- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Monday, 02 May 2022 22:03
- Hits: 7673
ชงแก้วัตถุดิบอาหารสัตว์ขาด เว้นมาตรการ 3 ต่อ 1 เพิ่มโควตานำเข้า 6 แสนตัน ภาษี 0%
จุรินทร์ เป็นประธานการประชุม นบขพ. และคณะกรรมการนโยบายอาหาร มีมติผ่อนปรนมาตรการ 3 ต่อ 1 เพิ่มโควตานำเข้าข้าวโพดเป็น 6 แสนตัน ลดภาษีเหลือ 0% ชั่วคราว 3 เดือน เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบผลิตอาหารสัตว์ พร้อมทำเรื่องเสนอ ครม. อนุมัติทันที
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (นบขพ.) และคณะกรรมการนโยบายอาหาร ครั้งที่ 1/2565 ว่า ที่ประชุมได้มีมติในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบอาหารสัตว์ โดยยกเว้นเงื่อนไขที่กำหนดไว้เดิม ในการนำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วน ต้องซื้อข้าวโพดในประเทศ 3 ส่วน (มาตรการ 3 ต่อ 1) เป็นการชั่วคราวก่อน คือ ระหว่างเดือนพ.ค.-31 ก.ค.2565 ซึ่งเป็นการผ่อนปรนมาตรการที่กำหนดไว้เดิมในการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ เพื่อชดเชยส่วนที่ขาดในประเทศ
ทั้งนี้ ยังได้อนุมัติเพิ่มโควตานำเข้าข้าวโพดภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) จากเดิมให้องค์การคลังสินค้า (อคส.) นำเข้าไม่เกิน 54,700 ตัน เป็นให้ อคส. และผู้นำเข้าทั่วไปนำเข้าได้ ปริมาณ 600,000 ตัน ภายในเดือนพ.ค.-31 ก.ค.2565 โดยลดภาษีนำเข้าข้าวโพดจากอัตรา 20% เป็น 0% เป็นการชั่วคราว ในช่วง 3 เดือนนี้ และกระทรวงพาณิชย์จะช่วยจัดการเจรจาจับคู่ธุรกิจออนไลน์ เพื่อส่งเสริมการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์จากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เมียนมา ให้เพียงพอในประเทศในช่วง 3 เดือนนี้ด้วย
สำหรับ การนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ ทั้ง 3 ช่องทาง ทั้งจากการผ่อนปรนมาตรการ 3 ต่อ 1 การนำเข้าภายใต้ WTO และการนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน กำหนดปริมาณไว้รวมกันจะต้องไม่เกิน 1,200,000 ตัน ซึ่งรวมข้าวบาร์เลย์ด้วย และให้ตั้งคณะอนุกรรมการ 5 ฝ่าย เพื่อติดตามประเมินการผลดำเนินการทั้งหมด โดยสามารถเสนอให้ทบทวนหรือปรับปรุงมาตรการต่อไปได้เพื่อความเหมาะสม
นายจุรินทร์ กล่าวว่า มติแก้ไขปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบผลิตอาหารสัตว์ดังกล่าว จะดำเนินการตามขั้นตอน เพื่อนำเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติต่อไป คาดว่า เร็วสุดน่าจะเป็นวันที่ 3 พ.ค.2565 เพราะต้องเร่งแก้ไขปัญหาการขาดแคลน เพื่อให้มีวัตถุดิบเพียงพอในการผลิตอาหารสัตว์ป้อนให้กับผู้เลี้ยงสุกร ไก่ ไข่ไก่ และไม่ให้กระทบต่อราคาเนื้อสัตว์ปลายทางถึงผู้บริโภค
อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับความจริงว่าราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ปรับสูงขึ้น บางส่วนสูงกว่าในประเทศ จึงเป็นที่มาของการปรับลดภาษีนำเข้า เพื่อให้ต้นทุนนำเข้าไม่สูงเกินไป และเมื่อผู้ผลิตนำเข้ามาแล้ว มีต้นทุนมากน้อยแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริง ซึ่งกรมการค้าภายในจะนำข้อมูลไปวิเคราะห์และพิจารณาการปรับขึ้นราคาตามจริง ซึ่งมีสัดส่วนอยู่ว่าไม่ควรเกินเท่าไร แต่อาจจะขอความร่วมมือ เช่น เดิมกำไร 10% เหลือ 5% ได้หรือไม่ เพื่อไม่ให้ผู้ใช้รับภาระต้นทุนมากเกินไป แล้วไม่ไปขึ้นราคาจนกระทบผู้บริโภค
การประชุมครั้งนี้ ประกอบด้วย 5 ฝ่าย ได้แก่ 1.ผู้แทนส่วนราชการ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงการคลัง 2.ผู้แทนสภาเกษตรกรที่เกี่ยวกับข้าวโพดและสมาคมชาวไร่มันสำปะหลัง 3.สมาคมการค้าพืชไร่ 4.สมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ หมู และไก่เนื้อ 5.สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์