- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Saturday, 05 March 2022 10:28
- Hits: 8492
ไทยส่งออกสหรัฐฯ ฉลุย ใช้สิทธิ GSP ปี 64 โต 31%
กรมการค้าต่างประเทศเผยตัวเลขการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบ GSP ส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ สวิตเซอร์แลนด์ กลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช (CIS 12) และนอร์เวย์ ทั้งปี 2564 มูลค่ารวม 3,612.68 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยตลาดสหรัฐอเมริกาครองอันดับ 1 ใช้สิทธิ GSP 3,317.02 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มสูงถึง 31.65%
นายพิทักษ์ อุดมวิชัยวัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยสถิติการใช้สิทธิประโยชน์สำหรับการส่งออกภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป หรือ GSP ทั้ง 4 ระบบที่ไทยได้รับสิทธิพิเศษอยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สวิตเซอร์แลนด์ กลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช และนอร์เวย์ ปี 2564 (มกราคม – ธันวาคม) มีมูลค่า 3,612.68 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.14 เมื่อเทียบกับปี 2563 และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ ร้อยละ 61.94 โดยไทยยังคงใช้สิทธิฯ ส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐอเมริกาเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องถึงร้อยละ 31.65 และใช้สิทธิฯ ส่งออกไปยังกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราชเพิ่มขึ้นร้อยละ 25.27 ในขณะที่การใช้สิทธิฯ ส่งออกไปยังสวิตเซอร์แลนด์และนอร์เวย์ลดลงร้อยละ 2.01 และ 16.12 ตามลำดับ
อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศกล่าวว่า การส่งออกของไทยมีการขอใช้สิทธิ GSP ส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ มากที่สุดเป็นอันดับ 1 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 91.82 ของการส่งออกโดยใช้สิทธิ GSP ทั้ง 4 ระบบของไทยในปี 2564 มีมูลค่าส่งออกโดยใช้สิทธิฯ สูงถึง 3,317.02 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมีสินค้าส่งออกที่สำคัญครองอันดับ 1 ต่อเนื่องตลอดปี 2564 คือ ถุงมือยาง ซึ่งมีมูลค่าการใช้สิทธิฯ 505.87 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 45.83 เมื่อเทียบกับปี 2563 โดยการขอใช้สิทธิ GSP ในสินค้าถุงมือยางจะทำให้ได้รับการลดภาษีนำเข้าสหรัฐฯ จากเดิม (MFN rate) ร้อยละ 3 ลดเหลือร้อยละ 0
ส่วนสินค้าส่งออกไปยังสหรัฐฯ ที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ สูงและขยายตัวดี อันดับ 2 คือ ส่วนประกอบของเครื่องปรับอากาศ มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ 288.75 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 44.27 อันดับ 3 คือ กรดมะนาวหรือกรดซิทริก มูลค่าการใช้สิทธิฯ 133.40 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 89.21 อันดับ 4 คือ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ มูลค่าการใช้สิทธิฯ 90.71 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 37.03 และอันดับ 5 คือ หลอดหรือท่อทำด้วยทองแดงบริสุทธิ์ มูลค่าการใช้สิทธิฯ 89.99 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 202.45
สำหรับตลาดส่งออกภายใต้ระบบ GSP อันดับรองลงมา ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ กลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช และนอร์เวย์ มีมูลค่าการส่งออกโดยใช้สิทธิ GSP และสินค้าส่งออกสำคัญ ดังนี้
สวิตเซอร์แลนด์ (มูลค่า 259.68 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) สินค้าที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ สูง และขยายตัวได้ดี อาทิ ผ้าร่อน (มูลค่าการใช้สิทธิฯ 10.22 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 6.38) รถยนต์และยานยนต์อื่นๆ ที่ออกแบบสำหรับขนส่งบุคคลเป็นหลัก (มูลค่าการใช้สิทธิฯ 8.46 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 30.43) ตัวเรือนนาฬิกาชนิดวอตช์และส่วนประกอบของตัวเรือนดังกล่าวทำด้วยโลหะสามัญ (มูลค่าการใช้สิทธิฯ 8.23 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 136.79) สายนาฬิกาของนาฬิกาชนิดวอตช์ และส่วนประกอบของสายนาฬิกาดังกล่าว (มูลค่าการใช้สิทธิฯ 7.19 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 86.87) เป็นต้น
กลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช (มูลค่า 20.85 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) สินค้าที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ สูง และขยายตัวได้ดี อยู่ในกลุ่มสินค้าเกษตรแปรรูปและอาหารเป็นหลัก อาทิ สับปะรดกระป๋อง (มูลค่าการใช้สิทธิฯ 10.09 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 65.86) พืช/ผลไม้ปรุงแต่ง (มูลค่าการใช้สิทธิฯ 8.71 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 35.98) ปลาทูน่า ปลาสคิปแจ็ก และปลาโบนิโต (ชนิดซาร์ดา) (มูลค่าการใช้สิทธิฯ 0.45 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 34.69) น้ำผลไม้/น้ำผักอื่นๆ (มูลค่าการใช้สิทธิฯ 0.19 ขยายตัวร้อยละ 56.94) ซอสและของปรุงแต่งสำหรับทำซอส (มูลค่าการใช้สิทธิฯ 0.15 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 82.41) เป็นต้น
นอร์เวย์ (มูลค่า 15.13 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) สินค้าที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ สูง และขยายตัวได้ดี อาทิ ข้าวโพดหวาน (มูลค่าการใช้สิทธิฯ 3.83 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 31.83) ถุงมือที่อาบซึม เคลือบ หุ้มหรืออัดเป็นชั้นด้วยพลาสติกหรือยาง (มูลค่าการใช้สิทธิฯ 0.62 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 31.36) พาสต้ายัดไส้ (มูลค่าการใช้สิทธิฯ 0.52 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 197.94) พืชผักอื่นๆ ที่ปรุงแต่งหรือทำไว้ไม่ให้เสีย (มูลค่าการใช้สิทธิฯ 0.46 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 13.62) เครื่องแต่งกายของบุรุษและเด็กชายทำด้วยขนแกะหรือขนละเอียดของสัตว์ (มูลค่าการใช้สิทธิฯ 0.21 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 24.76) เป็นต้น
อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศกล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการต่ออายุโครงการ GSP ของสหรัฐฯ ที่สิ้นสุดโครงการฯ เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ขณะนี้ทางรัฐสภาสหรัฐฯ อยู่ระหว่างการพิจารณาผ่านร่างกฎหมายที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการต่ออายุโครงการฯ โดยคาดว่าจะได้รับการผ่านความเห็นชอบในเร็วๆ นี้ ทั้งนี้ ในการต่ออายุโครงการ GSP ครั้งนี้ มีความเป็นไปได้ว่า สหรัฐฯ จะปรับเปลี่ยนเงื่อนไขการพิจารณาประเทศที่จะได้รับสิทธิ GSP ให้สะท้อนกับประเด็นที่รัฐบาลสหรัฐฯ ให้ความสำคัญ อาทิ ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม ด้านแรงงาน เป็นต้น ให้มีความเข้มงวดมากยิ่งขึ้น
หากผู้ประกอบการมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าสามารถค้นหาข้อมูลได้ที่เว็บไซต์กรมการค้าต่างประเทศ www.dft.go.th หรือโทร สายด่วน 1385 รวมถึงไลน์แอปพลิเคชันชื่อบัญชี “@gsp_helper”