- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Monday, 02 May 2022 09:41
- Hits: 6851
พาณิชย์-DITP เผย 'บรรจุภัณฑ์เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม' มีโอกาสขายจีน
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เผย 'บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม'มีโอกาสเจาะตลาดจีน หลังจีนเข้มการใช้พลาสติก และอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มเติบโต ทำให้มีความต้องการใช้เพิ่มสูงขึ้น แนะพัฒนาสินค้าจากธรรมชาติ ใช้วัสดุจากธรรมชาติ ย่อยสลายได้ง่าย และนำมารีไซเคิลได้ จะมีโอกาสสูง พร้อมชี้ช่องการทำตลาด ควรร่วมมือกับแบรนด์ที่มีชื่อเสียง
นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดเผยว่า ตามนโยบายของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ได้มอบหมายให้กรมฯ สำรวจลู่ทางและโอกาสการส่งออกสินค้าไทยในประเทศต่างๆ ล่าสุดได้รับรายงานจากน.ส.ชนิดา อินปา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองชิงต่าว สาธารณรัฐประชาชนจีน ถึงการขยายตลาดบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเข้าสู่ตลาดจีน หลังจากที่ทางการจีนได้ออกข้อกำหนดเกี่ยวกับการใช้พลาสติก และทำให้ผู้ประกอบการหันมาใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น
ทั้งนี้ ในปี 2008 จีนได้ออกข้อกำหนดเกี่ยวกับการจำกัดการใช้พลาสติก โดยระบุอย่างชัดเจนว่าในซุปเปอร์มาร์เก็ต และตลาดสด ไม่ควรให้ถุงพลาสติกฟรี และในปี 2021 มีคำสั่งห้ามใช้พลาสติกที่เข้มงวดที่สุด โดยมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการทั่วประเทศ คือ ซุปเปอร์มาร์เก็ต ตลาดสด รวมถึงการใช้บรรจุภัณฑ์อาหารเดลิเวอรี และกิจกรรมนิทรรศการต่างๆ ห้ามใช้หลอดพลาสติก และบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายไม่ได้ (บรรจุภัณฑ์ที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง) ซึ่งแสดงให้เห็นว่าจีนให้ความสำคัญด้านการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ประเภทบริการเดลิเวอรีที่เติบโตเป็นอย่างมากในช่วง 2–3 ปี ที่ผ่านมา และทำให้มีการใช้กล่องอาหารและหลอดพลาสติกเป็นจำนวนมาก ซึ่งก่อให้เกิดมลพิษพลาสติกไปทั่วประเทศ
“จากแรงกดดันดังกล่าว ทำให้ผู้ประกอบการอาหารและเครื่องดื่มเริ่มใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และคาดว่าในปี 2025 ความต้องการพลาสติกที่ย่อยสลายได้ของอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มจะสูงถึงเกือบ 2.10 ล้านตัน โดยพลาสติกที่ย่อยสลายได้มีราคาเฉลี่ย 25,000 หยวนต่อตัน หรือประมาณ 132,500 บาทต่อตัน (อัตราแลกเปลี่ยน 1 หยวน เท่ากับ 5.3 บาท) แสดงให้เห็นว่าความต้องการผลิตภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้ในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม จะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 52,500 ล้านหยวน หรือประมาณ 278,250 ล้านบาท”
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มของจีนยังมีจำนวนไม่มากเท่าที่คาดการณ์ไว้ เพราะผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมีต้นทุนที่สูง คุณสมบัติของบรรจุภัณฑ์ส่วนใหญ่ยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร และบรรจุภัณฑ์ยากต่อการนำมารีไซเคิล เนื่องจากผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์มีการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่มีความซับซ้อนมากเกินไป แต่ในอนาคต ความต้องการจะมีเพิ่มขึ้นแน่ ส่วนหนึ่งจากนโยบายของจีนเอง และอีกส่วนจากการให้ความสำคัญของผู้บริโภคในการปกป้องสิ่งแวดล้อม ซึ่งเห็นได้จากการมีผู้ผลิตในอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ
ดังนั้น ตลาดผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของจีน จึงนับเป็นอีกโอกาสของผู้ประกอบการไทยในการเข้ามาขยายตลาดในจีน เนื่องจากมีปัจจัยสนับสนุนหลายด้าน ทั้ง Stay at Home Economy หรือเศรษฐกิจอยู่ติดบ้าน และพฤติกรรมการสั่งอาหารและเครื่องดื่มเดลิเวอรีของชาวจีนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับนโยบายควบคุมการใช้พลาสติกที่จะทำให้ตลาดบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเริ่มเป็นที่ต้องการอย่างมากในจีน ซึ่งผู้ประกอบการไทยสามารถพิจารณาพัฒนาบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มให้สอดคล้องกับความต้องการในการบริโภคสีเขียว และสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลจีนให้มากขึ้น โดยการพัฒนาคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ให้มีความเป็นธรรมชาติ สามารถย่อยสลายได้เอง สามารถนำมารีไซเคิลได้ง่าย มีตัวเลือกรูปแบบบรรจุภัณฑ์ที่หลากหลายและมีราคาที่เป็นมิตร
นอกจากนี้ ยังสามารถพิจารณานำเอาวัสดุจากธรรมชาติของไทยมาแปรรูปให้มากขึ้น ซึ่งนอกจากจะช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์พื้นบ้านของไทยได้อีกทางหนึ่ง ไม่เพียงเท่านั้น ผู้ประกอบการไทยยังควรเฝ้าติดตามพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภคชาวจีนอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนพิจารณาร่วมมือกับแบรนด์ที่มีชื่อเสียงของจีนในลักษณะของ Co-Brand เพื่อให้การเข้ามาเจาะตลาดผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในจีนมีโอกาสประสบความสำเร็จ และสามารถครองส่วนแบ่งการตลาดในระยะยาวได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
สำหรับผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ www.ditp.go.th หรือสายตรงการค้าระหว่างประเทศ โทร 1169