- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Wednesday, 01 June 2022 22:30
- Hits: 6078
จุรินทร์ ยันเงินเฟ้อไทยต่ำ ปุ๋ยไม่ขาด ส่งออกพุ่ง อาหาร ข้าวโต รุก Soft Power
จุรินทร์ ชี้แจงแผนการทำงานในการอภิปรายงบประมาณรายจ่ายปี 66 ยันเงินเฟ้อไทย ไม่ได้สูงสุดในโลก แต่เกือบต่ำสุดในโลก เหตุบริหารจัดการได้ดี ราคาปุ๋ยก็ไม่ได้แพงเกินจริงและไม่ขาดแคลน การส่งออกเป็นเครื่องยนต์หลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สร้างรายได้เข้าประเทศ ใช้โอกาสจากวิกฤตขาดแคลนอาหารโลก ดันส่งออกอาหาร แต่ในประเทศต้องไม่ขาดแคลน เร่งพัฒนาพันธุ์ข้าว เพิ่มโอกาสส่งออก คาดปีนี้พุ่ง 7-8 ล้านตัน และดัน Soft Power เต็มที่
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยในการอภิปราย พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 ที่อาคารรัฐสภา ว่า กระทรวงพาณิชย์ขอชี้แจงเพื่อนสมาชิกในแต่ละประเด็นที่ได้หยิบยกขึ้นมา มีจำนวน 6 เรื่อง คือ 1.เงินเฟ้อ 2.ราคาปุ๋ย 3.การส่งออก 4.การขาดแคลนอาหารของโลก 5.ข้าว และ 6.Soft Power เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง และเข้าใจแนวทางการทำงาน การดำเนินการ เพื่อให้เห็นภาพว่ารัฐบาลและกระทรวงพาณิชย์ตอบโจทย์การใช้จ่ายงบประมาณและการจัดงบประมาณอย่างไร
สำหรับ ประเด็นแรก เรื่องเงินเฟ้อ เกิดจากราคาน้ำมันสูงขึ้นทั่วโลก ราคาเดือนพ.ค.2565 เทียบกับปี 2564 ราคาดูไบเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 60% ส่งผลกระทบต่อต้นทุนสินค้า การขนส่ง ทำให้ราคาสินค้าและเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นทั่วโลก แต่เงินเฟ้อของไทยอยู่ในเกณฑ์ดี กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประเมินว่าเงินเฟ้อไทยอยู่ในกลุ่มประเทศเงินเฟ้อต่ำที่สุดในโลก คาดว่าทั้งปี 3.5% เป็นลำดับที่ 163 จาก 192 ประเทศ ส่วนสินค้า มี 3 กลุ่ม คือ ราคาสูง ทรงตัว และลดลง ซึ่งสินค้า 18 หมวดสำคัญ ยังตรึงอยู่ น้ำอัดลม บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ค่าขนส่งแพลตฟอร์มต่างๆ ยังไม่ขึ้น
แต่น้ำมันปาล์ม ขึ้นจริง เพราะต้นทุนสูงขึ้นจากราคาปาล์มดิบที่สูงขึ้น ซึ่งได้แก้ปัญหาด้วยการตั้งคณะอนุกรรมการเข้ามาดูแลทั้งระบบ ไม่ให้กระทบราคาเกษตรกร ไม่ให้ผู้บริโภคเดือดร้อน ส่วนสินค้าที่ลดลง เช่น ATK ลดลง 30% ข้าวสารถุง ลดลง 7% เครื่องใช้ไฟฟ้าลดราคา 10-70% ชุดนักเรียน รองเท้า ลดราคาลงในโครงการพาณิชย์ลดราคา! ช่วยประชาชน เป็นต้น
เรื่องปุ๋ย ได้เข้าไปกำกับดูแลราคาไม่ให้ค้ากำไรเกินควร และปริมาณไม่ขาดแคลน เพราะปุ๋ยต้องนำเข้า 100% ราคาขึ้นกับตลาดโลก เมื่อเปรียบเทียบราคาวันที่ 11 พ.ค.2565 ธนาคารโลกทำตารางไว้ พบว่า ปุ๋ยเฉลี่ยทั่วโลกเพิ่ม 30% ไทยเพิ่ม 5.9% และเดือนเม.ย.2565 เทียบกับปี 2564 ราคาปุ๋ยโลก เพิ่ม 80% ไทยเพิ่ม 25.7% ซึ่งที่ผ่านมา ได้แก้ไขปัญหาปุ๋ยแพง จัดปุ๋ยราคาถูก 4.5 ล้านกระสอบ ถูกกว่าตลาด 20-50 บาทต่อกระสอบ
โดยจบโครงการแล้ว และได้ติดตามสถานการณ์การนำเข้า และสถานการณ์ราคา ไม่ให้ค้ากำไรเกินควร รวมทั้งได้เร่งหาแหล่งนำเข้าปุ๋ยเพิ่มเติม ล่าสุดกำลังเจรจากับซาอุดิอาระเบียซื้อปุ๋ย 3 ประเภท คือ 1.ยูเรีย 2.แอมโมเนียมฟอสเฟต 3.ฟอสเฟต รวม 8 แสนตัน จะพบปะกันในสัปดาห์หน้า และมีแผนเจรจาซื้อปุ๋ยราคาพิเศษกับประเทศอื่น ๆ ไม่เว้นแม้แต่กับรัสเซีย ถ้าได้ราคาดีที่สุด
เรื่องเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการส่งออก ถูกอภิปรายว่าเครื่องยนต์ดับ ซึ่งเรื่องการท่องเที่ยวอาจจะจริง เพราะการปิดประเทศทั่วโลก เมื่อเปิดประเทศเมื่อไร การท่องเที่ยวไทยเดินได้ทันที แต่การส่งออก ถ้าบอกว่าเครื่องยนต์ดับสนิท ผิดสิ้นเชิง เพราะช่วงโควิด-19 วิกฤตเศรษฐกิจโลก สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน และสงครามรัสเซีย-ยูเครน ไทยยังส่งออกได้ เป็นเครื่องยนต์สำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและจีดีพีในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ปี 2564 ส่งออก เพิ่ม 17.1% นำเงินเข้าประเทศ 8.5 ล้านล้านบาท และปีนี้ 4 เดือนปี 2565 (ม.ค.-เม.ย.) ส่งออก เพิ่ม 13.7% นำเงินเข้าประเทศ 3.2 ล้านล้านบาท และตั้งเป้าปีนี้จะทำให้ได้มากกว่าปีที่แล้วอย่างน้อย 5 แสนล้านบาท รวมเป็น 9 ล้านล้านบาท
เรื่องโลกกำลังเผชิญวิกฤติอาหารขาดแคลน ยืนยันว่า กระทรวงพาณิชย์เป็นกระทรวงหนึ่งที่ติดตามเรื่องนี้โดยตลอด แต่จะคิดเพียงจัดส่งสินค้าไปขายอย่างเดียวไม่พอ คิดกว้างกว่านั้น คิดไกลกว่านั้น มองทั้ง 2 ด้าน สต๊อกอาหารในประเทศต้องเพียงพอ ถ้าเหลือถึงจะส่งออก มีการกำหนดสินค้าอาหารเป้าหมาย เช่น กลุ่มข้าว แป้งข้าวเจ้า แป้งมันสำปะหลัง น้ำมันปาล์ม น้ำตาลทราย ไก่แปรรูป ซึ่งชัดเจน 4 เดือนปี 2565 ทำเงินเข้าประเทศแล้ว 2.3 แสนล้านบาท
โดยข้าวส่งออก เพิ่ม 36% แป้งข้าวเจ้า เพิ่ม 6.1% น้ำมันปาล์ม เพิ่ม 296% น้ำตาล เพิ่ม 170% ไก่แปรรูป เพิ่ม 23% เป็นต้น และยังได้สั่งการให้วิเคราะห์ประเทศที่ห้ามส่งออกอาหารและวัตถุดิบ จะกระทบไทยตรงไหน ซึ่งพบว่า ไทยไม่ได้นำเข้าจากประเทศเหล่านี้อยู่แล้ว หรือนำเข้าน้อยมาก ยังไม่มีผลกระทบ
เรื่องข้าว มีการบริหารจัดการอยู่แล้ว มีแผนยุทธศาสตร์ข้าวเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก บังคับใช้ตั้งแต่ปี 2563-67 ผลักดันให้เพิ่มสายพันธุ์ข้าวใหม่อย่างน้อย 12 สายพันธุ์ แต่ไม่ถึง 5 ปี ได้ 6 สายพันธุ์แล้ว และปีนี้ ผู้จัดประกวดข้าวโลก นิตยสาร The Rice Trader จะมาจัดประกวดข้าว ที่ จ.ภูเก็ต วันที่ 15-17 พ.ย.2565 ซึ่งที่ผ่านมา จัดไปแล้ว 13 ครั้ง ไทยได้แชมป์โลก 7 ครั้ง และในรัฐบาลนี้ได้แชมป์ 2 ปีซ้อน ส่วนการส่งออก ปีที่แล้วทำได้ 6.1 ล้านตัน ปีนี้จะส่งออกได้มากขึ้น ตั้งเป้าเพิ่มเป็น 7-8 ล้านตัน จากความต้องการข้าวไทยเพิ่มขึ้น และมีความหลากหลายของสายพันธุ์
เรื่องสุดท้าย Soft Power ยืนยันว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับ Soft Power และกระทรวงพาณิชย์ได้ทำแผนในเรื่องนี้มาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว มีการกำหนดแผนส่งออก 4 สินค้าหลัก ได้แก่ 1.อาหารกับร้านอาหารไทยในต่างประเทศ 2.สุขภาพความงาม 3.สินค้าที่มีลักษณะสร้างสรรค์อัตลักษณ์ไทย 4.ดิจิทัลคอนเทนท์ ภาพยนตร์ ละคร เกม แอนิเมชันใส่ความเป็นไทย มี 3 กิจกรรมใหญ่ที่จะดำเนินการ คือ 1.อบรมให้ความรู้พัฒนาผู้ประกอบการทุกภาค 2.พัฒนาสินค้าให้มีเรื่องราว 3.การเปิดตลาดที่ชื่นชอบอัตลักษณ์ไทยทั้งจีน สหรัฐฯ อาเซียน และเอเชียตะวันออก