- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Thursday, 05 May 2022 16:42
- Hits: 4497
น้ำมัน ค่าไฟ ก๊าซหุงต้ม อาหารสดขยับ ดันเงินเฟ้อเม.ย.65 เพิ่มขึ้น 4.65%
พาณิชย์ เผยเงินเฟ้อเม.ย.65 เพิ่มขึ้น 4.65% เหตุได้รับผลกระทบจากการสูงขึ้นของราคาน้ำมัน ค่าไฟ ก๊าซหุงต้ม อาหารสด สินค้าทำความสะอาด และของใช้ส่วนบุคคล คาดแนวโน้มพ.ค.ยังสูงต่อ หลังรัฐลอยตัวดีเซลและก๊าซหุงต้มยังขยับขึ้น กระทบต้นทุนการขนส่งและการผลิตสินค้า
นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนเม.ย.2565 เท่ากับ 105.15 เทียบกับมี.ค.2565 เพิ่มขึ้น 0.34% เทียบกับเดือนเม.ย.2564 เพิ่มขึ้น 4.65% ถือเป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลง จากที่เคยสูงขึ้นในเดือนก.พ.และมี.ค.ที่ทำสถิติสูงสุดในรอบ 13 ปี เนื่องจากฐานปีก่อนสูง ส่วนเงินเฟ้อรวม 4 เดือนปี 2565 (ม.ค.-เม.ย.) เพิ่มขึ้น 4.71% และเงินเฟ้อพื้นฐาน ที่หักอาหารสดและพลังงานที่มีความผันผวนด้านราคาออก ดัชนีอยู่ที่ 102.57 เพิ่มขึ้น 0.14% เมื่อเทียบกับเดือนมี.ค.2565 และเพิ่มขึ้น 2.0% เมื่อเทียบกับเดือนเม.ย.2564 และรวม 4 เดือนเพิ่มขึ้น 1.58%
สาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น มาจากการสูงขึ้นของสินค้าในกลุ่มพลังงาน เพิ่ม 21.07% ส่งผลให้สินค้าในหมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสาร เพิ่ม 10.73% โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิง เพิ่ม 29.74% หมวดเคหสถาน เพิ่ม 0.98% มาจากการสูงขึ้นของค่ากระแสไฟฟ้า และก๊าซหุงต้มที่สิ้นสุดมาตรการตรึงราคาและเริ่มปรับราคาแบบขั้นบันได 3 ครั้ง ตั้งแต่เม.ย.-พ.ค.2565 และยังมีการสูงขึ้นของสินค้ากลุ่มอาหาร 4.83% เช่น ไข่ไก่ เนื้อสุกร ไก่สด ผักสดบางชนิด น้ำมันพืช อาหารสำเร็จรูป และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ (กาแฟ/ชา (ร้อน/เย็น)) รวมถึงสินค้าทำความสะอาด (น้ำยาล้างจาน ผงซักฟอก น้ำยารีดผ้า) ของใช้ส่วนบุคคล (แชมพู ยาสีฟัน สบู่ถูตัว) เนื่องจากหมดโปรโมชันลดราคา แต่ราคาสินค้ายังไม่เกินช่วงแนะนำ
อย่างไรก็ตาม ยังมีสินค้าที่จำเป็นอีกหลายรายการที่ราคาปรับลดลง เช่น ข้าวแป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง ลด 3.64% ผลไม้สดบางชนิด เช่น ส้มเขียวหวาน มะม่วง กล้วยหอม ลด 1.05% เครื่องนุ่งห่ม เช่น กางเกงขายาวบุรุษ เสื้อยืดสตรีและบุรุษ ลด 0.17% และการศึกษา ลด 3.14%
ทั้งนี้ ในเดือนเม.ย.2565 มีสินค้าที่ราคาสูงขึ้น 279 รายการ เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง เนื้อสุกร อาหารกลางวัน (ข้าวราดแกง) กับข้าวสำเร็จรูป ค่ากระแสไฟฟ้า ก๋วยเตี๋ยว อาหารเช้า มะนาว ไก่สด เป็นต้น สินค้าไม่เปลี่ยนแปลง 59 รายการ เช่น ค่าโดยสารรถไฟ เครื่องแบบอุดมศึกษา ค่าตรวจโรคคลินิกเอกชน ค่าเบี้ยประกันภัยรถ ค่าเบี้ยประกันคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ (พรบ.) ค่าภาษีรถยนต์ประจำปี และราคาลดลง 92 รายการ เช่น ข้าวสารเหนียว ข้าวสารเจ้า ต้นหอม ขิง ถั่วฝักยาว ค่าธรรมเนียมการศึกษา ผักชี มะม่วง ค่าเช้าบ้าน
นายรณรงค์ กล่าวว่า แนวโน้มเงินเฟ้อเดือนพ.ค.2565 มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง จากราคาน้ำมันที่ยังคงอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน และการเลิกตรึงราคาดีเซล ที่ปล่อยให้ขึ้นแบบขั้นบันได จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการขนส่งและการผลิตสินค้า และยังมีการสูงขึ้นของก๊าซหุงต้ม รวมถึงสินค้าอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะอาหารสดและอาหารสำเร็จรูป ที่ยังมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นตามต้นทุนการผลิตและวัตถุดิบ และยังมีผลกระทบจากราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์โลก มาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ และพันธมิตร และการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมถึงความไม่แน่นอนของสภาพอากาศ ยังคงเป็นปัจจัยที่จะส่งผลให้เงินเฟ้อของประเทศสูงขึ้นได้ในระยะต่อไป ซึ่งจะต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด
“กระทรวงพาณิชย์ คาดการณ์ว่าเงินเฟ้อทั่วไปของไทย ปี 2565 จะเคลื่อนไหวในกรอบ 4.0-5.0% ค่ากลางอยู่ที่ 4.5% ซึ่งเป็นระดับที่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน และหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญจะมีการทบทวนอีกครั้ง”นายรณรงค์กล่าว
ดัชนี เศรษฐกิจการค้า เดือนเมษายน 2565 ??️??
นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทย เดือนเมษายน 2565 เท่ากับ 105.15 (ปี 2562 = 100) สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไป อยู่ที่ร้อยละ 4.65 (YoY) เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ปัจจัยหลักยังคงเป็นราคาพลังงาน อาหารสด และต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ส่งผลให้ราคาอาหารสำเร็จรูปสูงขึ้น และส่วนหนึ่งมาจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน และมาตรการคว่ำบาตร ส่งผลต่อห่วงโซ่อุปทานการผลิต การค้า และการขนส่ง ราคาสินค้าและบริการในประเทศจึงปรับสูงขึ้น และส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นในที่สุด ซึ่งเป็นทิศทางเดียวกับหลายประเทศที่ประสบอยู่ในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม ราคาต้นทุนหรือราคาหน้าโรงงานของไทยที่สูงขึ้นค่อนข้างมาก สะท้อนได้จากดัชนีราคาผู้ผลิต ที่สูงขึ้นถึงร้อยละ 12.8 (YoY) ยังไม่ส่งผ่านไปยังราคาขายปลีกมากนัก เนื่องจากมาตรการของภาครัฐ และความต้องการที่ยังไม่ฟื้นตัวจากวิกฤติโควิด-19 โดยมีรายละเอียด สรุปดังนี้
.
? สินค้าสำคัญที่ทำให้เงินเฟ้ออยู่ที่ระดับ 4.65 (YoY) อาทิ
? สินค้าในกลุ่มพลังงาน สูงขึ้นร้อยละ 21.07
? สินค้าในกลุ่มอาหาร สูงขึ้นร้อยละ 4.83
? สินค้าอื่นๆ ที่ปรับสูงขึ้น
.
? สินค้าจำเป็นอีกหลายรายการราคายังคงลดลง อาทิ
? กลุ่มข้าวแป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้ง ลดลงร้อยละ 3.64
? กลุ่มผลไม้สด ลดลงร้อยละ 1.05
? เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ลดลงร้อยละ 0.17
? การศึกษา ลดลงร้อยละ 3.14
ดัชนี ราคาผู้บริโภคในเดือนนี้ เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม 2565 อยู่ที่ร้อยละ 0.34 (MoM) ซึ่งต่ำกว่าเดือนมีนาคม 2565 ที่อยู่ร้อยละ 0.66 จากราคาของผักสด ผลไม้สด เนื้อสุกร และไข่ไก่ ที่สูงขึ้นเล็กน้อย ขณะที่น้ำมันเชื้อเพลิงราคาปรับลดลง ส่วนอาหารสำเร็จรูปบางรายการราคาสูงขึ้นในอัตราที่น้อยลง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการตรึงราคาน้ำมัน และมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของกระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการกำกับดูแลราคา และการขอความร่วมมือภาคเอกชนตรึงราคาสินค้าที่จำเป็น และเฉลี่ย 4 เดือน (ม.ค.-เม.ย.) ปี 2565 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อยู่ที่ร้อยละ 4.71 (AoA)
สำหรับ ดัชนีราคาผู้ผลิต เดือนเมษายน 2565 สูงขึ้นร้อยละ 12.8 (YoY) ตามต้นทุนการผลิต วัตถุดิบ ค่าขนส่ง และเงินบาทที่อ่อนค่าลง โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มปิโตรเลียม และก๊าซธรรมชาติและสินค้าที่เกี่ยวเนื่อง รวมถึงผลิตภัณฑ์อาหารและสินค้าเกษตรสำคัญ จากอุปทานที่มีความตึงตัว ขณะที่ความต้องการมีอย่างต่อเนื่อง ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง สูงขึ้นร้อยละ 8.8 (YoY) สูงขึ้นในทุกหมวดสินค้าตามต้นทุนการผลิตและวัตถุดิบ ทั้งราคาน้ำมัน เหล็ก ถ่านหิน และอลูมิเนียม ที่ปรับสูงขึ้นตามราคาตลาดโลก ประกอบกับการลดกำลังการผลิตของกลุ่มประเทศผู้ผลิต ส่งผลให้สินค้าขาดแคลน
ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 45.7 เทียบกับระดับ 43.8 ในเดือนก่อนหน้า เป็นผลจากเศรษฐกิจภายในประเทศได้รับแรงสนับสนุนจากการส่งออกที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น
.
? แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อ เดือนพฤษภาคม 2565
มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง จากราคาน้ำมันที่ยังคงอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ประกอบกับมาตรการตรึงราคาและการปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล ได้สิ้นสุดลงในเดือนเมษายนและปลายเดือนพฤษภาคมนี้ และการปรับราคาสูงขึ้นแบบขั้นบันไดของก๊าซหุงต้ม หรือ LPG ในเดือนเมษายน - พฤษภาคม 2565 รวมทั้งสินค้าอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะอาหารสดและอาหารสำเร็จรูปยังมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นตามต้นทุนการผลิตและวัตถุดิบ นอกจากนี้ ราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์โลก มาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ และพันธมิตร และการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมถึงความไม่แน่นอนของสภาพอากาศ ยังคงเป็นปัจจัยที่จะส่งผลให้เงินเฟ้อของประเทศสูงขึ้นได้ในระยะต่อไป ซึ่งจะต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด
.
?
แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อ ปี 2565 กระทรวงพาณิชย์ คาดการณ์ว่าเงินเฟ้อทั่วไปของไทย ปี 2565 จะเคลื่อนไหวในกรอบร้อยละ 4.0 - 5.0 (ค่ากลางอยู่ที่ 4.5) ซึ่งเป็นระดับที่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน และหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญจะมีการทบทวนอีกครั้ง
. ท่านสามารถดาวน์โหลดเอกสารประกอยการแถลงข่าว ได้ที่ ▶️ http://www.tpso.moc.go.th/th/node/8939