- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Thursday, 03 March 2022 22:28
- Hits: 5141
พาณิชย์ เผยใช้สิทธิ์ FTA ส่งออกปี 64 มูลค่าสูงสุดรอบ 6 ปี เพิ่ม 31.40%
กรมการค้าต่างประเทศเผยการใช้สิทธิ์ FTA ปี 64 มีมูลค่า 76,312.79 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 31.40% มูลค่าสูงสุดรอบ 6 ปี อาเซียนใช้สิทธิ์สูงสุด ตามด้วยจีน ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และอินเดีย ด้านสินค้า รถยนต์ขนส่งของ นำโด่ง ตามด้วยทุเรียนสด รถยนต์ขนส่งคน ผลิตภัณฑ์ยาง และเนื้อไก่ การนำเข้า FTA จีนสูงสุด ตามด้วยอาเซียนและญี่ปุ่น ส่วน GSP สหรัฐฯ นำโด่งใช้สิทธิ์สูงสุด
นายพิทักษ์ อุดมวิชัยวัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า การใช้สิทธิประโยชน์สำหรับการส่งออกภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) ในปี 2564 (ม.ค.-ธ.ค.) มีมูลค่ารวม 76,312.79 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 31.40% นับเป็นมูลค่าการใช้สิทธิ์สูงทื่สุดในรอบ 6 ปี และมีสัดส่วนการใช้สิทธิ์สูงถึง 78.17% โดยตลาดที่มีการใช้สิทธิ์สูงสุด 5 อันดับแรก คือ อาเซียน มูลค่า 26,280.12 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 35.91% 2 จีน มูลค่า 25,327.26 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 33.61% ออสเตรเลีย มูลค่า 8,474.04 ล้านเหรียญสหรัฐ
แยกเป็น FTA ไทย-ออสเตรเลีย 6,157.51 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 23.19% และ FTA อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ 2,316.53 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 16.49% ญี่ปุ่น มูลค่า 7,045.02 ล้านเหรียญสหรัฐ แยกเป็น FTA ไทย-ญี่ปุ่น 6,691.49 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 8.49% FTA อาเซียน-ญี่ปุ่น 353.53 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 7.84% และอินเดีย มูลค่า 4,899.95 ล้านเหรียญสหรัฐ แยกเป็น FTA ไทย-อินเดีย 522.66 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 19.94% FTA อาเซียน-อินเดีย 4,377.29 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 52.46%
สำหรับ สินค้า 5 อันดับแรก ที่มีการใช้สิทธิ์ FTA สูงสุด ได้แก่ 1.รถยนต์ขนส่งของน้ำหนักรถรวมน้ำหนักบรรทุกไม่เกิน 5 ตัน มูลค่า 6,157.51 ล้านเหรียญสหรัฐ ใช้สิทธิ์ FTA ไทย-ออสเตรเลีย 2.ทุเรียนสด มูลค่า 4,650.04 ล้านเหรียญสหรัฐ ใช้สิทธิ์ FTA อาเซียน-จีน 3.รถยนต์ขนส่งบุคคลความจุกระบอกสูบเกิน 2,500 ลบ.ซม. มูลค่า 2,380.55 ล้านเหรียญสหรัฐ ใช้สิทธิ์ FTA ไทย-ออสเตรเลีย 4.ผลิตภัณฑ์ยางสังเคราะห์ธรรมชาติ มูลค่า 1,899.19 ล้านเหรียญสหรัฐ ใช้สิทธิ์ FTA อาเซียน-จีน และ 5.เนื้อไก่และเครื่องในไก่ มูลค่า 1,522.14 ล้านเหรียญสหรัฐ ใช้สิทธิ์ FTA ไทย-ญี่ปุ่น
ส่วนการใช้สิทธิ์ FTA ในการนำเข้าสินค้า ปี 2564 มีมูลค่า 44,871.75 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 28.51% มีสัดส่วนการใช้สิทธิ์ 25.63% โดยมีการนำเข้าจากจีนสูงสุด มูลค่า 18,528.67 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าที่ขอใช้สิทธิ์ เช่น เหล็ก สิ่งก่อสร้าง แอปเปิ้ล ล้อและส่วนประกอบ หลอดหรือท่อทำด้วยทองแดง รองลงมา คือ อาเซียน มูลค่า 11,043.68 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าที่ใช้สิทธิ์ เช่น อาหารปรุงแต่ง ข้าวโพด มันสำปะหลัง เครื่องรับสำหรับโทรทัศน์ และลวดทำด้วยทองแดงบริสุทธิ์ และญี่ปุ่น มูลค่า 9,638.83 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าที่ใช้สิทธิ์ เช่น เหล็กและตัวก่อปฏิกิริยา พวงมาลัย แกนพวงมาลัย และกระปุกเกียร์ เป็นต้น โดยที่เหลือมูลค่า 5,660.57 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นการใช้สิทธิ์ภายใต้ FTA กับประเทศอื่นๆ
นายพิทักษ์ กล่าวว่า สำหรับการใช้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) ที่มีอยู่ในปัจจุบัน 4 ระบบ ได้แก่ สหรัฐฯ สวิตเซอร์แลนด์ กลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช และนอร์เวย์ ในปี 2564 มีมูลค่า 3,612.68 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 28.14% มีสัดส่วนการใช้สิทธิ์ 61.94 โดยเป็นการใช้สิทธิ์ส่งออกไปสหรัฐฯ มากที่สุด มูลค่า 3,317.02 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 31.65% คิดเป็น 91.82% ของการส่งออกโดยใช้สิทธิ์ GSP ทั้งหมด ส่วนการใช้สิทธิ์รองลงมา คือ สวิตเซอร์แลนด์ มูลค่า 259.68 ล้านเหรียญสหรัฐ ลด 2.01% กลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช มูลค่า 20.85 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 25.27% และนอร์เวย์ มูลค่า 15.13 ล้านเหรียญสหรัฐ ลด 16.12%
โดยสินค้าที่มีการใช้สิทธิ์ GSP สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.ถุงมือยาง มูลค่า 505.87 ล้านเหรียญสหรัฐ 2.ส่วนประกอบเครื่องปรับอากาศ มูลค่า 288.75 ล้านเหรียญสหรัฐ 3.อาหารปรุงแต่ง มูลค่า 164.40 ล้านเหรียญสหรัฐ 4.กรดซิทริก มูลค่า 133.40 ล้านเหรียญสหรัฐ และ 5.เลนส์แว่นตาทำด้วยวัตถุอื่น ๆ มูลค่า 124.13 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการใช้สิทธิ์ GSP ส่งออกไปสหรัฐฯ
ส่วนการต่ออายุโครงการ GSP ของสหรัฐฯ ที่สิ้นสุดโครงการฯ เมื่อวันที่ 31 ธ.ค.2563 ขณะนี้รัฐสภาสหรัฐฯ อยู่ระหว่างการพิจารณาผ่านร่างกฎหมายที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการต่ออายุโครงการ โดยคาดว่าจะได้รับการผ่านความเห็นชอบในเร็วๆ นี้ โดยในการต่ออายุโครงการ GSP มีความเป็นไปได้ว่า สหรัฐฯ จะปรับเปลี่ยนเงื่อนไขการพิจารณาประเทศที่จะได้รับสิทธิ GSP ให้สะท้อนกับประเด็นที่รัฐบาลสหรัฐฯ ให้ความสำคัญ เช่น ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม ด้านแรงงาน เป็นต้น ให้มีความเข้มงวดมากยิ่งขึ้น