- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Wednesday, 08 June 2022 08:26
- Hits: 5121
น้ำมัน ก๊าซ ค่าไฟ อาหารสดขึ้น ดันเงินเฟ้อพ.ค.65 เพิ่ม 7.1% สูงสุดในรอบ 13 ปี
พาณิชย์ เผยเงินเฟ้อพ.ค.65 เพิ่มขึ้น 7.1% สูงสุดในรอบ 13 ปีอีกครั้ง เหตุได้รับผลกระทบจากการสูงขึ้นของราคาน้ำมัน ก๊าซหุงต้ม ค่าไฟฟ้า อาหารสด ค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล สินค้าทำความสะอาด คาดแนวโน้ม มิ.ย. มีโอกาสขึ้นต่อ หลังน้ำมันยังเป็นปัจจัยกดดัน กระทบต้นทุนการผลิตและราคาสินค้า ส่วนทั้งปียังประเมินที่ 4-5% หากสถานการณ์เปลี่ยนพร้อมทบทวนเป้าใหม่
นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนพ.ค.2565 เท่ากับ 106.62 เทียบกับเม.ย.2565 เพิ่มขึ้น 1.40% เทียบกับเดือนพ.ค.2564 เพิ่มขึ้น 7.10% เป็นการเพิ่มขึ้นสูงกว่าตัวเลขเดือนเม.ย.2565 และสูงกว่าเดือนก.พ. และมี.ค. ที่ทำสถิติสูงสุดในรอบ 13 ปี ทำให้เดือนพ.ค.เงินเฟ้อยังถือว่าสูงสุดในรอบ 13 ปี ส่วนเงินเฟ้อรวม 5 เดือนปี 2565 (ม.ค.-พ.ค.) เพิ่มขึ้น 5.19% และเงินเฟ้อพื้นฐาน ที่หักอาหารสดและพลังงานที่มีความผันผวนด้านราคาออก ดัชนีอยู่ที่ 102.74 เพิ่มขึ้น 0.17% เมื่อเทียบกับเดือนเม.ย.2565 และเพิ่มขึ้น 2.28% เมื่อเทียบกับเดือนพ.ค.2564 และเฉลี่ย 5 เดือนเพิ่มขึ้น 1.72%
สาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น ปัจจัยหลักยังคงเป็นราคาพลังงานและอาหารที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยสินค้ากลุ่มพลังงาน เพิ่ม 37.24% โดยเฉพาะราคาน้ำมันเชื้อเพลิง เพิ่มขึ้นถึง 35.89% ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาในตลาดโลก ก๊าซหุงต้ม เพิ่ม 8% จากการยกเลิกการตรึงราคาก๊าซหุงต้ม ทำให้ราคาทยอยปรับเพิ่มขึ้นแบบขั้นบันได และค่ากระแสไฟฟ้า เพิ่ม 45.43% จากการปรับเพิ่มค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) รอบเดือนพ.ค.-ส.ค.2565
ส่วนกลุ่มอาหารเพิ่ม 6.18% เช่น เนื้อสุกร ไก่สด ไข่ไก่ ราคาเปลี่ยนแปลงตามต้นทุนการเลี้ยง ผักสด ราคาเปลี่ยนแปลงตามปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาด เครื่องประกอบอาหาร อาหารสำเร็จรูป และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ราคาปรับขึ้นตามต้นทุน และสินค้าอื่น ๆ เช่น ค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล (แชมพู ยาสีฟัน สบู่ถูตัว) ราคาปรับเพิ่มขึ้นเนื่องจากสิ้นสุดโปรโมชัน ขณะที่สิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด (น้ำยาล้างจาน น้ำยารีดผ้า น้ำยาปรับผ้านุ่ม) ยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ (บุหรี่ เบียร์ สุรา) ราคาทยอยปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย
อย่างไรก็ตาม มีสินค้าสำคัญหลายรายการ ราคายังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง เช่น กลุ่มข้าวแป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง ลด 2.81% โดยเฉพาะราคาข้าวสาร การศึกษา ลด 0.65% ตามค่าเล่าเรียนและค่าธรรมเนียมการศึกษาที่ปรับลดลงทุกระดับชั้น เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า เช่น กางเกงขายาวบุรุษ และเสื้อสตรี ลด 0.06% ตามการจัดโปรโมชัน
ทั้งนี้ ในเดือนพ.ค.2565 มีสินค้าที่ราคาสูงขึ้น 298 รายการ เช่น ค่ากระแสไฟฟ้า น้ำมันเชื้อเพลิง เนื้อสุกร กับข้าวสำเร็จรูป อาหารกลางวัน (ข้าวราดแกง) ไข่ไก่ อาหารเช้า ค่าน้ำประปา ไก่สด เป็นต้น สินค้าไม่เปลี่ยนแปลง 54 รายการ เช่น ค่าโดยสารรถไฟลอยฟ้า ค่าใบอนุญาตขับขี่ ค่าภาษีรถยนต์ประจำปี และราคาลดลง 78 รายการ เช่น ข้าวสารเหนียว ข้าวสารเจ้า ขิง กล้วยหอม ต้นหอม มะเขือเทศ ค่าเช่าบ้าน ผักกาดขาว และถั่วฝักยาว เป็นต้น
นายรณรงค์ กล่าวว่า เงินเฟ้อเดือนมิ.ย.2565 มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง จากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่อยู่ในระดับสูง เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รวมถึงมีการขยายเพดานการตรึงราคาน้ำมันดีเซล การปรับราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) เพิ่มขึ้นแบบขั้นบันได ซึ่งจะสิ้นสุดในเดือนมิ.ย.2565 และการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) ขณะที่สินค้าอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะอาหารสดและอาหารสำเร็จรูปที่ปรับราคาสูงขึ้นตามต้นทุนการผลิต รวมถึงต้นทุนการขนส่งและโลจิสติกส์ การระงับการส่งออกสินค้าในหลายประเทศ และอุปสงค์ที่เริ่มฟื้นตัวจากภาคการท่องเที่ยว และการส่งออก จะเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เงินเฟ้อทั่วไปของไทยยังคงเพิ่มขึ้น
“ตอนนี้น้ำมันเป็นปัจจัยหลัก ยังไม่ลดลง แต่ก็พอมีสัญญาณลงบ้าง จากกรณีประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะไปเยือนซาอุดิอาระเบีย ขอให้ผลิตน้ำมันเพิ่ม แต่ถ้าดูปัจจุบัน ราคาน้ำมันยังมีผลต่อต้นทุนการผลิต ส่งต่อไปถึงสินค้าขายปลีก คาดว่า เงินเฟ้อเดือนมิ.ย.2565 น่าจะเพิ่มขึ้น แต่การเพิ่มขึ้น ไม่ได้หมายความว่าเพิ่มเพราะรายการสินค้าและบริการสูงขึ้นด้วยเหตุผลเดียว แต่เป็นเรื่องของน้ำมัน ที่กระทบต่อเนื่อง ทั้งการต้นทุนการผลิต ราคาสินค้า”นายรณรงค์กล่าว
สำหรับ เป้าหมายเงินเฟ้อทั้งปี ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์ คาดการณ์ว่าเงินเฟ้อทั่วไปของไทย ปี 2565 จะเคลื่อนไหวในกรอบ 4.0-5.0% ค่ากลางอยู่ที่ 4.5% ซึ่งเป็นระดับที่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน ส่วนที่หลายฝ่ายมองว่าจะเพิ่มขึ้นมากกว่านี้ และไทยจะไม่อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีเงินเฟ้อต่ำ ซึ่งจากการประเมินตอนนี้ ทั้งไม่น่าจะเกิน 6-7% ภายใต้โจทย์น้ำมันสูง แต่ไทยยังอยู่ในกลุ่มประเทศที่เงินเฟ้อต่ำ อาจจะไม่ต่ำที่สุด โดย สนค.จะติดตามสถานการณ์ต่อไป และหากมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ก็จะมีการทบทวนเป้าหมายเงินเฟ้ออีกครั้ง
สรุปดัชนีเศรษฐกิจการค้า เดือนพฤษภาคม 2565
นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทย เดือนพฤษภาคม 2565 เท่ากับ 106.62 (ปี 2562 = 100) สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไป อยู่ที่ร้อยละ 7.10 (YoY) เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับหลายประเทศที่เงินเฟ้อสูงขึ้น โดยประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกา และประเทศในแถบยุโรป ตัวเลขเงินเฟ้อเร่งตัวสูงขึ้นค่อนข้างมาก
โดยมีสาเหตุจากอุปสงค์ที่ปรับเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ การตึงตัวของอุปทาน และมาตรการคว่ำบาตรระหว่างประเทศ ทำให้อุปทานไม่สมดุลกับอุปสงค์มากขึ้น สำหรับประเทศในกลุ่มอาเซียน รวมถึงประเทศไทย อัตราเงินเฟ้อโดยเฉลี่ยยังสูงไม่มากนักเมื่อเทียบกับประเทศดังกล่าว เนื่องจากเศรษฐกิจฟื้นตัวช้า ในขณะที่ราคาสินค้าและบริการปรับตัวสูงขึ้นจากผลของราคาพลังงานและอาหารในตลาดโลกอย่างต่อเนื่อง
อัตราเงินเฟ้อของไทยในเดือนนี้ อยู่ที่ร้อยละ 7.10 (YoY) ปัจจัยหลักยังคงเป็นราคาพลังงานและอาหารที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยสินค้ากลุ่มพลังงาน ทั้งราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ที่ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาในตลาดโลก การยกเลิกการตรึงราคาก๊าซหุงต้มทำให้ราคาทยอยปรับเพิ่มขึ้นแบบขั้นบันได และการปรับเพิ่มค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) นอกจากนี้ ฐานราคาในเดือนเดียวกันของปีก่อนค่อนข้างต่ำ จึงมีส่วนทำให้เงินเฟ้อในเดือนนี้อยู่ที่ร้อยละ 7.10 อย่างไรก็ตาม ข้าวสาร เครื่องนุ่งห่ม ค่าเช่าบ้าน การศึกษา ราคายังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออกแล้วเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 2.28 (YoY) โดยมีรายละเอียด ดังนี้
สินค้าสำคัญที่ทำให้เงินเฟ้ออยู่ที่ระดับ 7.10 (YoY)
- · กลุ่มพลังงาน สูงขึ้นร้อยละ 37.24 โดยเฉพาะราคาน้ำมันเชื้อเพลิงสูงขึ้นถึงร้อยละ 35.89 ปรับสูงขึ้นตามทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลก ค่ากระแสไฟฟ้า สูงขึ้นร้อยละ 45.43 ตามการปรับเพิ่มค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) ในรอบเดือนพฤษภาคม–สิงหาคม 2565 และราคาก๊าซหุงต้ม สูงขึ้นร้อยละ 8.00 จากการทยอยปรับเพิ่มขึ้นแบบขั้นบันได ตั้งแต่เดือนเมษายนไปจนถึงเดือนมิถุนายน 2565
- · กลุ่มอาหาร สูงขึ้นร้อยละ 6.18 อาทิ เนื้อสุกร ไก่สด ไข่ไก่ ราคาเปลี่ยนแปลงตามต้นทุนการเลี้ยง ผักสด
ราคาเปลี่ยนแปลงตามปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาด ส่วนเครื่องประกอบอาหาร อาหารสำเร็จรูป และเครื่องดื่ม
ไม่มีแอลกอฮอล์ ราคาปรับขึ้นตามต้นทุน
- · สินค้าอื่น ๆ อาทิ ค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล (แชมพู ยาสีฟัน สบู่ถูตัว) ราคาปรับเพิ่มขึ้นเนื่องจากสิ้นสุดโปรโมชั่น
นอกจากนี้ สิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด (น้ำยาล้างจาน น้ำยารีดผ้า น้ำยาปรับผ้านุ่ม) ยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ (บุหรี่ เบียร์ สุรา) ราคาทยอยปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ขณะที่สินค้าสำคัญอีกหลายรายการราคายังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง
- · กลุ่มข้าวแป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้ง ลดลงร้อยละ 2.81 โดยเฉพาะราคาข้าวสาร ราคาปรับลดลงเนื่องจากปริมาณผลผลิตมีจำนวนมากกว่าปีที่ผ่านมา
- · การศึกษา ลดลงร้อยละ 0.65 ตามค่าเล่าเรียนและค่าธรรมเนียมการศึกษาที่ปรับลดลงทุกระดับชั้น
เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ลดลงเล็กน้อยร้อยละ 0.06 (กางเกงขายาวบุรุษ และเสื้อสตรี) ราคาเปลี่ยนแปลงตามการจัดโปรโมชั่นเป็นสำคัญ
ดัชนี ราคาผู้บริโภคในเดือนนี้ เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2565 อยู่ที่ร้อยละ 1.40 (MoM) จากการสูงขึ้นเกือบทุกกลุ่มสินค้า โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มพลังงาน ผลไม้สด เนื้อสัตว์ เครื่องประกอบอาหาร และของใช้ส่วนบุคคลและเฉลี่ย 5 เดือน (ม.ค.-พ.ค.) ปี 2565 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อยู่ที่ร้อยละ 5.19 (AoA)
สำหรับ ดัชนีราคาผู้ผลิต เดือนพฤษภาคม 2565 สูงขึ้นร้อยละ 13.3 (YoY) เป็นการปรับสูงขึ้นในทุกหมวดสินค้า โดยเฉพาะหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และหมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ซึ่งมีสินค้ากลุ่มปิโตรเลียม ก๊าซธรรมชาติ และสินค้าที่เกี่ยวเนื่อง สาเหตุเกิดจาก ราคาพลังงาน ค่าขนส่ง และราคาวัตถุดิบนำเข้า รวมทั้งเงินบาทที่อ่อนค่า และต้นทุนการผลิตอื่น ๆ ขณะที่ความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศอยู่ในระดับสูง ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง สูงขึ้นร้อยละ 6.5 (YoY) สูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลง อาทิ สินค้าในหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ผลิตภัณฑ์คอนกรีต อุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา ขณะที่ต้นทุนการผลิตยังคงปรับตัวสูงขึ้นจากวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต ทั้งน้ำมัน ถ่านหิน และอลูมิเนียม
ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 44.7 เทียบกับระดับ 45.7 ในเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้เป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่ยังมีความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกประเทศ ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และราคาสินค้าอุปโภค-บริโภคที่ปรับสูงขึ้น ประกอบกับมาตรการบรรเทาค่าครองชีพภาครัฐบางมาตรการได้สิ้นสุดลง และการระบาดของโควิด-19 อย่างไรก็ตาม ภาคการท่องเที่ยวและการส่งออกที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น จะเป็นปัจจัยบวกที่ส่งผลให้ผู้บริโภคเกิดความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทยได้ในระยะต่อไป
แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อ เดือนมิถุนายน 2565 มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง จากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่อยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รวมถึงมีการขยายเพดานการตรึงราคาน้ำมันดีเซล การปรับราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) เพิ่มขึ้นแบบขั้นบันได ซึ่งจะสิ้นสุดในเดือนมิถุนายนนี้ และการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) นอกจากนี้ สินค้าอุปโภค-บริโภค โดยเฉพาะอาหารสดและอาหารสำเร็จรูปที่ปรับราคาสูงขึ้นตามต้นทุนการผลิต รวมถึงต้นทุนการขนส่งและโลจิสติกส์ การระงับการส่งออกสินค้าในหลายประเทศ และอุปสงค์ที่เริ่มฟื้นตัวจากภาคการท่องเที่ยว และการส่งออก จะเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เงินเฟ้อทั่วไปของไทยยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ คาดการณ์ว่าเงินเฟ้อทั่วไปของไทย ปี 2565 จะเคลื่อนไหวในกรอบร้อยละ 4.0 - 5.0 (ค่ากลางอยู่ที่ 4.5) ซึ่งเป็นระดับที่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน และหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญจะมีการทบทวนอีกครั้ง
โดย สำนักงานนโยบายแลถยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)