- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Saturday, 19 March 2022 10:56
- Hits: 4529
พาณิชย์-DITP เผย 'ขนมไทย' มีโอกาสขายญี่ปุ่น แนะเกาะเทรนด์รักษ์โลก ใช้นวัตกรรม
นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP)กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตามนโยบายนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ได้สั่งการให้ติดตามโอกาสในการส่งออกสินค้ารายการใหม่ ๆ เพื่อนำมาแจ้งเตือนให้กับผู้ผลิต ผู้ส่งออกสินค้าของไทย ได้วางแผนในการผลิตและส่งออกตามนโยบาย 'ตลาดนำการผลิต' โดยกรมฯ ได้รับรายงานจากสำนักงานตัวแทนการค้าไทย ณ เมืองฮิโรชิมา ถึงแนวทางการขยายตลาดขนมไทยในญี่ปุ่น ที่ยังมีโอกาสเจาะตลาดได้อีกมาก หากสามารถผลิตสินค้าได้ตรงตามที่ผู้บริโภคต้องการ
ทั้งนี้ พฤติกรรมผู้บริโภคที่เกิดขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้เกิดผู้บริโภคกลุ่มใหม่สำหรับสินค้าประเภทบิสกิต ซึ่งเดิมเป็นที่นิยมในกลุ่มผู้บริโภคสตรีและผู้สูงอายุ แต่เมื่อเกิดโควิด-19 คนกักตัวหรือทำงานที่บ้าน บิสกิตจึงเป็นขนมที่เป็นที่ต้องการเพิ่มขึ้น และผู้บริโภคยังต้องการบริโภคสินค้าใหม่ ๆ เช่น ช็อกโกแลต ที่ผู้ผลิตมีการพัฒนารสชาติใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น เช่น รสมะนาวและรสถั่วพิสตาชิโอ เป็นต้น รวมทั้งยังมีพฤติกรรมซื้อขนมที่ขนาดบรรจุใหญ่ขึ้น เพื่อรับประทานหลายครั้ง และราคาถูกกว่าซื้อขนาดบรรจุเล็ก
ขณะเดียวกัน มีแนวโน้มที่สำคัญเกิดขึ้น คือ ชาวญี่ปุ่นเริ่มให้ความสำคัญกับการใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทำให้ผู้ผลิตเปลี่ยนจากการใช้พลาสติกมาเป็นกระดาษมากขึ้น และลดปริมาณบรรจุภัณฑ์มากเกินจำเป็นลงมา เช่น ใช้พลาสติกที่บางลง หรือยกเลิกการใช้ถาดพลาสติก เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังพบว่า มีความต้องการสินค้าใหม่ ๆ รองรับสังคมผู้สูงอายุ เช่น ขนมที่มีการพัฒนาเป็น Functional food ที่มีคุณสมบัติการให้สารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น เยลลี่เหลวแบบสำหรับดื่มที่ให้พลังงานและเส้นใย หรือขนมที่มีนวัตกรรม เช่น ลูกอมดับกลิ่นปากที่ลดความแรงของมินท์ เพื่อให้เหมาะกับเวลาใส่หน้ากากอนามัย และขนมเคี้ยวหนึบ ที่มีการใช้นวัตกรรมในการผลิต เพื่อสร้างความแปลกใหม่ เช่น ขนมนำเข้าจากสเปนมีรูปร่างเป็นลูกกลมสีฟ้าและมีลวดลายเหมือนลูกโลก
เมื่อเคี้ยวจะมีเสียงแตกและมีซ๊อสสีแดงรสชาติเบอร์รี่อยู่ข้างใน นำเข้าจากสหรัฐฯ เป็นเหมือนลูกกวาดติดกันเป็นแผ่น เมื่อเคี้ยวจะเหมือนเคี้ยวลูกกวาดและข้างในจะเคี้ยวหนึบๆ พร้อมรสชาติผลไม้ หรือเป็นเยลลี่ที่มีรูบุ๋มตรงกลาง ในห่อมีหลอดเหมือนปากกาซึ่งบรรจุน้ำเชื่อมอยู่ เมื่อจะรับประทานจะหยอดน้ำเชื่อมลงในรู หรือขนมเคี้ยวหนึบที่มีลักษณะและรสสัมผัสเหมือนมาร์ชแมลโลว์ หรือขนมเคี้ยวหนึบที่มีส่วนผสมของ Palatinose ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสร้างพลังงานคาร์โบไฮเดรตสำหรับนักกีฬา
โดยมีการออกแบบให้ง่ายต่อการรับประทานสำหรับนักกีฬา e-sport สามารถใช้มือข้างเดียวเปิดและเทใส่ปากในขณะที่มืออีกข้างต้องอยู่บนคอนโทรลคีย์บอร์ด หรือช็อกโกแลต ที่ใช้โอลิโกฟรุคโตสเป็นสารให้ความหวานแทนน้ำตาล
นายภูสิต กล่าวว่า ปัจจุบันญี่ปุ่นได้มีการเริ่มนำเข้าช็อกโกแลตจากไทยแล้ว เช่น แบรนด์ Kan Vela (กานเวลา) ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตของไทยในเชียงใหม่ โดยจำหน่ายเป็นช็อกโกแลตระดับพรีเมียมในตลาดญี่ปุ่น และยังพบว่า มีขนมไทยอีกหลายประเภทที่มีโอกาสในการเจาะตลาดญี่ปุ่น โดยขนมที่คาดว่าจะจำหน่ายได้ ได้แก่ ขนมแบบญี่ปุ่น ขนมที่นุ่ม เช่น ขนมเคี้ยวหนึบ และขนมที่รับประทานได้สะดวก เช่น ช็อกโกแลต ข้าวเกรียบญี่ปุ่น ส่วนขนมที่ผู้บริโภคอาจจะไม่นิยม คือ ประเภทที่ใช้เวลาในการบริโภค เช่น หมากฝรั่ง ขนมที่ทอดด้วยน้ำมัน หรือลูกกวาดลูกอมที่แข็ง เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคญี่ปุ่นมักจะสนใจสินค้าขนมประเภทใหม่ ๆ อยู่เสมอ จึงเป็นโอกาสสำหรับสินค้าขนมของไทยที่จะเข้าสู่ตลาดญี่ปุ่น แต่ในการผลิต ต้องให้ความสำคัญกับคุณภาพและมาตรฐานความปลอดภัย โดยเป็นปัจจัยที่ผู้ผลิตผู้ส่งออกไทยจะต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก นอกจากนั้น จะต้องพิจารณาใช้บรรจุภัณฑ์และขนาดบรรจุที่เหมาะสมกับแนวโน้มของตลาด รวมทั้งควรติดตามศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคที่มีการเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพแวดล้อมในช่วงนั้นๆ ด้วย
สำหรับ ผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ www.ditp.go.th หรือสายตรงการค้าระหว่างประเทศ โทร 1169
พาณิชย์ ชี้เป้าเจาะตลาดนักศึกษาจีน เผยอาหาร ขนม เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง มีโอกาส
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) แนะผู้ส่งออกไทยเจาะตลาดกลุ่มนักศึกษาในจีน ที่เป็นกลุ่มผู้บริโภคที่กำลังเติบโตสูง ชี้สินค้าที่มีโอกาสมีหลากหลาย ทั้งอาหาร ขนม เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง แนะเจาะผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย เหตุคนกลุ่มนี้นิยมดูรีวิว ย้ำต้องให้ความสำคัญกับคุณภาพสินค้า เพื่อดึงให้กลับมาซื้อซ้ำและบอกต่อ
นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตามนโยบายนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ได้สั่งการให้กรมฯ ศึกษาพฤติกรรมการบริโภคของผู้บริโภคกลุ่มต่างๆ ในประเทศที่เป็นตลาดส่งออก เพื่อนำมาใช้ในการวางแผนการผลิตและส่งออกให้กับผู้ประกอบการของไทย ล่าสุดกรมฯ ได้รับรายงานจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองกวางโจว ถึงโอกาสในการเจาะตลาดกลุ่มนักศึกษาในประเทศจีน ซึ่งถือเป็นกลุ่มผู้บริโภค ที่มีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ จากการติดตามกลุ่มผู้บริโภคนักศึกษาในจีน พบว่า ในปี 2020 มีนักศึกษามหาวิทยาลัยจำนวน 32.85 ล้านคน โดยนักศึกษา 1 คนมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 2,082 หยวนต่อเดือน และในปี 2021 การบริโภคของกลุ่มนักศึกษาในประเทศจีนมีมูลค่าถึง 8.7 ล้านล้านหยวน โดยกิจกรรมที่สนใจมากสุด 3 อันดับแรก คือ การเลือกสรรร้านอาหารที่มีชื่อเสียง การดูหนัง ฟังเพลง การศึกษาหาความรู้ รวมถึงการเล่นเกมออนไลน์ ท่องเที่ยว และออกกำลังกาย โดยมีงานอดิเรก เช่น เพศชาย สนใจกีฬา e-Sport การ์ตูนเอนิเมชัน ฟิกเกอร์โมเดล และอุปกรณ์เทคโนโลยี เพศหญิง สนใจเรื่องแฟชั่น ความงาม กิจกรรมเอ็นเตอเทนเมนต์ต่างๆ สัตว์เลี้ยง และการ์ตูนแอนิเมชัน
สำหรับ พฤติกรรมการบริโภคสินค้า พบว่า มีความสนใจการบริโภคเอ็นเตอร์เทนต์ออนไลน์ แอปพลิเคชันเอ็นเตอร์เทนเมนต์ประเภทคลิปวิดีโอสั้น หรือแอปพลิเคชันสำหรับฟังเพลง ส่วนการบริโภคอาหาร ขนม และเครื่องดื่ม เนื่องจากมีข้อจำกัดด้านการเงิน การบริโภคจึงเลือกสินค้าที่มีราคาย่อมเยาและมีรสชาติอร่อย เช่น อาหาร ขนม กลุ่มนักศึกษาเพศหญิงจะนิยม ขนมแป้งเส้นรสเผ็ด ขนมหรืออาหารกระป๋อง และคุกกี้หรือเค้ก กลุ่มนักศึกษาเพศชายจะนิยมบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ถั่ว และผลไม้อบแห้ง เครื่องดื่ม กลุ่มนักศึกษาที่เกิดหลังปี 2000 ไม่ว่าจะเป็นเพศหญิงหรือชายนิยมดื่มน้ำผลไม้และชานม ราคาของเครื่องดื่มที่ผู้บริโภคกลุ่มนี้นิยมจะอยู่ในระหว่างราคา 3-5 หยวน และเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์บำรุงผิว ไม่ใช่นิยมเฉพาะเพศหญิง แต่เพศชายนิยมใช้มากขึ้น เช่น ผลิตภัณฑ์สำหรับหนังศีรษะ ผลิตภัณฑ์อาบน้ำ น้ำหอม ผลิตภัณฑ์ดูแลผม และครีมกันแดด ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวหน้า และบำรุงผิวหน้า
นายภูสิต กล่าวว่า จากแนวโน้มการเติบโตของกลุ่มนักศึกษา และพฤติกรรมการบริโภคดังกล่าว ถือได้ว่าตลาดกลุ่มนักศึกษาหรือตลาดคนรุ่นใหม่ในจีน เป็นตลาดผู้บริโภคที่น่าสนใจอีกตลาดหนึ่ง และมีแนวโน้มเติบโตได้อีกมาก และถึงแม้กลุ่มนักศึกษาจะมีข้อจำกัดทางการเงิน แต่มักจะเลือกบริโภคสินค้าตามความสนใจและมีความชอบที่จะทดลองสินค้าใหม่ๆ ซึ่งผู้ประกอบการไทยอาจจะเลือกเจาะกลุ่มผู้บริโภคกลุ่มนี้เป็นอันดับแรก เพื่อเปิดตลาดสินค้าไทยใหม่ๆ สู่ตลาดจีน และในอนาคตกลุ่มผู้บริโภคกลุ่มนี้ จะเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ และกลายเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อต่อไป ซึ่งหากผู้ประกอบการไทยเริ่มทำการตลาดกับกลุ่มวัยรุ่น วัยมหาลัย จะเป็นการสร้างการรับรู้ของแบรนด์ และคุณภาพของสินค้าที่ดีจะส่งผลให้กลุ่มลูกค้าเกิดความภักดีต่อแบรนด์ และเกิดการบริโภคซ้ำ จนทำให้สินค้าติดตลาดในที่สุด
ส่วนช่องทางการขยายตลาดไปยังผู้บริโภคกลุ่มนี้ ผู้ประกอบการควรศึกษาพฤติกรรมการบริโภคสินค้าในมิติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นวิธีการศึกษาค้นคว้าหาข้อมูล หรือความนิยมในการดูรีวิวสินค้าก่อนตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคกลุ่มนี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสินค้าเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ดูแลผิวพรรณ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า วัยรุ่นจีนยุคใหม่ไม่ได้มีพฤติกรรมใช้จ่ายฟุ่มเฟือยอีกต่อไป อีกทั้ง ยังมีแนวโน้มว่าผู้บริโภคกลุ่มนี้จะซื้อสินค้าตามรีวิวที่ตนเองติดตามได้มากกว่าการพบเห็นโฆษณาทั่วไป ดังนั้น การโปรโมตสินค้า สร้างคอนเทนต์รีวิวสินค้าบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่ผู้บริโภคกลุ่มนี้นิยมใช้งาน จึงเป็นการทำงานตลาดที่จำเป็นอย่างยิ่ง
นอกจากนี้ คุณภาพสินค้า เป็นปัจจัยสำคัญอันดับหนึ่ง รองจากความรู้สึกพึงพอใจเมื่อใช้งาน และราคาของสินค้าที่คุ้มค่า ทำให้ผู้บริโภคกลับบริโภคสินค้าซ้ำ ผู้ประกอบการไทยควรให้ความสำคัญต่อปัจจัยเหล่านี้ เพื่อให้เกิดการบริโภคซ้ำ และสินค้าถูกบอกต่อกันในวงกว้าง