- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Saturday, 05 March 2022 10:45
- Hits: 8592
ภาพรวมการนำเข้าผ่านการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าภายใต้ความตกลง FTA ปี 2564
กรมการค้าต่างประเทศ เผยตัวเลขการนำเข้าผ่านการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าภายใต้ความตกลง FTA ในปี 2564 มีมูลค่า 44,871.75 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยตลาด 3 อันดับแรกที่ไทยมีการนำเข้าโดยใช้สิทธิฯ FTA ได้แก่ จีน อาเซียน และญี่ปุ่น มีสินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ เหล็ก ผักสด และผลไม้สด
นายพิทักษ์ อุดมวิชัยวัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่าการขอใช้สิทธิประโยชน์สำหรับ การนำเข้าสินค้าภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) ในปี 2564 มีมูลค่ารวม 44,871.75 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ ร้อยละ 25.63 ของมูลค่าการนำเข้าภายใต้ FTAs สินค้าที่มีมูลค่าการนำเข้าสูง ได้แก่ เหล็ก (นำเข้ามาจากญี่ปุ่น จีน เกาหลี) ผักและผลไม้ (นำเข้ามาจากจีน อาเซียน) โดยตลาดที่มีมูลค่าการนำเข้า โดยใช้สิทธิ FTA สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่
อันดับ 1 จีน (มูลค่า 18,528.67 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) สินค้านำเข้าที่มีมูลค่าการขอใช้สิทธิฯ สูง เช่น เหล็ก (12.43%) สิ่งก่อสร้าง (1.25%) แอปเปิ้ล (1.09%) ล้อและส่วนประกอบ (0.82%) และหลอดหรือท่อ ทำด้วยทองแดง (0.07%)
อันดับ 2 อาเซียน (มูลค่า 11,043.68 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) สินค้านำเข้าที่มีมูลค่าการขอใช้สิทธิฯ สูง เช่น อาหารปรุงแต่ง (4.74%) ข้าวโพด(4.02%) มันสำปะหลัง (3.19%) เครื่องรับสำหรับโทรทัศน์ (2.89%) และลวดทำด้วยทองแดงบริสุทธิ์ (1.79%) เป็นต้น
อันดับ 3 ญี่ปุ่น (มูลค่า 9,638.83 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) สินค้านำเข้าที่มีมูลค่าการขอใช้สิทธิฯ สูง เช่น เหล็กและตัวก่อปฏิกิริยา (31.90%) พวงมาลัย แกนพวงมาลัย และกระปุกเกียร์ (3.97%) เป็นต้น
หากผู้ประกอบการต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการนำเข้าผ่านการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าภายใต้ความตกลงฯ FTA สามารถสืบค้นข้อมูลได้ที่เว็บไซต์กรมการค้าต่างประเทศ www.dft.go.th หรือ โทรสายด่วน 1385
คต.พลิกโฉมการให้บริการ เดินหน้าอำนวยความสะดวกทางการค้า ในยุค New Normal
กรมการค้าต่างประเทศเดินหน้านำนวัตกรรมดิจิทัลพลิกโฉมการให้บริการ ช่วยลดขั้นตอน ลดระยะเวลา และลดต้นทุนให้ผู้ประกอบการ โดยในปี 2564 สามารถออกเอกสารทางการค้าได้มากกว่า 1.17 ล้านฉบับ คิดเป็นมูลค่าการค้ากว่า 3.18 ล้านล้านบาท
นายพิทักษ์ อุดมวิชัยวัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ในปี 2564 ที่ผ่านมา กรมฯ ออกหนังสือสำคัญการส่งออก-นำเข้าสินค้า จำนวน 1,172,027 ฉบับ คิดเป็นมูลค่าการค้า 96,615.81 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 3.18 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.72 จากปีก่อน (80,701.71 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) โดยในจำนวนดังกล่าว เป็นการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (C/O) จำนวน 1,072,770 ฉบับ มูลค่า 85,622.08 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเป็นการออกใบอนุญาตและหนังสือรับรองการส่งออก-นำเข้าสินค้า จำนวน 99,257 ฉบับ มูลค่า 10,993.73 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
โดยปัจจัยที่สำคัญที่ช่วยให้กรมฯ สามารถให้บริการได้อย่างต่อเนื่องและไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คือการที่กรมฯ ได้พลิกโฉมการให้บริการครั้งใหญ่โดยเฉพาะการนำนวัตกรรมดิจิทัลเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวก และลดขั้นตอน ลดระยะเวลา และลดต้นทุนให้ผู้ประกอบการไทย
ในส่วนของการให้บริการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (C/O) ซึ่งคิดเป็นกว่าร้อยละ 92 ของปริมาณการออกหนังสือสำคัญฯ ทั้งหมด กรมฯ ได้ผลักดันการใช้ระบบการลงลายมือชื่อและตราประทับอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Signature and Seal: ESS) ซึ่งเป็นระบบที่สามารถนำลายมือชื่อและตราประทับอิเล็กทรอนิกส์ของเจ้าหน้าที่และผู้ประกอบการจากฐานข้อมูลของกรมฯ มาแสดงบน C/O โดยอัตโนมัติ ช่วยลดระยะเวลารอรับบริการจาก 30 นาที/ฉบับ เหลือเพียงไม่เกิน 10 นาที/ฉบับ และลดการสัมผัสเอกสารให้สอดคล้องกับยุค New Normal
นอกจากนี้ ยังช่วยลดการใช้ทรัพยากรกระดาษในการพิมพ์แบบคำขอรับ C/O เนื่องจากภายใต้ระบบ ESS ผู้ประกอบการไม่จำเป็นต้องลงนามแบบสด ในแบบคำขอรับ C/O อีกต่อไป กรมฯ จึงสามารถเก็บคำขอฯ ดังกล่าวไว้ในฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์แทนการพิมพ์แบบกระดาษ ช่วยลดการใช้กระดาษไปได้กว่า 4.4 ล้านแผ่นต่อปี และช่วยลดการใช้งบประมาณรัฐกว่า 790,000 บาท
ทั้งนี้ ในปัจจุบันกรมฯ ให้บริการออก C/O ด้วยระบบ ESS จำนวน 11 ฟอร์ม ได้แก่ 1) Form D 2) Form E (สำหรับการส่งออกไปยังจีน) 3) Form JTEPA 4) Form AK 5) Form FTA-AUSTRALIA 6) Form AANZ 7) Form AJ 8) Form TC 9) Form AHK 10) หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าทั่วไป (C/O ทั่วไป) และ 11) Form RCEP (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565 เป็นต้นมา)
นายพิทักษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการให้บริการออกใบอนุญาตและหนังสือรับรองการส่งออก-นำเข้า กรมฯ ได้ผลักดันการให้บริการแบบ Paperless โดยเชื่อมโยงข้อมูลการออกใบอนุญาตและหนังสือรับรองฯ ผ่านระบบ National Single Window (NSW) ของไทย และสามารถเชื่อมโยงข้อมูลกับระบบ NSW ได้แล้วครบทุกรายการสินค้า จึงช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถผ่านพิธีการศุลกากรของไทยด้วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางมารับใบอนุญาตหรือหนังสือรับรองฯ แบบกระดาษจากกรมฯ อีกต่อไป ยกเว้นหนังสือรับรองฯ ที่ผู้ประกอบการจำเป็นต้องนำไปแสดงต่อกรมศุลกากรประเทศปลายทาง เช่น หนังสือรับรองสำหรับการส่งออกเพชรที่ยังไม่ได้เจียระไน (KPC) เป็นต้น ซึ่งกรมฯ ได้นำระบบ ESS มาใช้อำนวยความสะดวกตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2565 เป็นต้นมา แล้วเช่นกัน
การพลิกโฉมการให้บริการเหล่านี้ช่วยบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และมาตรการจำกัดการเดินทางต่าง ๆ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถขอรับหนังสือสำคัญฯ จากกรมฯ เพื่อใช้ประกอบการส่งออก-นำเข้าสินค้าได้อย่างต่อเนื่อง และเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนภาคการค้าของไทยในยุค New Normal
ผู้ประกอบการสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารหรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักบริการ การค้าต่างประเทศ โทร 0 2547 4830 และ 0 2547 4838 หรือ เว็บไซต์กรมการค้าต่างประเทศ www.dft.go.th และสายด่วนกรมการค้าต่างประเทศ 1385