- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Saturday, 12 March 2022 18:38
- Hits: 7967
พาณิชย์ โชว์ผลสำรวจ คนไทยพอใจประกันรายได้-ค้าออนไลน์-ลดราคามากสุด
สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เผยผลสำรวจประชาชนเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายพาณิชย์ปี 64 คนรับรู้โครงการประกันรายได้มากสุด ตามด้วยพาณิชย์ลดราคา และส่งเสริมการค้าออนไลน์ ส่วนที่พอใจมากสุด ประกันรายได้ ส่งเสริมการค้าออนไลน์ และพาณิชย์ลดราคา เฉพาะเกษตรกรชอบประกันรายได้มากสุด เตรียมนำความคิดเห็นปรับใช้ในการดำเนินโครงการปี 65 เพื่อให้ตรงตามความต้องการต่อไป
นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยถึงผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในช่วงเดือนม.ค.2565 จำนวน 10,072 คน จากทุกอำเภอทั่วประเทศ เกี่ยวกับการดำเนินนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ ในปี 2564 ว่า ผู้ตอบแบบสอบถามเกือบ 60% รับทราบนโยบายทั้งหมด และผู้ตอบที่รับทราบนโยบาย 75.09% ต่างพอใจภาพรวมผลงานนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ ที่ช่วยเพิ่มรายได้ ลดภาระค่าใช้จ่าย และบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง
โดยนโยบายกระทรวงพาณิชย์ที่ประชาชนรับทราบมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ โครงการประกันรายได้เกษตรกรปีที่ 2 รับรู้ถึง 81.33% ตามด้วยโครงการพาณิชย์ลดราคา 76.45% และโครงการส่งเสริมการค้าออนไลน์ 73.51% โดยภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ เป็นภาคที่มีสัดส่วนผู้รับทราบนโยบายสูงที่สุด ส่วนอาชีพที่มีสัดส่วนผู้รับทราบนโยบายสูงที่สุด คือ ข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ/พนักงานของรัฐ นักศึกษา และเกษตรกร โดยผู้ตอบในช่วงอายุ 20-39 ปี รับทราบนโยบายกระทรวงพาณิชย์มากที่สุด
สำหรับ นโยบายกระทรวงพาณิชย์ที่ประชาชนรายพอใจมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ โครงการประกันรายได้เกษตรกร ปีที่ 2 พอใจ 30.97% ตามด้วยโครงการส่งเสริมการค้าออนไลน์ 25.41% และโครงการพาณิชย์ลดราคา 24.38% โดยภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง เป็นภาคที่ประชาชนแสดงความพึงพอใจมากต่อทุกนโยบายในสัดส่วนสูงที่สุด ส่วนอาชีพ ข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ/พนักงานของรัฐ และเกษตรกร เป็นอาชีพที่แสดงความพึงพอใจมากต่อทุกนโยบายในสัดส่วนสูงที่สุดเมื่อเทียบกับอาชีพอื่น และส่วนใหญ่ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และผู้ที่มีอายุในช่วง 30-49 ปี พึงพอใจมากในนโยบายกระทรวงพาณิชย์
“โครงการประกันรายได้เกษตรกรปีที่ 2 ที่ดำเนินการต่อเนื่องจากปี 2563 เป็นโครงการที่ประชาชนรับทราบและพึงพอใจสูงสุด โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกร เพราะช่วยให้เกษตรกรมีรายได้จากการจ่ายส่วนต่างชดเชยในช่วงที่ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ”
ทั้งนี้ นอกเหนือจากโครงการข้างต้น ยังมีโครงการต่าง ๆ อีกมากมาย ที่ประชาชนพึงพอใจ เพราะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับผู้ประกอบการ ช่วยให้ผู้บริโภคเข้าถึงสินค้าราคาถูก เช่น โครงการส่งเสริมการค้าออนไลน์ โครงการพาณิชย์ลดราคา การส่งเสริมการส่งออกสินค้า ที่ส่งผลให้การส่งออกของไทยในปี 2564 สามารถขยายตัวได้ถึง 17.1% การเร่งรัดความร่วมมือทางการค้า โดยจัดทำ Mini FTA กับเมืองโคฟุ ประเทศญี่ปุ่น มณฑลไห่หนาน ประเทศจีน เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์จะนำผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนไปเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาโครงการต่าง ๆ เพื่อให้ตรงตามความต้องการมากขึ้น เพราะในปี 2565 กระทรวงพาณิชย์ โดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ มีนโยบายในการขับเคลื่อนโครงการเพื่อดูแลเกษตรกร ผู้ประกอบการ และช่วยเหลือพี่น้องประชาชนอย่างต่อเนื่อง ทั้งโครงการประกันรายได้ปี 3 การแก้ไขปัญหาปากท้อง ที่มีการตั้งคณะทำงานกำกับติดตามสถานการณ์ราคาสินค้า (วอร์รูม) การขอความร่วมมือผู้ผลิตและผู้จำหน่ายตรึงราคาสินค้า การขยายตลาดการค้าในต่างประเทศ การทำ Mini FTA กับเมืองใหม่ การเปิดเจรจา FTA ฉบับใหม่ เช่น สหภาพยุโรป สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (EFTA) อาเซียน-แคนาดา เป็นต้น
ส่วนกรณีที่ผลสำรวจ มีพนักงานของรัฐรับรู้และพอใจโครงการประกันรายได้มากที่สุด เพราะผู้ตอบแบบสอบถามบางคนประกอบอาชีพเกษตรกร มีพ่อแม่พี่น้องประกอบอาชีพ และได้ประโยชน์จากโครงการ ไม่ได้หมายความว่า พนักงานของรัฐไม่สามารถกรอกความเห็นในโครงการที่เป็นประโยชน์ และในแบบสอบถาม ทุกกลุ่มอาชีพต้องกรอกทุกข้อที่มีในแบบฟอร์ม เกษตรกรก็เหมือนกัน ก็ต้องกรอกในทุกแบบฟอร์ม แม้แต่นักศึกษา ก็พอใจกับโครงการได้
พาณิชย์เผย ผลสำรวจคนไทยพอใจในผลงานกระทรวงพาณิชย์ ปี 2564
นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เผยผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในช่วงมกราคม 2565 จำนวน 10,072 คน จากทุกอำเภอทั่วประเทศ เกี่ยวกับการดำเนินนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ ในปี 2564 ที่ผ่านมา พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามเกือบร้อยละ 60 รับทราบนโยบายทั้งหมด และผู้ตอบที่รับทราบนโยบายร้อยละ 75.09 ต่างพอใจภาพรวมผลงานนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ ที่ช่วยเพิ่มรายได้ ลดภาระค่าใช้จ่าย และบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง โดยมีรายละเอียดผลการสำรวจ ดังนี้
นโยบายกระทรวงพาณิชย์ ที่ประชาชนรับทราบมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ (1) โครงการประกันรายได้เกษตรกรปีที่ 2 (ร้อยละ 81.33) ตามด้วย (2) โครงการพาณิชย์ลดราคา (ร้อยละ 76.45) และ (3) โครงการส่งเสริมการค้าออนไลน์ (ร้อยละ 73.51) โดยภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ เป็นภาคที่มีสัดส่วนผู้รับทราบนโยบายสูงที่สุด ส่วนอาชีพที่มีสัดส่วนผู้รับทราบนโยบายสูงที่สุด คือ ข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ/พนักงานของรัฐ นักศึกษา และ เกษตรกร และผู้ตอบในช่วงอายุ 20 - 39 ปี รับทราบนโยบายกระทรวงพาณิชย์มากที่สุด
นโยบายกระทรวงพาณิชย์ ที่ประชาชนรายพอใจมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ (1) โครงการประกันรายได้เกษตรกร ปีที่ 2 (ร้อยละ 30.97) ตามด้วย (2) โครงการส่งเสริมการค้าออนไลน์ (ร้อยละ 25.41) และ (3) โครงการพาณิชย์ลดราคา (ร้อยละ 24.38) โดยภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง เป็นภาคที่ประชาชนแสดงความพึงพอใจมากต่อทุกนโยบายในสัดส่วนสูงที่สุด ส่วนอาชีพ ข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ/พนักงานของรัฐ และ เกษตรกร เป็นอาชีพที่แสดงความพึงพอใจมากต่อทุกนโยบายในสัดส่วนสูงที่สุดเมื่อเทียบกับอาชีพอื่น และส่วนใหญ่ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และผู้ที่มีอายุในช่วง 30 - 49 ปี พึงพอใจมากในนโยบายกระทรวงพาณิชย์
จากผลการสำรวจยังพบว่า โครงการประกันรายได้เกษตรกรปีที่ 2 ที่ดำเนินการต่อเนื่องจากปี 2563 ยังเป็นโครงการที่ประชาชนรับทราบและพึงพอใจสูงสุด โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกร เพราะช่วยให้เกษตรกรมีรายได้จากการจ่ายส่วนต่างชดเชยในช่วงที่ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ขณะเดียวกันก็ขับเคลื่อนมาตรการต่าง ๆ ที่ช่วยยกระดับราคาสินค้าเกษตร อาทิ การผลักดันให้ผลไม้ราคาดี การกระจายผลไม้ออกจากแหล่งผลิตไปตลาดทั้งในและต่างประเทศ
นอกจากนั้น กระทรวงพาณิชย์ยังดำเนินโครงการต่างๆ อีกมากมาย เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับผู้ประกอบการ ขณะเดียวกันผู้บริโภคได้เข้าถึงสินค้าราคาถูก ได้แก่ โครงการส่งเสริมการค้าออนไลน์ โครงการพาณิชย์ลดราคา การส่งเสริมการส่งออกสินค้า ที่ส่งผลให้การส่งออกของไทยในปี 2564 สามารถขยายตัวได้ถึงร้อยละ 17.1 เมื่อเทียบกับปีก่อน การเร่งรัดความร่วมมือทางการค้า โดยจัดทำ Mini FTA กับเมืองโคฟุ ประเทศญี่ปุ่น มณฑลไห่หนาน ประเทศจีน เป็นต้น ซึ่งล้วนเป็นโครงการที่ประชาชนรับทราบและพึงพอใจเช่นกัน
นายรณรงค์ ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า ในปี 2565 กระทรวงพาณิชย์ยังคงเดินหน้านโยบายช่วยเหลือทุกภาคส่วน ทั้งเกษตรกร ภาคธุรกิจ และประชาชนอย่างต่อเนื่อง อาทิ โครงการประกันรายได้เกษตรกรปีที่ 3 ต่อเนื่องในพืชเศรษฐกิจสำคัญ 5 ชนิด คือ ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อีกทั้งได้ติดตามสถานการณ์สินค้าอุปโภคบริโภคอย่างใกล้ชิด และดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชนในช่วงที่ราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้น และให้มีเพียงพอต่อความต้องการ อาทิ การจัดตั้งคณะทำงานกำกับติดตามสถานการณ์ราคาสินค้า (War Room) การขอความร่วมมือผู้ผลิตและผู้จำหน่ายตรึงราคาสินค้า
นอกจากนี้ ยังเร่งขยายโอกาสทางการค้าในตลาดต่างประเทศ โดยจัดกิจกรรมส่งเสริมการค้าในประเทศต่าง ๆ การทำ Mini FTA กับเมืองใหม่ที่มีศักยภาพ การเปิดเจรจา FTA ฉบับใหม่ ๆ อาทิ กับสหภาพยุโรป สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (EFTA) อาเซียน-แคนาดา เป็นต้น เพื่อสร้างโอกาสทางการค้าให้ผู้ประกอบการ ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน อันจะส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศฟื้นตัวได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน
โดย สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์