- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Friday, 06 May 2022 09:36
- Hits: 7431
DTN เปิดไฮไลต์ถกรมต.การค้าเอเปก ดัน FTAAP หนุน WTO เร่งฟื้นฟูศก.หลังโควิด-19
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศพร้อมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปกแบบพบปะกันเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี วันที่ 19-22 พ.ค.นี้ เผยไฮไลต์เริ่มต้นด้วยการจัดเวทีระดมความเห็นทำ FTA เอเชีย-แปซิฟิก ดันโมเดล BCG หนุน MSMEs จัดประกวดทำแอปพลิเคชันช่วยเกษตรกร ปิดท้ายด้วยการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปก หารือการทำ FTAAP หนุนการประชุมรัฐมนตรี WTO และทำแผนรับมือและขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลังโควิด-19
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ในปีนี้ไทยได้รับโอกาสเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปกอีกครั้งในรอบ 20 ปี กรมฯ ในฐานะหน่วยงานหลักรับผิดชอบด้านการค้าและการลงทุนภายใต้กรอบเอเปก จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปก (APEC Ministers Responsible for Trade Meeting 2022 : MRT) และกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 19–22 พ.ค.2565 ณ โรงแรม Centara Grand and Bangkok Convention Centre at Central World กรุงเทพฯ
โดยในส่วนของไทย มีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน และในครั้งนี้ รัฐมนตรีการค้าของ 21 เขตเศรษฐกิจเอเปค จะเดินทางเข้ามาร่วมประชุมเป็นครั้งแรกแบบพปะกันในรอบ 3 ปี นับจากมีการแพร่ระบาดของโควิด-19
สำหรับ รายละเอียดการจัดงาน จะเริ่มจากวันที่ 19 พ.ค.2565 มีการสัมมนาเกี่ยวกับการขับเคลื่อนการจัดทำเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (Free Trade Area of the Asia-Pacific: FTA-AP) ในช่วงโควิด-19 และอนาคต เพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้กับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคเกษตร และประชาชน ได้รับทราบแนวคิดและเป้าหมายระยะยาวของเอเปกในการจัดตั้งเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (FTA-AP) โดยได้เชิญวิทยากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญมาแลกเปลี่ยนความรู้ มุมมอง และข้อคิดเห็นเกี่ยวกับ FTA-AP ซึ่งจะเป็นเครื่องมือในการฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ยั่งยืนและครอบคลุม
วันที่ 20 พ.ค.2565 จัดงานเสวนานานาชาติ APEC BCG Symposium 2022 เพื่อแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดีระหว่างภาครัฐ-เอกชน-วิชาการ เพื่อดำเนินการตามแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green (BCG) Economy) ซึ่งเป็นแนวคิดในการพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุล โดยจะจัดทำข้อเสนอแนะเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs) กับ BCG Economy ซึ่งมุ่งหวังให้ MSMEs มีการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีนวัตกรรมสามารถต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ
นอกจากนี้ ยังมีการจัดกิจกรรมประกวดแข่งขัน APEC Mobile App Challenge โดยไทยในฐานะเจ้าภาพร่วมกับมูลนิธิ Asia Foundation บริษัท Google และสำนักงานเลขาธิการเอเปค เป็นผู้จัดกิจกรรม โดยรับสมัครผู้สนใจจากเขตเศรษฐกิจเอเปก เพื่อออกแบบ Application เพื่อนำเทคโนโลยีมาใช้ในส่งเสริมการค้าการลงทุน
โดยโจทย์ของปีนี้ คือการช่วยให้เกษตรกรและผู้ประกอบการในภาคการเกษตรในเอเปก สามารถต่อยอดด้านเกษตรและอาหาร และสร้างโอกาสเข้าถึงตลาดท้องถิ่นและตลาดส่งออก ผ่านการใช้แนวคิด BCG Economy
นางอรมน กล่าวว่า สำหรับไฮไลต์ คือ การประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปก (MRT) กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 21–22 พ.ค.2565 ซึ่งเป็นเวทีให้เขตเศรษฐกิจเอเปกร่วมกันผลักดันและกำหนดทิศทางความร่วมมือในการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจการค้าของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยเฉพาะการสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคีที่ยึดถือกฎเกณฑ์ภายใต้ WTO
โดยผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลกจะเข้าร่วมประชุมผ่านระบบออนไลน์ด้วย และจะหารือเรื่องการรับมือและอยู่ร่วมกับโควิด-19 และการมองไปข้างหน้า โดยใช้นโยบายการค้าเป็นเครื่องมือสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างครอบคลุมและยั่งยืน พร้อมหารือแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นร่วมกับผู้แทนสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปก (APEC Business Advisory Council: ABAC) เรื่องการขับเคลื่อนแผนงาน FTA-AP ในช่วงโควิด-19 และอนาคต
“เอเปกเป็นเวทีที่เน้นการเปิดเสรีทางการค้าและการลดอุปสรรคทางการค้า ซึ่งการเป็นเจ้าภาพเอเปกของไทย ถือว่าเป็นงานสำคัญที่ไทยจะแสดงบทบาทนำในเวทีโลก โดยเฉพาะในยุคที่ภูมิภาคเอเปกกำลังจะฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งผลลัพธ์ของการประชุมเอเปกจะช่วยวางแนวทางฟื้นฟูและกระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยภายหลังยุคโควิด-19 อย่างยั่งยืน
และตอบสนองกับการเปลี่ยนแปลงทางการค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันจะเป็นโอกาสในการแสดงความพร้อมของไทยในการเปิดประเทศ เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจจากทั่วโลกหลังสถานการณ์โควิด-19”นางอรมนกล่าว
เอเปก หรือความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก ประกอบด้วย สมาชิก 21 เขตเศรษฐกิจ ได้แก่ ออสเตรเลีย บรูไนดารุสซาลาม แคนาดา ชิลี จีน จีนฮ่องกง อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ ปาปัวนิวกินี เปรู ฟิลิปปินส์ รัสเซีย สิงคโปร์ จีนไทเป ไทย สหรัฐฯ และเวียดนาม โดยในช่วง 3 เดือน ของปี 2565 (ม.ค.-มี.ค.) การค้ารวมระหว่างไทยกับเอเปก มีมูลค่า 3.35 ล้านล้านบาท (102,000 ล้านเหรียญสหรัฐ) เพิ่มขึ้น 23.91% โดยไทยส่งออกไปเอเปก มูลค่า 1.65 ล้านล้านบาท (50,820 ล้านเหรียญสหรัฐ) เพิ่มขึ้น 22.95% และไทยนำเข้าจากเอเปกมูลค่า 1.69 ล้านล้านบาท (51,100 ล้านเหรียญสหรัฐ) เพิ่มขึ้น 24.87%