- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Tuesday, 22 March 2022 22:39
- Hits: 3721
จุรินทร์ เผย 3 ฝ่าย นัดประชุมร่วม ถกแก้ปมราคาอาหารสัตว์พุ่ง 23 มี.ค.นี้
จุรินทร์ เผย 3 ฝ่าย รัฐ เกษตรกร ผู้ประกอบการ นัดประชุม 23 มี.ค.นี้ หาทางออกผลกระทบราคาอาหารสัตว์ ยึดหลักทุกฝ่ายอยู่ได้ หลังต้นทุนวัตถุดิบพุ่ง ทั้งข้าวโพดและข้าวสาลี เตรียมเคลียร์ปมมาตรการ 3 ต่อ 1 จะเอายังไง ก่อนชงคณะกรรมการที่ดูแลไฟเขียว และเข้า ครม. แย้มมาตรการ 3 ต่อ 1 ปรับแน่ สัดส่วนเท่าใด ต้องคุยก่อน พร้อมกำหนดปริมาณนำเข้า
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า วันที่ 23 มี.ค.2565 จะมีการประชุมร่วม เพื่อพิจารณาเรื่องวัตถุดิบอาหารสัตว์ ระหว่างส่วนราชการกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการคลัง หน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง และเกษตรกร ซึ่งเกษตรกรมี 2 ส่วน คือ 1.ชาวไร่ข้าวโพด ชาวไร่มันสำปะหลัง 2.ปศุสัตว์ ที่มีผลกระทบเรื่องต้นทุนอาหารสัตว์สูง ทำให้ราคาเนื้อสัตว์มีต้นทุนสูงขึ้น และผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ผลิตอาหารสัตว์ ซึ่งจะต้องหารือให้มีข้อยุติร่วมกัน และให้ได้ทางออกในเรื่องนี้
ทั้งนี้ ในปัจจุบันต้นทุนอาหารสัตว์ ขึ้นอยู่กับ 2 ส่วนสำคัญ ได้แก่ 1.ราคาข้าวโพดที่สูงขึ้นเป็นกิโลกรัม (กก.) ละ 10 กว่าบาท จาก กก. ละ 6-8 บาท และที่สำคัญข้าวสาลีในตลาดโลกราคาสูงขึ้นมาก เพราะผู้ผลิตข้าวสาลีรายใหญ่ของโลก คือ ยูเครน กระทบมาก ทำให้ต้นทุนนำเข้าข้าวสาลีสูงขึ้นมาก ต้องมาดูว่ามาตรการเดิมที่กำหนดช่วยชาวไร่ข้าวโพด ที่การนำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วน ต้องซื้อข้าวโพดในประเทศ 3 ส่วน หรือมาตรการ 3 ต่อ 1 ในสถานการณ์นี้ ยังมีความเหมาะสมหรือไม่
“เบื้องต้น มีความเห็นควรผ่อนมาตรการนี้เป็นการชั่วคราว เพื่อไม่ให้ต้นทุนอาหารสัตว์สูงขึ้นจนเกินไป และกระทบราคาเนื้อสัตว์ต่าง ๆ แต่ยังมีความเห็นไม่สอดคล้อง จึงต้องคุยกันให้จบ เพื่อไม่แก้ปัญหาหนึ่ง แล้วไปสร้างอีกปัญหาหนึ่ง วันที่ 23 มี.ค.2565 จะมีการคุยกันอีกครั้ง ถ้ามีความจำเป็นต้องเดินหน้ากระบวนการอย่างไร เช่น นำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (นบขพ.) รวมถึงเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็จะดำเนินการต่อไปโดยเร็ว”นายจุรินทร์กล่าว
นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า แนวทางในการดูแลราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ ขณะนี้มีมาตรการที่เสนอมาโดยผู้ผลิตอาหารสัตว์ 3 มาตรการ คือ การปรับลดสัดส่วนของมาตรการ 3 ต่อ 1 การเปิดให้นำเข้าข้าวโพดภายใต้กรอบองค์การการค้าโลก (WTO) และเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) โดยยกเลิกโควตาภาษีและค่าธรรมเนียม และการยกเลิกภาษีนำเข้ากากถั่วเหลือง 2% ซึ่งจะมีการพิจารณารายละเอียดมาตรการต่าง ๆ อีกครั้ง ก่อนที่จะนำเสนอให้คณะกรรมการที่ดูแลแต่ละชุดพิจารณา หากเป็นเรื่องมาตรการ 3 ต่อ 1 ก็ต้องเข้า นบขพ. แต่ถ้าเป็นการลดภาษีนำเข้า ก็ต้องเข้าคณะกรรมการนโยบายอาหาร โดยมีหลักการว่าทุกมาตรการจะเป็นมาตรการระยะสั้น และไม่ส่งผลกระทบในระยะยาว
อย่างไรก็ตาม มาตรการที่มีความเป็นไปได้มากที่สุด ก็คือ การปรับลดสัดส่วนของมาตรการ 3 ต่อ 1 ซึ่งจะมีการพิจารณาว่า จะปรับลดสัดส่วนลงเท่าใด อาจจะเป็น 2 ต่อ 1 หรือ 1 ต่อ 1 หรือยกเว้นชั่วคราว และจะต้องมีการกำหนดปริมาณการนำเข้าว่าไม่ควรเกินเท่าใด โดยพิจารณาจากปริมาณความต้องการใช้ของทั้งปี และผลผลิตที่มีอยู่ในประเทศ ส่วนการนำเข้าภายใต้ WTO และ AFTA
ปัจจุบันองค์การคลังสินค้า (อคส.) นำเข้าได้ทั้งปี ผู้นำเข้าทั่วไป นำเข้าได้ช่วง ก.พ.-ส.ค. ก็ต้องดูว่าจะปรับเงื่อนไขหรือไม่ และการลดภาษีกากถั่วเหลือง ต้องดูผลระยะยาวว่าหากลดภาษีแล้ว จะส่งผลกระทบต่อเนื่องทำให้เกษตรกรลดพื้นที่เพาะปลูกลงหรือไม่ เพราะปัจจุบัน ไทยมีการปลูกถั่วเหลืองน้อยกว่าความต้องการอยู่แล้ว และกระทบต่อรายการของกระทรวงการคลังหรือไม่