- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Friday, 27 May 2022 22:49
- Hits: 6796
ส่งออกเม.ย.65 ยังขยายตัว เพิ่ม 9.9% แต่ค้าชายแดนยอดตก เจอซีโร่โควิดฉุด
จุรินทร์ เผยส่งออกเม.ย.65 ยังขยายตัวได้ดี ทำได้มูลค่า 23,521.4 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 9.9% ยอดรวม 4 เดือน บวก 13.7% ระบุสินค้าเกษตร เกษตรแปรรูป และอุตสาหกรรม โตต่อเนื่อง ส่วนค้าชายแดน ลด เหตุส่งออกผ่านแดนไปจีน เวียดนามลด จากนโยบายซีโร่โควิด
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตัวเลขการส่งออกเดือนเม.ย.2565 แม้เจอหลายวิกฤตซ้อนกัน ทั้งโควิด-19 เศรษฐกิจ สงครามการค้า และรัสเซีย-ยูเครน แต่การส่งออกของไทยยังทำได้มูลค่า 23,521.4 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นบวก 9.9% หรือคิดเป็นเงินบาทมูลค่า 782,146 ล้านบาท ทำให้การส่งออก 4 เดือน ม.ค.-เม.ย.2565 มีมูลค่า 97,122.8 เพิ่ม 13.7% คิดเป็นเงินบาท มูลค่า 3,183,591 ล้านบาท
สำหรับ สินค้าส่งออก สินค้าเกษตร เพิ่มขึ้น 3% ขยายตัว 2 เดือนต่อเนื่อง สินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เพิ่ม 49.5% ข้าว เพิ่ม 44% โดยข้าวหอมมะลิ เพิ่มถึง 102.3% ข้าวนึ่ง เพิ่ม 45.3% ปลายข้าว เพิ่ม 27.9% ข้าวขาว เพิ่ม 14.5% ข้าวเหนียว เพิ่ม 11.9% ทำให้แนวโน้มการส่งข้าวปีนี้จะเกินเป้า 7-8 ล้านตัน จากที่ตั้งเป้า 6.1 ล้านตัน และผลไม้ที่ส่งออกเพิ่ม เช่น เงาะสด เพิ่ม 240% มังคุดสด เพิ่ม 95.8% มะม่วงสด เพิ่ม 14% เป็นต้น สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร เพิ่ม 22.8% เช่น น้ำตาลทราย เพิ่ม 87.9% อาหารสัตว์เลี้ยง เพิ่ม 24.7% อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เพิ่ม 8.9%และ สินค้าอุตสาหกรรม เพิ่ม 8.3% เช่น ผลิตภัณฑ์อะลูมิเนียม เพิ่ม 53.2% อัญมณีและเครื่องประดับ เพิ่ม 48.5% เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เพิ่ม 25.6% และแผงวงจรไฟฟ้า เพิ่ม 15.3%
โดยตลาดที่ขยายตัวสูง 10 อันดับแรก ได้แก่ 1.สวิตเซอร์แลนด์ เพิ่ม 392.2% 2.เอเชียใต้ เพิ่ม 33.9% 3.อาเซียน (5) เพิ่ม 26.9% 4.ตะวันออกกลาง เพิ่ม 25.4% 5.แคนาดา เพิ่ม 22.5% 6.ไต้หวัน เพิ่ม 19.3% 7.แอฟริกา เพิ่ม 14.9% 8.สหรัฐฯ เพิ่ม 13.6% 9.เกาหลีใต้ เพิ่ม 11.5% 10.ฮ่องกง เพิ่ม 10.6%
ปัจจัยที่เป็นบวกสำหรับการส่งออกในเดือนเม.ย.2565 และในอนาคต มีหลายปัจจัย ได้แก่ ความสำเร็จจากการเร่งรัดการส่งออกข้าว ทำให้มีความต้องการซื้อข้าวไทยเพิ่มขึ้น การขยายความร่วมมือตลาดใหม่ เช่น สมุนไพรและยาแผนโบราณไปภูฏาน การลงนาม Mini FTA กับเตลังคานา ไห่หนาน กานซู่ มีผลกระตุ้นส่งออก การแก้ปัญหาส่งออกผลไม้ผ่านแดนจากเวียดนามไปจีน การเจรจาผลักดันส่งออกไปเปรู ฮ่องกงเพิ่ม การเจรจาจับคู่ธุรกิจออนไลน์ และส่งเสริมการขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ช่วยเพิ่มยอดส่งออก ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อยังขยายตัวต่อเนื่อง ส่งผลให้มีการซื้อเพิ่มขึ้น และเงินบาทอ่อนค่า ส่งผลดีต่อการส่งออก
นายจุรินทร์ กล่าวว่า ทางด้านการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของตัวเลขส่งออก ช่วง 4 เดือนปี 2565 (ม.ค.-เม.ย.) มีมูลค่า 313,882 ล้านบาท ติดลบ 0.04% แต่เป้าของการส่งออกผ่านการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดน ตั้งเป้าเป็นบวกที่ 5% จะทำตัวเลขให้ได้ 1,082,897 ล้านบาท ซึ่ง 4 เดือนของปีนี้ทำได้แล้ว 313,882 ล้านบาท คิดเป็นประมาณ 30% ยังเหลือเวลาอีก 8 เดือน จึงมีความเป็นไปได้สูงที่จะทำได้ตามเป้า
ส่วนการค้าชายแดนและผ่านแดนเดือน เม.ย. ที่ขยายตัวลดลง มาจากการส่งออกไปจีนลบ 45% เวียดนาม ลบ 24.73% เพราะเวลาส่งสินค้าไปจีนต้องผ่านเวียดนาม โดยได้รับผลกระทบจากนโยบายซีโร่โควิด-19 ของจีน ทำให้มีการปิดด่าน แต่กระทรวงพาณิชย์ได้แก้ปัญหาหันไปส่งออกทางเรือและทางอากาศมากขึ้น สามารถแก้ปัญหาได้ และทำให้ส่งออกภาพรวมดีขึ้น
รายงานข่าวกระทรวงพาณิชย์ แจ้งว่า ตัวเลขส่งออกชายแดนและผ่านแดน เดือนเม.ย.2565 มีมูลค่า 74,243 ล้านบาท ลด 15.68% โดยส่งออกชายแดนไปมาเลเซีย ลด 10.32% กัมพูชา เพิ่ม 31.36% เมียนมา เพิ่ม 16.07% สปป.ลาว เพิ่ม 5.77% และผ่านแดนไปจีน ลด 45% เวียดนาม ลด 24.73% สิงคโปร์ เพิ่ม 5.94%
ภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทย ประจำเดือนเมษายน 2565 ?✈️??
การส่งออกของไทยในเดือนเมษายน 2565 มีมูลค่า 23,521.4 ล้านเหรียญสหรัฐ (782,146 ล้านบาท) ขยายตัวร้อยละ 9.9 หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัวร้อยละ 6.9 ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 14 ท่ามกลางปัจจัยกดดันจากการสู้รบในยูเครนและมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซียที่ส่งผลต่อการชะงักงันของห่วงโซ่อุปทานการผลิต รวมถึงผลักดันเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นในหลายประเทศ นอกจากนี้ ภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนจากมาตรการล็อกดาวน์ในหลายเมือง ส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจทั่วโลก
อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตโลก (Global Manufacturing PMI) ที่อยู่เหนือระดับ 50 โดยเฉพาะสหรัฐฯ ยุโรป อินเดีย เกาหลีใต้ และอาเซียน รวมทั้งมีความต้องการสินค้าจำเป็นต่อการดำรงชีวิตเพิ่มขึ้น จึงทำให้การส่งออกไทยยังขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร ทั้งนี้ การส่งออกไทย 4 เดือนแรกของปี 2565 ขยายตัวร้อยละ 13.7 เมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัวร้อยละ 8.2 ชี้ให้เห็นว่า การส่งออกยังเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทย
? สินค้าส่งออกที่ขยายตัวดี ได้แก่
1) สินค้าที่มีมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นตามราคาพลังงานโลก เช่น น้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก ยางยานพาหนะ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น
2) สินค้าเกษตรและอาหารที่เป็นสินค้าจำเป็นในภาวะสงคราม และตลาดต่างประเทศต้องการสต็อกสินค้าเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะข้าว ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง น้ำตาลทราย ไก่แปรรูป อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผลไม้กระป๋องและแปรรูป น้ำมันปาล์ม น้ำมันถั่วเหลือง สิ่งปรุงรสอาหาร เป็นต้น
3) สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และสินค้าคงทน ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการจ้างงาน เช่น เตาอบไมโครเวฟและเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ให้ความร้อน เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องคอมเพรสเซอร์ของเครื่องทำความเย็น เป็นต้น และ
4) สินค้าทางการแพทย์ อาทิ เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ ผลิตภัณฑ์เภสัชภัณฑ์ เป็นต้น
? มูลค่าการค้ารวม
? มูลค่าการค้าในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ
เดือนเมษายน 2565 การส่งออก มีมูลค่า 23,521.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 9.9 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 25,429.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 21.5 ดุลการค้าขาดดุล 1,908.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ภาพรวมการส่งออก 4 เดือนแรกของปี 2565 (มกราคม-เมษายน) การส่งออก มีมูลค่า 97,122.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 13.7 การนำเข้า มีมูลค่า 99,975.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 19.2 ดุลการค้า 4 เดือนแรก ขาดดุล 2,852.4 ล้านเหรียญสหรัฐ
?มูลค่าการค้าในรูปเงินบาท
เดือนเมษายน 2565 การส่งออก มีมูลค่า 782,146 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 19.3 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 856,253 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 31.7 ดุลการค้า ขาดดุล 74,107 ล้านบาท ภาพรวมการส่งออก 4 เดือนแรกของปี 2565 (มกราคม-เมษายน) การส่งออกมีมูลค่า 3,183,591 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 24.3 การนำเข้า มีมูลค่า 3,322,907 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 30.3 ดุลการค้า 4 เดือนแรก ขาดดุล 139,316 ล้านบาท
? แนวโน้มและแผนส่งเสริมการส่งออกระยะถัดไป
แนวโน้มการส่งออกไทย การส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากประเทศคู่ค้าต้องการรักษาความมั่นคงทางอาหาร สำหรับสินค้าอุตสาหกรรมมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีจากสินค้าขั้นกลาง เช่น เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ สินค้าที่เกี่ยวกับน้ำมัน (เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ น้ำมันสำเร็จรูป ก๊าซปิโตรเลียมเหลว ก๊าซธรรมชาติ) นอกจากนี้ สินค้าไลฟ์สไตล์ที่ใช้ในชีวิตประจำวันจะได้รับอานิสงส์จากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด อย่างไรก็ตาม สินค้าส่งออกไทยอาจยังได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนวัตถุดิบพื้นฐานที่ใช้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์อยู่บ้างในช่วงครึ่งแรกของปี
สำหรับ ตลาดส่งออก คาดว่าบางตลาดจะมีแนวโน้มขยายตัวได้ท่ามกลางสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน เช่น การส่งออกไปตลาดอาเซียนมีทิศทางดีขึ้น หลังเริ่มทยอยเปิดประเทศ และผ่อนคลายมาตรการควบคุมให้ดำเนินกิจกรรมเศรษฐกิจได้ปกติ นอกจากนี้ การส่งออกไปยังตลาดตะวันออกกลางมีแนวโน้มดีต่อเนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภาคพลังงาน ซึ่งส่งผลดีต่อกำลังซื้อ ขณะเดียวกันการส่งออกไทยได้รับประโยชน์จากทิศทางเงินบาทอ่อนค่าที่เอื้อต่อการส่งออก อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในประเทศคู่ค้าหลัก ซึ่งอาจเป็นปัจจัยบั่นทอนการส่งออกในระยะถัดไป
แผนส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการเชิงรุก เพื่อผลักดันและอำนวยความสะดวกด้านการส่งออกของผู้ประกอบการไทย ได้แก่ 1) ปลดล็อกอุปสรรคการส่งออกสินค้าผลไม้ไปจีน ส่งเสริมให้เปลี่ยนไปขนส่งสินค้าทางเรือมากขึ้น เพื่อลดความแออัดของด่านพรมแดนทางบก ขณะเดียวกันกระทรวงฯ มอบหมายให้ทูตพาณิชย์เร่งเจรจากับทางการจีนให้อำนวยความสะดวกการขนส่งทางบกให้เป็นไปอย่างคล่องตัว 2) ฟื้นฟูตลาดซาอุดีอาระเบีย นำผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมงาน SAUDI FOOD EXPO พร้อมสร้างการเจรจาจับคู่ธุรกิจ
อีกทั้ง จัดกิจกรรมส่งเสริมการขายสินค้าไทยร่วมกับซุปเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำในซาอุดีอาระเบีย เช่น ข้าว อาหารฮาลาล ผลไม้ 3) ส่งเสริมการค้าที่มีกระบวนการผลิตเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงบริบททางการค้าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า โดยเฉพาะการค้ากับสหภาพยุโรป 4) เร่งรัดการเจรจาจัดทำ FTA และ Mini-FTA เพื่อเพิ่มโอกาสและขีดความสามารถทางการแข่งขันให้แก่ผู้ประกอบการไทย และกระชับความสัมพันธ์กับคู่ค้าทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี
ท่านสามารถดาวน์โหลดเอกสารประกอบการแถลงข่าวเพิ่มเติมได้ที่
?? http://www.tpso.moc.go.th/th/node/11705