 สายพันธุ์ ได้แก่ พันธุ์มูซังคิง พันธุ์โอวฉีหรือหนามดำ และพันธุ์ยาวลิ้นจี่ มีเอกลักษณ์แตกต่างจากพื้นที่อื่น คือ มีสีเหลืองแห้ง กลิ่นหอมเฉพาะ และรสหวานจัด เป็นสวนเกษตรอินทรีย์ผลิตทุเรียนปลอดสารพิษและได้รับมาตรฐานรับรอง GAP ซึ่งช่วยยกระดับคุณภาพและราคาของทุเรียนให้เพิ่มสูงขึ้น โดยทุเรียนสด เน้นการทำตลาดออนไลน์ และบางส่วนจำหน่ายใน Tops Supermarket และจำหน่ายทุเรียนแช่แข็งให้กับนักท่องเที่ยว รวมทั้งจำหน่ายต้นกล้าทุเรียน ราคาต้นละ 100 บาท ส่งจำหน่ายทั่วประเทศได้ปีละ 60,000-80,000 ต้น ซึ่งล่าสุดมีแผนเตรียมขยายการผลิตเพื่อการส่งออกในอนาคต
นางอรมน กล่าวว่า กรมฯ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพทางการค้าของผู้ประกอบการ วิสาหกิจชุมชน เกษตรกร ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ โดยตั้งแต่ปี 2561 ได้ดำเนินโครงการ’สร้างเครือข่ายเชื่อมโยง 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ สู่ตลาดการค้าเสรีอาเซียน’ มาอย่างต่อเนื่องทุกปี ได้แก่ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสงขลา ซึ่งเป็นการทำงานแบบบูรณาการร่วมกับกับหน่วยงานพันธมิตร ได้แก่ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) สำนักงานพาณิชย์จังหวัด สภาเกษตรกรแห่งชาติ
และสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัด ในรูปแบบของการลงพื้นที่ ควบคู่กับการจัดสัมมนา เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องการใช้ประโยชน์จาก FTA ให้กับเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการ ซึ่งพบว่า มีสินค้าที่มีศักยภาพและความพร้อมส่งออก โดยเฉพาะผลไม้ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ ทุเรียน มังคุด ส้ม ลองกอง และกล้วยหิน
ปัจจุบัน ไทยส่งออกทุเรียนสดและทุเรียนแช่แข็ง เป็นอันดับที่ 1 ของโลก ในปี 2564 มูลค่ารวม 3,788 ล้านเหรียญสหรัฐ แบ่งเป็นการส่งออกทุเรียนสด มูลค่า 3,490 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 68% และส่งออกทุเรียนแช่เย็น แช่แข็ง มูลค่า 299 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 42% ตลาดส่งออกหลัก คือ จีน มูลค่าส่งออกสูงถึง 3,400 ล้านเหรียญสหรัฐ (90% ของการส่งออกทุเรียนของไทย) รองลงมาคือฮ่องกง มูลค่า 197 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (5% ของการส่งออกทุเรียนไทย) และเวียดนาม 119 ล้านเหรียญสหรัฐ (3% ของการส่งออกทุเรียนไทย)
สำหรับ ในช่วง 4 เดือนของปี 2565 (ม.ค.-เม.ย.) ไทยส่งออกทุเรียนไปตลาดโลก มูลค่า 721 ล้านเหรียญสหรัฐ แบ่งเป็นทุเรียนสด มูลค่า 676 ล้านเหรียญสหรัฐ (96% ของการส่งออกทุเรียนทั้งหมดของไทย) และส่งออกทุเรียนแช่เย็นแช่แข็ง มูลค่า 45 ล้านเหรียญสหรัฐ ตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ จีน ฮ่องกง และจีนไทเป โดยส่งออกไปประเทศคู่ค้า FTA มูลค่ารวม 712 ล้านเหรียญสหรัฐ (สัดส่วน 99% ของการส่งออกทั้งหมด) ขยายตัว 23%