- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Thursday, 12 May 2022 22:13
- Hits: 5028
จุรินทร์ ดันไทยรับมือ Zero Carbon มุ่ง BCG ใช้ Soft Power เพิ่มโอกาสค้าขายในเวทีโลก
จุรินทร์ หนุนไทยปรับตัว เพิ่มโอกาสในเวทีโลก แนะเตรียมรับมือการแบ่งขั้วทางการเมืองและการค้า และการใช้มาตรการกีดกันทางการค้ารูปแบบใหม่ อย่างมาตรการ Zero Carbon ที่จะเข้มข้นขึ้น ทั้งอียูและสหรัฐฯ ระบุ ‘พาณิชย์’ ได้ส่งสัญญาณเตือนภัย และทำแผนรับมือแล้ว มุ่งผลิตสินค้า BCG พัฒนา Green Economy และใช้ Soft Power ขับเคลื่อน พร้อมให้เอกชนนำ รัฐหนุน และเน้นทำมาตรการเชิงรุกและเชิงลึกมากขึ้น
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยในการปาฐกถาพิเศษเรื่อง’ยุทธศาสตร์การค้าไทยยุคใหม่ สู่ความยั่งยืนในเวทีโลก’ งานสัมมนาฐานเศรษฐกิจ zero carbon วิกฤติ-โอกาส ไทยในเวทีโลก ที่โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพฯ ว่า ขณะนี้มีความท้าทายใหม่เกิดขึ้น ที่มีวิกฤติที่ต้องพลิกเป็นโอกาสในอนาคตอย่างน้อย 2 เรื่อง คือ 1.การแบ่งขั้วทางการเมืองและการค้าที่แยกจากกัน จากนี้จะถูกมัดรวมกัน โลกจะถูกบังคับแบ่งขั้วเลือกข้างมากขึ้น ทั้งการเมืองและเศรษฐกิจ เป็นความยากในการทำการค้า ซึ่งจะมีหลายประเทศมีบทบาทมากขึ้น และ 2.เงื่อนไขกีดกันทางการค้ารูปแบบใหม่ที่ไม่ใช่ภาษีจะเกิดมากขึ้น
“ชินเดีย ไม่ใช่อินเดีย คือ จีนและอินเดีย ที่มีประชากรและจีดีพีรวมกัน 1 ใน 3 ของโลก จะเป็นประเด็นใหม่ทางภูมิรัฐศาสตร์ ที่นักธุรกิจและภาครัฐจะมองข้ามไม่ได้ ประเทศไทยต้องฝ่าวิกฤติการแบ่งขั้วแบ่งค่ายทางการเมืองให้ได้ อย่างน้อยไทยต้องจับมือกับอาเซียนผนึกกำลังกันให้ชัด ให้มีอำนาจต่อรองเข้มแข็งขึ้นในเวทีการค้าโลก และในเรื่องการกีดกันการค้า มีสัญญาณเตือน คือ คำประกาศของสหภาพยุโรปที่เรียก European Green DEAL ประกาศในปี 2020 ทำเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปให้มีความยั่งยืนด้วย green economy ซึ่งมีมาตรการ CBAM หรือ Carbon Border Adjustment Mechanism มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นความท้าทายใหม่สำหรับโลกและประเทศที่อาศัยตลาดสหภาพยุโรปต้องตระหนักและเร่งปรับตัวให้ไปขายในสหภาพยุโรปให้ได้”นายจุรินทร์กล่าว
ทั้งนี้ ตามแผนในปี 2026 สหภาพยุโรปจะเก็บภาษีคาร์บอนที่ข้ามพรมแดน เบื้องต้น 5 รายการ ได้แก่ 1.เหล็ก 2.อะลูมิเนียม 3.ปุ๋ย 4.ซีเมนต์ 5.บริการด้านไฟฟ้าพลังงาน และอนาคตจะเพิ่มอีก คือ 1.พลาสติกและผลิตภัณฑ์จากพลาสติก 2.ไฮโดรเจนซึ่งใช้กับรถยนต์ไฟฟ้า 3.ออร์แกนิค เคมีคอล ที่ผสมอยู่ในปุ๋ย และสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ของเกือบทุกประเทศในโลก อาจเก็บ Carbon TAX สำหรับสินค้าที่เข้าประเทศในอนาคต ประเมินว่าอาจมีเหล็กกล้า อะลูมิเนียม ซีเมนต์ ก๊าซธรรมชาติและปิโตรเลียม เป็นต้น
นายจุรินทร์ กล่าวว่า มาตรการเหล่านี้ จะกระทบทั้งการผลิตและการตลาด โดยเฉพาะภาคการผลิตที่ต้องปลอดคาร์บอนให้มากที่สุด ทั้งภาคการเกษตร อุตสาหกรรมการเกษตร อุตสาหกรรม รวมถึงภาคบริการด้วย ทางออก คือ ต้องเตรียมพร้อมสำหรับการรับมือ ต้องเดินสู่การเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งต้องทำและปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว และประเทศไทยมีการสนองตอบต่อการพลิกวิกฤตินี้เป็นโอกาส เช่น ประกาศเป้าหมายสู่การเป็นซีโร่คาร์บอนในปี 2065 และได้มีการจัดตั้งองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกแล้ว
โดยในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ ได้ส่งสัญญาณเตือนว่า อียูจะเก็บภาษีคาร์บอน และเรามีวิสัยทัศน์ 'เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด' ยุทธศาสตร์ 'ตลาดนำการผลิต' จับมือร่วมกันระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์ เอาภาคการผลิตกับภาคการตลาดอยู่ด้วยกัน สนองความต้องการทางการตลาดและเงื่อนไขทางการตลาดของโลก เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และมีการแยกหมวดเฉพาะ คือ สินค้า BCG ซึ่งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเดือนต.ค.2564 ถึงไตรมาสแรก ปี 2565 ทำตัวเลขส่งเสริมสินค้า BCG ได้ถึง 3,800 ล้านบาท เกินเป้า 7 เท่า ส่งเสริมผู้ประกอบการ 1,351 ราย โดยเฉพาะอาหารแห่งอนาคต อาหารของคนรุ่นใหม่ อาหารฟังก์ชัน อาหารออร์แกนิก อาหารโปรตีนจากพืช อาหารทางการแพทย์ เป็นต้น
นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์จะจับมือกับภาคเอกชน ใช้นโยบายรัฐหนุน เอกชนนำ ทูตพาณิชย์เป็นเซลส์แมนประเทศช่วยเอกชนขายของ และที่สำคัญ จะใช้มาตรการเชิงรุกและเชิงลึก FTA ไม่พอ ต้องลึกทำ Mini FTA ลงลึกถึงเมือง รัฐ กรอ.พาณิชย์ จะไม่มีแค่ส่วนกลาง จะขยายลงลึกถึง กรอ.พาณิชย์ภูมิภาค ไปใต้ เหนือ อีสาน ผลไม้ ต้องผลักดันให้มี Green Economy ไม่ใช่แค่ GAP การส่งออกผลไม้ก็ทำเชิงลึก มีการเตรียมส่งออกทั้งทางเรือ อากาศ และบก และมีแผนผลักดัน Soft Power ที่ไทยอยู่ลำดับ 5 ของเอเชีย รองจากญี่ปุ่น จีน เกาหลี อินเดีย ที่จะต้องทำควบคู่กับไป Green Economy และ Zero Carbon ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีรายได้เข้ามา และปรับตัวสู้กับมาตรการกีดกันทางการค้าได้