- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Saturday, 09 April 2022 08:54
- Hits: 6995
จุรินทร์ เน้นรอบคอบ มอบปลัดพาณิชย์ถก 3 ฝ่ายอีกครั้ง หาข้อสรุปมาตรการลดต้นทุนอาหารสัตว์
จุรินทร์ เป็นประธานประชุม นบขพ. ร่วม 4 ฝ่าย รัฐ เกษตรกร ผู้เลี้ยงสัตว์ และผู้ผลิตอาหารสัตว์ ยังไม่เคาะมาตรการลดต้นทุนอาหารสัตว์ มอบปลัดพาณิชย์ถกร่วม 3 ฝ่ายให้พร้อมหน้า หาข้อยุติ ก่อนเสนอพิจารณาอีกครั้ง ย้ำยึดหลักทำให้วัตถุดิบอาหารสัตว์ไม่ขาดแคลน ราคาอาหารสัตว์ไม่สูงจนเป็นภาระผู้เลี้ยงสัตว์ ผู้ปลูกข้าวโพด มัน และพืชอื่นไม่กระทบ และผู้บริโภคไม่ต้องบริโภคเนื้อสัตว์แพงเกินไป
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (นบขพ.) ครั้งที่ 1/2565 ว่า การประชุมครั้งนี้ มีตัวแทนจากภาครัฐทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม และมีผู้แทนสมาคมที่เกี่ยวข้อง 3 ฝ่าย ประกอบด้วยเกษตรกรผู้ปลูกพืชไร่ เช่น ข้าวโพด มันสำปะหลัง และข้าว เป็นต้น เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ เช่น สมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ ไก่เนื้อ และสมาคมผู้เลี้ยงสุกร เป็นต้น และสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ ได้ร่วมกันพิจารณาประเด็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่มีราคาพุ่งสูงขึ้นทุกตัว ไม่ว่าจะเป็นข้าวสาลี และข้าวโพด ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญ
โดยการพิจารณา มีประเด็นหารือ 2 ประเด็น คือ ประเด็นที่ 1 ทำอย่างไรไม่ให้ปริมาณวัตถุดิบอาหารสัตว์ในประเทศขาดแคลน ประเด็นที่ 2 ทำอย่างไรไม่ให้ราคาพุ่งสูงขึ้นเกินไปจนเป็นภาระต้นทุนการผลิตสำหรับเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ และไม่ให้เป็นภาระกับผู้บริโภคจนเกินสมควร รวมทั้งทำอย่างไรไม่ให้เกษตรกรผู้ปลูกพืชไร่ ข้าวโพด มันสำปะหลังหรือพืชอื่นได้รับผลกระทบ จึงต้องสร้างจุดสมดุลให้กับทุกฝ่ายให้อยู่ร่วมกันได้ ไม่เป็นภาระของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจนเกินสมควร
นายจุรินทร์ กล่าวว่า ถือว่าเป็นโจทย์ยาก เพราะแต่ละกลุ่ม ยังมีความเห็นที่ต่างกัน ผู้ปลูกพืชไร่ อยากให้ข้าวโพดราคาสูงที่สุด ผู้เลี้ยงสัตว์อยากให้ต้นทุนอาหารสัตว์ที่มีข้าวโพดและข้าวสาลีเป็นส่วนผสมต่ำที่สุด ผู้ผลิตอาหารสัตว์ ถ้าต้นทุนสูง อยากขึ้นราคาอาหารสัตว์ ผู้บริโภคอยากให้คุมราคาไก่เนื้อ ไข่ และหมู ไม่ให้สูงจนเกินไป คือ โจทย์ที่คณะกรรมการชุดนี้เป็นผู้ดำเนินการต่อไป โดยความเห็นเบื้องต้น ตั้งเป้าหมายว่าจะต้องเข้ามาดูแล ทั้งเรื่องราคาและปริมาณให้สมดุลกัน คือ ราคาอาหารสัตว์ไม่ให้สูงจนเป็นภาระของเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู ไก่และไข่ และให้มีปริมาณพอใช้และไม่เป็นภาระกับผู้บริโภค และกระทบกับราคาข้าวโพดในประเทศและพืชไร่อื่น
“การประชุมในวันนี้ จึงยังไม่ได้ข้อสรุปทั้งหมด ได้มอบหมายให้ปลัดกระทรวงพาณิชย์ไปนัดหมายประชุมกับอีก 3 ฝ่าย ให้ครบถ้วนทุกสมาคมที่มีส่วนเกี่ยวข้อง และหาข้อสรุปร่วมกันให้ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกัน หลังจากที่การประชุมครั้งนี้ สมาคมผู้ค้าพืชไร่ไม่ได้มาเข้าร่วมประชุม และสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ก็ส่งผู้แทนเข้ามา จึงต้องการให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมในการพิจารณาร่วมกันอีกครั้ง และเมื่อได้ข้อสรุปจะเสนอต่อที่ประชุม นบขพ. อีกครั้งหนึ่งโดยเร็วที่สุด”นายจุรินทร์กล่าว
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบโครงการประกันภัยข้าวโพด ปี 2565 เงื่อนไขเช่นเดียวกับปี 2564 แต่ปรับปริมาณให้สอดคล้องกับปริมาณที่เป็นจริง คือ ประมาณ 2,000,000 ไร่ กำหนด 2 กลุ่ม ได้แก่ 1.เกษตรกรที่เป็นลูกค้า ธ.ก.ส. กำหนดเบี้ยประกัน 160 บาทต่อไร่ รัฐบาลจะจ่ายให้ 96 บาทต่อไร่ ธ.ก.ส.จ่าย 64 บาทต่อไร่ รวมเป็น 160 บาทต่อไร่ 2.กลุ่มเกษตรกรที่ไม่ได้เป็นลูกค้า ธ.ก.ส. แต่สมัครใจประกันภัยข้าวโพด แบ่งพื้นที่เป็น 3 ส่วน ส่วนที่หนึ่งพื้นที่ความเสี่ยงสูงเบี้ยประกันภัย 110 บาทต่อไร่ ความเสี่ยงปานกลาง 100 บาทต่อไร่ และความเสี่ยงต่ำ 90 บาทต่อไร่ ในส่วนที่รัฐต้องอุดหนุนคิดเป็นงบประมาณ 224 ล้านบาท จะนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงพาณิชย์ ว่า ที่ประชุมได้รับรายงานสถานการณ์พืชสำคัญของโลก ทั้งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าวสาลี และข้าวบาเล่ย์ โดยพบว่า ปี 2564 ราคาปรับสูงขึ้น 41% โดยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพิ่ม 64% ข้าวสาลี เพิ่ม 30% ข้าวบาเล่ย์ เพิ่ม 34% และปี 2565 ราคาปรับขึ้น 30% โดยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพิ่ม 23% ข้าวสาลี เพิ่ม 37% ข้าวบาเล่ย์ เพิ่ม 30% ซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ความต้องการเพิ่มขึ้นและค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้าทางทะเลแถบยุโรปเพิ่มขึ้น
ส่วนสถานการณ์ในประเทศไทย แหล่งปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สำคัญอยู่ที่จังหวัดเพชรบูรณ์ นครราชสีมา น่านตาก และจังหวัดเลย รวม 43.17% ของทั้งประเทศ ส่วนจังหวัดอื่นๆ มีสัดส่วนลดหลั่นมา และในช่วงต้นปี จะเป็นการเก็บเกี่ยวข้าวโพดหลังนาอยู่ที่ 5.2 แสนตัน ส่วนความต้องการใช้เพื่อผลิตอาหารสัตว์ สูงกว่าผลผลิตที่ได้ภายในประเทศ และต้องการนำเข้าในส่วนที่ขาด