- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Wednesday, 02 March 2022 21:32
- Hits: 5187
ส่งออกม.ค.65 ประเดิมได้สวย โต 8% ยันรัสเซีย-ยูเครน ยังไม่กระทบ ผุดแผนรับมือแล้ว
จุรินทร์ เผยส่งออกม.ค.65 ประเดิมเดือนแรกของปี มีมูลค่า 21,258.6 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 8% ชี้ประกาศตัวเลขช้า เหตุกรมศุลกากรอยู่ระหว่างปรับระบบพิกัดศุลกากรทุก 5 ปี ยันสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน ประเมินเบื้องต้น ยังไม่มีผลกระทบ แต่ต้องจับตาเรื่องน้ำมัน การขนส่ง วัตถุดิบอาหารสัตว์ ระบุเตรียมแผนรับมือแล้ว ลุยเจาะตลาดอื่นเพิ่ม ส่งสินค้าไทยไปแทนสินค้ารัสเซีย-ยูเครน
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตัวเลขการส่งออกเดือนม.ค.2565 มีมูลค่า 21,258.6 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 8% คิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 708,312 ล้านบาท ซึ่งถือว่ายังขยายตัวได้ดี เมื่อเทียบกับม.ค.2564 ที่ขยายตัวแค่ 0.1% ส่วนตัวเลขที่ออกมาล่าช้า เพราะเป็นช่วงเวลาที่กรมศุลกากรปรับระบบพิกัดศุลกากรทุก 5 ปี การประมวลรายละเอียดสินค้ายังดำเนินการไม่ครบถ้วน จึงไม่มีรายละเอียดสินค้า แต่มีตัวเลขรวมตรงตามข้อเท็จจริงตามที่ได้แจ้งไว้
สำหรับ ปัจจัยบวกที่ช่วยสนับสนุนให้การส่งออกเดือนม.ค.2565 เป็นบวกถึง 8% เพราะมีการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดระหว่างกระทรวงพาณิชย์กับภาคเอกชน ที่เดินหน้าต่อไปอย่างเข้มข้น ภาคการผลิตทั่วโลกยังขยายตัว ดูได้จากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตโลก (Global Manufacturing : PMI) ที่ยืนเหนือระดับ 50 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 19 สะท้อนว่าเศรษฐกิจยังฟื้นตัวต่อเนื่อง และปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์เริ่มดีขึ้น โดยเฉพาะท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรือกรุงเทพ และยังได้รับผลดีจากสหรัฐฯ ที่ขยายเวลาทำการในวันหยุด และเพิ่มการทำงานในช่วงกลางคืน ทำให้คล่องตัวขึ้นและตู้คงค้างลดลง
ทั้งนี้ การส่งออกในเดือนม.ค.2565 ตลาดที่ขยายตัวสูงสุด 10 อันดับแรก ได้แก่ 1.อินเดีย เพิ่ม 31.9% 2.รัสเซีย เพิ่ม 31.9% 3.สหราชอาณาจักร เพิ่ม 29.7% 4.เกาหลีใต้ เพิ่ม 26.8% 5.สหรัฐฯ เพิ่ม 24.1% 6.แคนาดา เพิ่ม 13.6% 7.อาเซียน 5 ประเทศ เพิ่ม 13.2% 8.จีน เพิ่ม 6.8% 9.ลาตินอเมริกา เพิ่ม 5.0% 10.สหภาพยุโรป เพิ่ม 1.4%
ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 23,785 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 20.5% ซึ่งเป็นผลมาจากการนำเข้าวัตถุดิบที่นำมาใช้ในการผลิต และการนำเข้าน้ำมันที่ราคาสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยขาดดุลการค้ามูลค่า 2,526.4 ล้านเหรียญสหรัฐ
นายจุรินทร์ กล่าวว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน ได้มอบหมายให้ปลัดกระทรวงพาณิชย์ประชุมร่วมกับภาคเอกชน ทั้งสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย สมาพันธ์ SMEs และสมาคมอื่นที่เกี่ยวข้อง ประเมินร่วมกันว่ายังไม่มีผลกระทบทางตรง หรือถ้าจะมีก็ยังไม่มาก เพราะรัสเซียเป็นตลาดส่งออกของไทยสัดส่วน 0.38% และยูเครนสัดส่วน 0.04% ยังเป็นสัดส่วนที่ไม่มาก แต่เมื่อเจาะเป็นรายสินค้า มีผลกระทบต่อยางรถยนตร์ อาหารแปรรูป อัญมณี และเครื่องสำอาง ที่ส่งออกไปยังรัสเซียและยูเครน
ส่วนในอนาคต ประเมินว่า อาจจะมีผลกระทบต่อต้นทุนทำธุรกรรมทางการเงิน แต่ตอนนี้ยังไม่มี และจะมีผลกระทบต่อต้นทุนการขนส่งสินค้าทางเรือ หากน้ำมันสูงขึ้นเรื่อย ๆ และมีการปิดท่าเรือบางแห่งในรัสเซียหรือยูเครน การส่งสินค้าของไทยอาจต้องเปลี่ยนท่าเรือ จะมีผลกระทบต่อต้นทุนการขนส่งได้
สำหรับ ผลกระทบทางอ้อม อาจมีเรื่องราคาพลังงาน ราคาเหล็กนำเข้าที่นำมาผลิตสินค้าต่อเนื่อง เช่น กระป๋อง หรือก่อสร้าง ที่จะได้รับผลกระทบ รวมถึงธัญพืชนำเข้าเพื่อทำอาหารสัตว์ เช่น ข้าวสาลีและข้าวโพด เพราะเป็นผู้ผลิตและส่งออกข้าวสาลีรายใหญ่ของโลก โดยเฉพาะยูเครน
อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการรับมือ กระทรวงพาณิชย์ได้เตรียมมาตรการต่าง ๆ รองรับร่วมกัน หากเกิดปัญหา โดยจะบุกตลาดทดแทน เช่น ตะวันออกกลาง แอฟริกา ลาตินอเมริกา เตรียมบุกตลาดทดแทนสินค้าของรัสเซียหรือยูเครนที่ไม่สามารถส่งออกไปตลาดสำคัญในโลกได้ จะถือเป็นโอกาสเข้าไปทดแทนตลาดรัสเซียกับยูเครน เช่น มันสำปะหลัง อาจส่งไปจีน แทนข้าวโพดของยูเครน หรือผลิตภัณฑ์ยางในสหรัฐฯ อาหารสำเร็จรูปส่งออกไปทดแทนสินค้าจากรัสเซียยูเครน เป็นต้น
ภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทย ประจำเดือนมกราคม 2565
การส่งออกของไทยในเดือนมกราคม 2565 มีมูลค่า 21,258.6 ล้านเหรียญสหรัฐ (708,312 ล้านบาท) ขยายตัวร้อยละ 8.0 ซึ่งการส่งออกของไทยขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11 ท่ามกลางบรรยากาศการค้าโลกที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง ขณะที่ความรุนแรงของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนน้อยกว่าสายพันธุ์อื่น จึงส่งผลกระทบต่อภาพรวมของเศรษฐกิจโลกในวงจำกัด
นอกจากนี้ IMF ยังมองว่า เศรษฐกิจโลกในปี 2565 จะยังเติบโตได้ร้อยละ 4.4 เนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศหลักทั่วโลก ทั้งการค้า การผลิต การบริโภค และการเดินทาง จะกลับเข้าสู่ระดับปกติก่อนการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และปัญหาด้านสาธารณสุขจะลดลงสู่ระดับต่ำภายในสิ้นปี 2565 จากอัตราการฉีดวัคซีนทั่วโลกเพิ่มขึ้น และการรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงส่งผลดีต่อการส่งออกไทยในระยะต่อไป
มูลค่าการค้ารวม
มูลค่าการค้าในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ
เดือนมกราคม 2565 การส่งออก มีมูลค่า 21,258.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 8.0 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 23,785.0 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 20.5 ดุลการค้าขาดดุล 2,526.4 ล้านเหรียญสหรัฐ
มูลค่าการค้าในรูปเงินบาท
เดือนมกราคม 2565 การส่งออก มีมูลค่า 708,312.3 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 20.7 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 802,688.8 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 34.5 ดุลการค้า ขาดดุล 94,376.5 ล้านบาท
การส่งออกรายตลาด
การส่งออกไปยังกลุ่มตลาดสำคัญส่วนใหญ่ยังคงขยายตัว (ยกเว้นทวีปออสเตรเลีย และทวีปแอฟริกา) ตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก แม้เป็นการขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงบ้าง เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนที่รวดเร็วในหลายประเทศ และส่งผลกระทบต่ออุปสงค์ (ความต้องการซื้อ) ของประเทศคู่ค้า ทั้งนี้ ภาพรวมการส่งออกไปยังกลุ่มตลาดต่างๆ สรุปได้ดังนี้
(1) ตลาดหลัก ขยายตัวร้อยละ 9.2 โดยขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ร้อยละ 24.1 จีน ร้อยละ 6.8 ญี่ปุ่น ร้อยละ 0.1 อาเซียน (5) ร้อยละ 13.2 CLMV ร้อยละ 2.3 และสหภาพยุโรป (27) ร้อยละ 1.4 (2) ตลาดรอง ขยายตัวร้อยละ 5.1 ขยายตัวในตลาดเอเชียใต้ ร้อยละ 27.1 ตะวันออกกลาง ร้อยละ 0.2 ลาตินอเมริกา ร้อยละ 5.0 และรัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS ร้อยละ 16.2 ขณะที่ทวีปออสเตรเลีย และทวีปแอฟริกา หดตัวร้อยละ 4.1 และร้อยละ 9.2 ตามลำดับ และ (3) ตลาดอื่น ๆ ขยายตัวร้อยละ 0.9
หมายเหตุ: ทั้งนี้ กรมศุลกากรมีการปรับปรุงรหัสสถิติสินค้าตามพิกัดศุลกากรเพื่อให้สอดคล้องกับพิกัดศุลกากรระบบฮาร์โมไนซ์อาเซียน (AHTN) ฉบับปี 2022 ทำให้โครงสร้างหรือจำนวนรายการสินค้าส่งออก-นำเข้ามีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งในขณะนี้การจัดกลุ่มสินค้าตามโครงสร้างสินค้าของกระทรวงพาณิชย์อยู่ระหว่างปรับให้สอดคล้องกับรหัสสถิติสินค้าระบบพิกัดศุลกากรฉบับปัจจุบัน โดยจะสามารถเผยแพร่ข้อมูลการค้าระหว่างประเทศได้อย่างสมบูรณ์ในไตรมาสแรกของปี 2565
โดย สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์