- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Thursday, 16 June 2022 08:48
- Hits: 3194
พาณิชย์ แจง Walmart สหรัฐฯ ถอดกะทิไทยจากห้างไม่จริง ชี้ PETA สร้างประเด็นการค้า
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) ชี้แจงข่าวห้าง Walmart สหรัฐฯ ถอดกะทิไทยออกจากชั้นวาง ไม่เป็นความจริง เผยแค่บางช่วง ไม่มีสินค้าวางจำหน่าย ถือเป็นวงจรปกติของห้าง แต่ PETA ใช้จังหวะสร้างประเด็นทางการค้า ยันที่ผ่านมา มีการให้ข้อเท็จจริงไม่มีการใช้ลิงเก็บมะพร้าวในอุตสาหกรรม มีแค่วิถีชีวิตชุมชน และยังได้ให้ข้อมูล PETA ไทยมีมาตรฐานการผลิต รับผิดชอบสิ่งแวดล้อม สวัสดิภาพสัตว์
นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดเผยกรณีมีกระแสข่าวเรื่องห้าง Walmart ของสหรัฐฯ ถอดสินค้ากะทิของไทยออกจากชั้นวางจำหน่ายสินค้า จากการกดดันขององค์กรพิทักษ์สัตว์ (PETA) ถึงการใช้แรงงานลิงในอุตสาหกรรมผลิตกะทิสำเร็จรูป ว่า ได้สอบถามไปยังทูตพาณิชย์ที่สหรัฐฯ ซึ่งติดต่อประสานงานกับผู้นำเข้าและห้างผู้จัดจำหน่ายสินค้าไทยรายใหญ่ๆ อยู่ตลอด พบว่า การที่จะมีหรือไม่มีสินค้าบางชนิด บางยี่ห้อ วางขายในบางช่วงเวลานั้น เป็นไปตามวงจรการวางขายสินค้าของร้าน ซึ่งจะมีการปรับสินค้าและปริมาณให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคตามฤดูกาล โดยที่ขณะนี้ Walmart ยังคงนำเข้า และจำหน่ายสินค้าจากไทย และรักษาความสัมพันธ์อันดีตามปกติ ซึ่งคาดว่า PETA อาจใช้ช่วงเวลาดังกล่าว ที่ไม่ได้มีกะทิจากไทยวางขาย สร้างประเด็นทางการค้า
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา กรมฯ ได้ร่วมกับสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป จัดทำหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริง และออกแถลงการณ์ของสมาคมฯ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการปลูกและเก็บมะพร้าว ซึ่งไม่ได้ใช้แรงงานลิงในอุตสาหกรรมส่งออก เผยแพร่ต่อผู้นำเข้า ห้างที่จำหน่ายสินค้าในหลายโอกาสอย่างต่อเนื่อง และผู้นำเข้าส่วนใหญ่เข้าใจวัฒนธรรมของไทย และที่สำคัญ มะพร้าวที่เข้ามาแปรรูปในอุตสาหกรรม ใช้แรงงานคนและเครื่องจักร สามารถตรวจสอบย้อนหลังได้ ส่วนลิงขึ้นมะพร้าวเป็นวิถีชีวิตชุมชนที่อยู่คู่กันมานาน และไม่ได้เข้าไปอยู่ในระบบอุตสาหกรรมแต่อย่างใด
ขณะเดียวกัน ได้ชี้แจงไปยัง PETA ว่า ผู้ผลิตกะทิสำเร็จรูปไทยมีมาตรฐานในการผลิตสินค้าที่ได้คุณภาพตามมาตรฐานนานาชาติ ทั้งกระบวนการผลิตที่มีมาตรฐาน การมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม การมีสวัสดิการที่ดีให้แรงงาน รวมถึงการค้าอย่างเป็นธรรมกับเกษตรกร รวมถึงเน้นย้ำว่า ประเทศไทยมีการออก พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 ตลอดจนเพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่ทุกภาคส่วน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการเร่งดำเนินการทำ No-monkey Farm list แล้ว
“กระแสข่าวดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการส่งออกกะทิของปีที่ผ่านมา ในเชิงมูลค่าไม่มากนัก เนื่องจากสินค้าดังกล่าวใช้ในธุรกิจร้านอาหาร และตลาดผู้บริโภคเชื้อชาติอื่น มากกว่าตลาดหลัก โดยมูลค่าการส่งออกกะทิสำเร็จรูปทั่วโลกปี 2564 มีมูลค่า 26,582.56 ล้านบาท ลดลง 2.57% และตลาดสหรัฐฯ คิดเป็น 1 ใน 4 ของการส่งออกทั้งหมดของไทย”นายภูสิตกล่าว