- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Thursday, 03 March 2022 22:39
- Hits: 9627
กรมเจรจาฯ เผย 'บิมสเทค' เดินหน้า FTA เร่งสรุป 'เปิดตลาดสินค้า-กฎถิ่นกำเนิด'
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเผยสมาชิกบิมสเทค เดินหน้าเจรจาจัดทำข้อบทกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า ตั้งเป้าปิดการเจรจาการค้าสินค้าให้จบโดยเร็ว ชี้หากสำเร็จ จะช่วยเพิ่มโอกาสในการส่งออกไปตลาดใหม่ในเอเชียใต้ แย้มสินค้าที่จะได้ประโยชน์เพิ่ม มีทั้งพลาสติก น้ำมันปิโตรเลียม และซีเมนต์
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงความคืบหน้าการจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างสมาชิกกรอบความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ หรือบิมสเทค (BIMSTEC) ว่า ล่าสุดบังกลาเทศได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะทำงานด้านกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าภายใต้กรอบบิมสเทค เมื่อช่วงเดือนม.ค.2565 ที่ผ่านมา มีการหารือประเด็นสำคัญ เช่น การสะสมถิ่นกำเนิดสินค้าภายในภูมิภาค (Regional Cumulation) การกำหนดสูตรการคำนวณมูลค่าเพิ่มภายในประเทศ และการกำหนดเกณฑ์ถิ่นกำเนิดสินค้าสำหรับกลุ่มประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (LDCs) และบังกลาเทศจะจัดประชุมคณะทำงานในครั้งต่อไปเร็วๆ นี้ เพื่อเร่งหาข้อสรุปในประเด็นต่างๆ ต่อไป
ทั้งนี้ นอกจากการเจรจาเพื่อจัดทำข้อบทกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า สมาชิกบิมสเทคยังสามารถสรุปผลการเจรจาประเด็นด้านการค้าสินค้าอื่น ๆ ได้เกือบหมดแล้ว และตั้งเป้าหมายว่าจะร่วมกันผลักดันให้สามารถปิดการเจรจาได้โดยเร็ว ซึ่งการเปิดตลาดสินค้าอยู่ระหว่างการแลกเปลี่ยนตารางการลดภาษี และการปรับโอนพิกัดศุลกากรให้มีความทันสมัยมากขึ้น
“หากความตกลงการค้าสินค้าภายใต้กรอบบิมสเทคได้ข้อสรุป และสมาชิกได้ลดหรือยกเลิกภาษีศุลกากรระหว่างกัน คาดว่าจะช่วยเพิ่มโอกาสในการส่งออกของไทยและมีการขยายตัวของเศรษฐกิจมากขึ้น โดยเฉพาะตลาดใหม่ในเอเชียใต้ เช่น ศรีลังกา บังกลาเทศ ภูฏาน และเนปาล รวมทั้งเพิ่มโอกาสการนำเข้าสินค้าต้นน้ำและสินค้ากลางน้ำ เพื่อนำมาเป็นวัตถุดิบการผลิต โดยสินค้าที่ไทยจะได้ประโยชน์จากการเปิดตลาด เช่น พลาสติก น้ำมันปิโตรเลียม ซีเมนต์ เส้นใยสั้นประดิษฐ์ และเครื่องจักร”นางอรมนกล่าว
สำหรับ บิม สเทค (BIMSTEC) ประกอบด้วยสมาชิก 7 ประเทศ ได้แก่ ไทย เมียนมา อินเดีย ศรีลังกา บังกลาเทศ ภูฏาน และเนปาล ได้เริ่มเจรจาจัดทำ FTA ระหว่างกันตั้งแต่ปี 2547 โดยมุ่งเน้นการเปิดตลาดการค้าสินค้า การค้าบริการ และการลงทุน โดยความตกลงการค้าสินค้า (Agreement on Trade in Goods) จะเน้นเรื่องการลดและยกเลิกภาษีศุลกากร การจัดทำข้อบทด้านกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า และการอำนวยความสะดวกทางการค้า
ในปี 2564 การค้าระหว่างไทยกับสมาชิกบิมสเทค มีมูลค่า 7.59 แสนล้านบาท มีสัดส่วน 4.43% ของการค้ารวมของไทย เพิ่มขึ้น 37.73% โดยเป็นการส่งออกมูลค่า 4.60 แสนล้านบาท สัดส่วน 5.38% ของการส่งออกไทยไปโลก เพิ่ม 41.46% สินค้าส่งออกสำคัญ เช่น เครื่องจักร พลาสติก อุปกรณ์ไฟฟ้า เชื้อเพลิง และเคมีภัณฑ์อินทรีย์ และนำเข้ามูลค่า 2.99 แสนล้านบาท สัดส่วน 3.48% ของการนำเข้าของไทยจากโลก เพิ่ม 32.37% สินค้านำเข้าสำคัญ เช่น เชื้อเพลิง แร่รัตนชาติ เครื่องจักร และสัตว์น้ำ