- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Thursday, 27 November 2014 23:42
- Hits: 2217
ต.ค.ส่งออกบวก 3% พณ.ลุ้น 2 เดือนสุดท้าย ดันยอดทั้งปีไม่ติดลบ
แนวหน้า : พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกในเดือนตุลาคม 2557 มีมูลค่าสูงถึง 20,164 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวเป็นเดือนที่ 2 โดยเพิ่มขึ้น 3.97 % สูงสุดในรอบ 21 เดือน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้การส่งออกในกลุ่มสินแร่เชื้อเพลิงและทองคำยังหดตัวลง แต่สินค้าส่งออกหลัก อย่างกลุ่มอุตสาหกรรม ยังขยายตัว 5.4% และสินค้าเกษตร/อุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัว 1.4%รวมทั้งตลาดส่งออกหลัก ที่ฟื้นตัวตามเศรษฐกิจโลก แต่ภาพรวมการส่งออกในระยะ 10 เดือนแรกของปีนี้ มีมูลค่า 190,620 ล้านเหรียญสหรัฐ ยังติดลบ 0.36 %
อย่างไรก็ตาม ในช่วง 2 เดือนที่เหลือของปีนี้ หากสามารถผลักดันยอดส่งออกได้เฉลี่ยถึงเดือนละ 19,000-19,500 ล้านเหรียญสหรัฐ ภาพรวมการส่งออกในปีนี้ก็จะไม่ติดลบ หรือจะขยายตัวในกรอบ 0.05 -0.5% ซึ่งเชื่อว่าจะทำได้ไม่ยาก เนื่องจากช่วงปลายปีที่จะมียอดคำสั่งซื้อสูง
ทั้งนี้ ภาพรวมการส่งออกของไทยมีสัญญาณการฟื้นตัวต่อเนื่อง ขณะที่การส่งออกสินค้าสินแร่เชื้อเพลิงและทองคำยังคงชะลอตัว โดยในเดือนตุลาคมภาพรวมการส่งออกมีอัตราขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 แม้ว่าการส่งออกสินค้ากลุ่มสินแร่เชื้อเพลิงและทองคำยังคงหดตัว โดยเฉพาะทองคำซึ่งหดตัวถึง -79.8% เนื่องจากความต้องการลงทุนทองคำในตลาดโลกอยู่ในภาวะชะลอตัว หลังสหรัฐอเมริกายกเลิกมาตรการ QE ส่งผลให้ราคาทองคำในตลาดโลกลดลงต่ำสุดในรอบ 4 ปี แต่ในภาพรวม การส่งออกสินค้าหลัก ขยายตัวสูงถึง 7.0% โดยมีกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมกลับมาเป็นตัวขับเคลื่อนการส่งออกที่สำคัญอีกครั้ง ขณะเดียวกันภาพรวมของการส่งออกรายกลุ่มตลาดยังมีทิศทางที่สดใส โดยเฉพาะกลุ่มตลาดหลักอย่างสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และอาเซียน
ส่วนการนำเข้าในเดือนตุลาคม มีมูลค่า 20,132.2 ล้านเหรียญสหรัฐ กลับมาหดตัว 4.88% โดยเฉพาะการนำเข้าสินค้าน้ำมันดิบ ทองคำ กลุ่มสินค้าทุนและวัตถุดิบ สินค้ายานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง มีการนำเข้าลดลง ส่งผลให้ในเดือนตุลาคม ดุลการค้าของไทยกลับมาเกินดุลอีกครั้ง 31.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ช่วง 10 เดือนการนำเข้ามีมูลค่า 192,106.4 ล้านเหรียญสหรัฐ จึงยังส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้าอยู่ 1,485.9 ล้านเหรียญสหรัฐ
สำหรับ ปี 2558 ยังเชื่อว่าส่งออกจะขยายตัวได้ 4% โดยยอดเฉลี่ยการส่งออกต้องได้มูลค่าประมาณ 19,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งในปีหน้าก็ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตามอง ทั้งสถานการณ์เศรษฐกิจโลกของแต่ละประเทศ อาทิ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น จีน และอาเซียน, อัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวน, ราคาทองคำ และราคาสินค้าเกษตร
การส่งออกมีสัญญาณฟื้นตัวต่อเนื่องในเดือนต.ค. 57...หนุนโอกาสการฟื้นกลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 3.5 ในปี 2558 (ศูนย์วิจัยกสิกรไทย)
ข้อมูลการส่งออกล่าสุดในเดือนต.ค. 2557 ขยายตัวดีกว่าที่คาด ต่อเนื่องเป็นเดือนที่สอง ที่ร้อยละ 3.97 (YoY) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เทียบกับที่ขยายตัวร้อยละ 3.19 (YoY) ในเดือนก.ย. 2557 (ผลสำรวจนักวิเคราะห์ของรอยเตอร์คาดว่า การส่งออกจะขยายตัวร้อยละ 0.8 ขณะที่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ตัวเลขการส่งออกในเดือนต.ค. นี้ ที่ร้อยละ 2.3) ทั้งนี้ สถานการณ์การส่งออกที่เริ่มดีขึ้นในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ได้ช่วย ทำให้ภาพรวมการส่งออกในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2557 หดตัวน้อยลงมาอยู่ที่ร้อยละ 0.36 (YoY) แต่กระนั้น โจทย์สำหรับภาคการส่งออกไทยในช่วงปีข้างหน้า ยังคงเป็นประเด็นเดิม ซึ่งก็คือ การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญที่ยังคงมีระดับที่แตกต่างกัน การสิ้นสุดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ของตลาดสหภาพยุโรป ข้อจำกัดของเทคโนโลยีในภาคการผลิต การแข่งขันที่เข้มข้นจากคู่แข่ง และราคาสินค้าเกษตรสำคัญที่อาจจะฟื้นตัวไม่มากนักจากระดับในปีนี้
แนวโน้มการส่งออกไทยในช่วงที่เหลือของปี 2557 และในปี 2558...คาดหวังจังหวะการฟื้นตัวที่ต่อเนื่องมากขึ้น
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ประเด็นแวดล้อมของเศรษฐกิจต่างประเทศในช่วงปีข้างหน้า อาจไม่ได้มีความแตกต่างไปจากช่วงปลายปี 2557 นี้มากนัก โดยน่าจะยังคงเห็น แนวโน้มการฟื้นตัวที่มีความเปราะบางของเศรษฐกิจโลกท่ามกลางความเสี่ยงต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจยูโรโซน ญี่ปุ่น และจีน (ที่ยังคงอยู่ในช่วงการเยียวยาปัญหาเชิงโครงสร้าง และการเดินหน้าปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อเสถียรภาพระยะยาว) ซึ่งจะเป็นภาพที่ฉีกออกจากสหรัฐฯ ที่น่าจะสามารถประคองโมเมนตัมการขยายตัวทางเศรษฐกิจไว้ได้ในปี 2558 แม้จังหวะการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) อาจเริ่มต้นขึ้นในระหว่างปีก็ตาม
ทิศทางการฟื้นตัวในกรอบที่จำกัดของเศรษฐกิจโลกดังกล่าวข้างต้น นอกจากจะบ่งชี้ว่า กำลังซื้อของประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย ยังคงไม่สามารถฟื้นตัวกลับมาได้พร้อมกันแล้ว ยังอาจสะท้อนถึงความผันผวนของค่าเงินบาทเมื่อเปรียบเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ ซึ่งอาจจะเคลื่อนไหวในจังหวะที่ไม่สอดคล้องกับทิศทางการอ่อนค่าของเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ฯ ด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ สถานการณ์การส่งออกของไทยในปี 2558 ก็ยังคงต้องรับมือกับโจทย์ที่อาจจะลากยาวต่อเนื่องจากปีนี้ อาทิ ราคาสินค้าส่งออกที่มีกรอบการฟื้นตัวไม่มาก โดยเฉพาะสินค้าเกษตรรายการสำคัญ และการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับสินค้าส่งออก เพื่อตอบโจทย์พฤติกรรมของผู้บริโภค และช่วงชิงส่วนแบ่งในตลาดโลกกลับมาจากคู่แข่ง
อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ภาคการส่งออกไทยน่าจะผ่านพ้นช่วงเวลาที่เลวร้ายที่สุดมาแล้ว ขณะที่ ฐานเปรียบเทียบที่ต่ำจากการฟื้นตัวที่ล่าช้าในปีนี้ น่าจะช่วยเพิ่มโอกาสให้การส่งออกในปี 2558 สามารถพลิกกลับมาขยายตัวได้ในกรอบร้อยละ 2.0-4.5 (ค่ากลางกรณีพื้นฐานที่ร้อยละ 3.5) เทียบกับที่อาจจะไม่ขยายตัวในปีนี้
ทั้งนี้ ตลาดส่งออกที่จะนำการฟื้นตัว ประกอบด้วย การส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ (ซึ่งคาดว่าจะขยายตัวดีขึ้นมาที่ร้อยละ 4.2 ในปี 2558 จากร้อยละ 2.8 ในปี 2557) ที่สัญญาณเศรษฐกิจมีการฟื้นตัว และการส่งออกไปยังตลาดอาเซียน (9) (ซึ่งคาดว่า จะขยายตัวร้อยละ 4.9 ในปี 2558 จากร้อยละ 0.6 ในปี 2557) โดยเฉพาะกลุ่ม CLMV (ที่อาจขยายตัวสูงต่อเนื่องที่ประมาณร้อยละ 12.0 ในปี 2558) ที่ได้รับอานิสงส์จากการเปิดเสรีการค้า และการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ขณะที่ การส่งออกไปตลาดจีน ก็อาจพลิกจากภาพที่หดตัวรุนแรงในปีนี้ มาขยายตัวที่ประมาณร้อยละ 2.0 ในปี 2558 โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากทางการจีนสามารถประคองการเปลี่ยนผ่านกระบวนการปฎิรูปเศรษฐกิจให้ดำเนินไปอย่างราบรื่น อย่างไรก็ดี การส่งออกไปยังตลาดสหภาพยุโรป อาจขยายตัวในกรอบที่ชะลอลง ตามการฟื้นตัวที่เปราะบางของเศรษฐกิจ และการยกเลิกสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP)