- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Monday, 05 May 2014 23:00
- Hits: 3664
พาณิชย์ จัดงาน อนาคตเศรษฐกิจไทยภายใต้ประชาคมอาเซียน เพื่อกระตุ้น และเพิ่มศักยภาพของไทยสู่ประชาคมอาเซียน
กระทรวงพาณิชย์จัดงาน'อนาคตเศรษฐกิจไทย ภายใต้ประชาคมอาเซียน'ในส่วนภูมิภาค (เชียงใหม่ สุราษฎร์ธานี ขอนแก่น ชลบุรี สงขลา) ระหว่างวันที่ 24 เมษายน – 22 มิถุนายน 2557 กระทรวงพาณิชย์ รับมือกระแสอาเซียน พัฒนาศักยภาพของนักลงทุนไทย สร้างความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ สำรวจลู่ทางการลงทุน แสดงความแข็งแกร่ง ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยสู่เศรษฐกิจโลก เพื่อรองรรับตลาดการค้าการลงทุนที่มีมูลค่ามหาศาล
นายวุฒิชัย ดวงรัตน์ รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีความพร้อม และมีศักยภาพหลายด้าน ที่จะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ที่เห็นได้ชัดคือ เรื่องฝีมือแรงงาน คุณภาพสินค้าไทยไม่แพ้ใครในอาเซียน อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ด้านบริการ การท่องเที่ยว รวมถึงความพร้อมทางการแพทย์ อีกทั้ง ทำเลที่ตั้งประเทศไทยซึ่งเป็นศูนย์กลางอาเซียนจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่น่าส่งเสริมและผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง ธุรกิจการค้าการลงทุน ระบบโลจิสติกส์ ฯลฯ โดยกระทรวงพาณิชย์พร้อมอย่างยิ่งที่จะอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการในทุกด้าน ไม่ว่าจะเปิดเวทีให้ผู้ส่งออก และนักลงทุนได้พบปะแลกเปลี่ยนข้อมูลทางการค้า เจรจาจับคู่ธุรกิจ รวมถึงการจัดอบรมสัมมนา เพื่อเพิ่มความรู้ให้กับนักลงทุนหรือผู้ประกอบการ ที่สนใจลงทุนทำธุรกิจ ในอาเซียน โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากแขนงต่างๆ มาให้คำแนะนำ ส่วนของกระทรวงเองก็เร่งพัฒนาคุณภาพ มาตรฐานทางการค้าของไทย อาทิ มาตรฐาน สุขอนามัยของสินค้าเกษตร มาตรฐานสินค้าอุตสาหกรรม มาตรฐานสิ่งแวดล้อม รวมถึงการปรับปรุง ระบบเตือนภัยทางการค้าและการใช้มาตรการทางการค้าให้สามารถ ดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ควบคู่กับการกำหนดมาตรฐานทางการค้าเพื่อป้องกันสินค้า ที่ไม่ได้มาตรฐาน และสินค้าที่อาจจะทะลักเข้ามาจากต่างประเทศได้โดยหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง
ดังนั้น จึงจัดทำโครงการอนาคตเศรษฐกิจไทยภายใต้ประชาคมอาเซียน เป็นงานที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งใจจัดขึ้นเพื่อให้ข้อมูลความรู้และสร้างความเข้าใจ ผ่านการจัดนิทรรศการ เพื่อให้บุคลากรทั้งในภาครัฐ ภาคเอกชน เยาวชน นิสิตนักศึกษา และประชาชนทั่วไป เข้าใจในประชาคมอาเซียนและประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยในนิทรรศการจะมีสาระความรู้และข้อมูลที่มีการสังเคราะห์ให้เข้าใจง่าย โดยมีพันธมิตรที่สำคัญ ได้แก่ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย รวมทั้งสมาคมและส่วนราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องภายในงานยังมีการจัดสัมมนาต่างๆ โดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญมาให้ความรู้ ด้านเศรษฐกิจในประชาคมอาเซียน รวมถึงสิ่งที่เป็นเครื่องมือที่เป็นปัจจัยในการดำเนินธุรกิจ เช่น ทรัพย์สินทางปัญญา ระบบการค้าการลงทุน ตลอดจนข้อมูล กฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหัวใจสำคัญหลักในงาน คือ การเตรียมความพร้อมของไทยในการก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
นายวุฒิชัย กล่าวเพิ่มเติมว่ากระทรวงพาณิชย์ตั้งใจที่จะใช้ศักยภาพของประเทศไทยให้อยู่ในแถวหน้าของอาเซียนเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ กระตุ้นให้เกิดการลงทุนทำธุรกิจมากขึ้นในอาเซียน และผลักดันให้เกิดการค้าระหว่างประเทศ จากความสำเร็จการจัดงานในกรุงเทพฯ กระทรวงพาณิชย์จึงจัดงานอนาคตเศรษฐกิจไทยภายใต้ประชาคมอาเซียนในส่วนภูมิภาค ใน 5 จังหวัด ดังนี้ จังหวัดขอนแก่น วันที่ 24 – 27 เมษายน 2557 ณ Central Plaza Khonkean Hall,จังหวัดสงขลา วันที่ 7 – 10 พฤษภาคม 2557 ณ Central Festival Hatyai,จังหวัดเชียงใหม่ วันที่ 16 – 19 พฤษภาคม 2557 ณ Central Airport Plaza Hall,จังหวัดชลบุรี วันที่ 28 – 31 พฤษภาคม 2557 ณ Tukcom Chonburi และจังหวัดสุราษฎร์ธานี วันที่ 19 – 22 มิถุนายน 2557 ณ Central Plaza Suratthani Hall
นายวุฒิชัย กล่าวว่า งานอนาคตเศรษฐกิจไทย ภายใต้ประชาคมอาเซียนเป็นงานใหญ่ระดับชาติที่ กระทรวงพาณิชย์ตั้งใจจัดขึ้นเพื่อให้ข้อมูล ความรู้ สร้างความเข้าใจผ่านการจัดนิทรรศการ ทำให้บุคลากร ทั้งในภาครัฐ ภาคเอกชน เยาวชน นิสิตนักศึกษา สถาบันวิชาการต่างๆ ในนิทรรศการจะมีสาระความรู้และข้อมูลที่มีการสังเคราะห์ให้เข้าใจง่าย นอกจากนั้นยังได้นำเสนอความแข็งแกร่งของ 12 Clusters ที่สำคัญของอุตสาหกรรมสินค้าและบริการ โดยจับมือกับภาคเอกชนโดยเฉพาะสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย รวมทั้งสมาคมอื่นๆที่เกี่ยวข้อง
ส่วนประโยชน์ที่จะได้รับทำให้เกิดการไหลเวียนของสินค้าเงินทุนแรงงานได้อิสระขึ้น และมีการพัฒนาเครือข่ายการคมนาคมขนส่งระหว่างกันเพื่อประโยชน์ด้านการค้าและการลงทุน การค้าภายในและต่างประเทศขยายตัวทำให้อุปสงค์บริการโลจิสติกส์เพิ่มขึ้นเป็น Gateway สำหรับการขนส่งทางถนนสำหรับประเทศจีนตอนใต้มีเส้นทาง (ถนน และรถไฟ) ที่เชื่อมโยงตามแนวระเบียงเศรษฐกิจ N-S และ E-W Economic corridor สร้างโอกาสที่ดีในการเป็นศูนย์กลางเชื่อมต่อการขนส่งและเศรษฐกิจในภูมิภาคและประเทศเพื่อนบ้านตามด่านชายแดน และความร่วมมือในระดับอนุภูมิภาคเช่น GMS เป็นปัจจัยที่สำคัญในการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมเชื่อมโยงระหว่างประเทศ นายวุฒิชัย กล่าวทิ้งท้าย
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย