- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Monday, 07 March 2022 22:05
- Hits: 8058
พาณิชย์ ประกาศเก็บเอดีฟิล์มใช้ทำบรรจุภัณฑ์ จับตาต้นทุนพุ่ง สินค้าจ่อขึ้นราคา
พาณิชย์ ประกาศใช้เอดีฟิล์มบีโอพีพีที่เป็นวัตถุดิบทำบรรจุภัณฑ์ จากจีน อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ในอัตรา 0.73-32.84% เพื่อช่วยเหลือผู้ผลิตในประเทศที่มีอยู่รายเดียว แต่ผู้ประกอบการอีกนับ 100 รายเจอผลกระทบเต็มๆ จับตาต้นทุนพุ่ง สินค้าแห่ปรับขึ้นราคายกแผง ดีเดย์ เม.ย.นี้ เป็นต้นไป 'บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป' ไม่รอ นำร่องขึ้นราคาทันที หลังแบกรับต้นทุนไม่ไหว
ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงพาณิชย์ว่า เมื่อเร็วๆ นี้ คณะกรรมการพิจารณาการทุ่มตลาดและการอุดหนุน (ทตอ.) ที่มีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน ได้พิจารณาใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (เอดี) สินค้าฟิล์มบรรจุภัณฑ์ไบแอคเซียลลี ออเรียนเต็ดโพลิโพรพิลีน หรือฟิล์มบีโอพีพี ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติก ในอัตรา 0.73-32.84% กับสินค้าที่นำเข้าจากจีน อินโดนีเซีย และมาเลเซีย โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการประกาศเพื่อให้มีผลบังคับใช้
สำหรับ อากรเอดีที่จะเก็บจากบริษัทจากจีน ได้แก่ บริษัท Suqian Gettel Plastic Industry Co.,Ltd อัตรา 0.73% บริษัท Yunnan Hongta Plastic Co.,Ltd อัตรา 5.49% และบริษัทอื่น ๆ อัตรา 32.80% จากอินโดนีเซีย ได้แก่ บริษัท PT Argha Karya Prima Industry Tbk อัตรา 5.71% และบริษัทอื่น ๆ อัตรา 15.32% และจากมาเลเซีย ได้แก่ บริษัท Scientex Great Wall SDN.BHD. อัตรา 4.72% และบริษัทอื่น ๆ อัตรา 32.84%
ทั้งนี้ การใช้มาตรการเอดีกับฟิล์มบีโอพีพีดังกล่าว เป็นไปตามข้อเรียกร้องของอุตสาหกรรมในประเทศที่มีอยู่เพียงรายเดียว และปัจจุบันผู้ผลิตรายดังกล่าว ไม่ได้รับผลกระทบจากสินค้านำเข้า เนื่องจากมียอดขาย และมีรายได้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และผลประกอบการย้อนหลัง 3 ปี ตั้งแต่ปี 2562-64 มีกำไรทุกปี
แหล่งข่าวจากสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การใช้เอดี เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายเดียว แต่ทำให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์พลาสติก ทั้งอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดอ่อน เทปกาว สติกเกอร์ เคลือบกระดาษ และอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ใช้ฟิล์มบีโอพีพี เช่น อุตสาหกรรมอาหาร เครื่องดื่ม ยาและเวชภัณฑ์ ของใช้ส่วนบุคคล ของใช้ในครัวเรือน และอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่มีอีกเป็น 100 ราย ได้รับผลกระทบต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น และจะมีผลกระทบต่อเนื่อง ทำให้สินค้าอุปโภคบริโภคได้รับผลกระทบตามไปด้วย เช่น ซองใส่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ซองขนมปัง ซองขนมขบเคี้ยว ซองลูกอม ซองใส่หน้ากากอนามัย ซองใส่ถุงมือ ซองใส่เสื้อผ้า ซองใส่ถุงยางอนามัย ซองใส่ผงเกลือแร่ ซองใส่เวชภัณฑ์ทางการแพทย์ ฉลากน้ำดื่ม และฉลากน้ำมันพืช เป็นต้น
โดยกลุ่มสินค้าข้างต้น เดิมมีต้นทุนเพิ่มขึ้นอยู่แล้ว ทั้งต้นทุนวัตถุดิบและต้นทุนน้ำมัน และที่ผ่านมา หลายรายได้ให้ความร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ในการตรึงราคาสินค้า แต่กระทรวงพาณิชย์กลับไม่คิดที่จะช่วยลดต้นทุนให้ผู้ประกอบการเลย แล้วยังมาซ้ำเติม ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นอีก และเป็นต้นทุนที่ไม่สามารถบริหารจัดการได้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องปรับขึ้นราคาสินค้า คาดว่าตั้งแต่เดือน เม.ย.2565 เป็นต้นไป ซึ่งน่าจะเป็นช่วงที่เอดีมีผลบังคับใช้ ซึ่งปัจจุบันผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ ได้มีการแจ้งการปรับขึ้นราคาไปยังผู้ผลิตสินค้ากลุ่มต่าง ๆ แล้ว
ล่าสุด นายสมชาย พรรัตนเจริญ นายกสมาคมค้าส่งค้าปลีกไทย กล่าวว่า ตั้งแต่เดือนเม.ย.2565 เป็นต้นไป ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปอย่างน้อย 2 ราย ได้แจ้งขอปรับขึ้นราคาต้นทุนซองละ 25 สตางค์ เท่ากับเป็นการปรับขึ้นราคาขายส่งทางอ้อมกับร้านค้า ส่งผลให้กำไรของร้านค้าปรับลดลงเหลือเพียงซองละ 75 สตางค์ จากเดิมที่ได้กำไรซองละ 1 บาท ส่วนผู้บริโภคยังไม่ได้รับผลกระทบ เพราะร้านค้าไม่ได้มีการปรับขึ้นราคาขายปลีก ยังคงจำหน่ายในราคาเดิม คือ ซองละ 6 บาท แต่ได้กำไรลดลง
สำหรับ เหตุผลที่ผู้ผลิตแจ้งมายังสมาคมฯ เนื่องจากต้นทุนซองบรรจุภัณฑ์มีการปรับราคาเพิ่มขึ้น รวมไปถึงแป้งสาลี และน้ำมันปาล์มที่ใช้ในการทอดบะหมี่และน้ำมันปาล์มที่บรรจุอยู่ในซองบะหมี่สำเร็จรูปมีราคาเพิ่มสูงขึ้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ได้ให้ความร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ในการไม่ปรับขึ้นราคาสินค้าซองละ 6 บาท เพื่อช่วยดูแลค่าครองชีพให้กับประชาชน เพราะบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็นสินค้ามวลชน และล่าสุดได้ขอปรับขึ้นราคา โดยลดส่วนกำไรของร้านค้าลงมา 25 สตางค์ ทั้งๆ ที่ต้นทุนจริงเพิ่มขึ้นซองละ 50 สตางค์ แต่หากต้นทุนยังคงเพิ่มขึ้น ก็มีความเป็นไปได้ที่จะปรับราคาขึ้นอีก และตอนนั้น คงหลีกเลี่ยงที่จะปรับราคาจำหน่ายปลีกไม่ได้ เพราะร้านค้าคงจะไม่ยอมให้ปรับลดส่วนกำไรที่มีน้อยอยู่แล้วลงไปอีก รวมทั้งคาดว่า จะมีสินค้าอุปโภคบริโภครายการอื่น ๆ ทยอยแจ้งปรับขึ้นราคาตามมาอีกเป็นจำนวนมาก เพราะผลกระทบจากต้นทุนบรรจุภัณฑ์ที่สูงขึ้น