- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Tuesday, 22 February 2022 21:50
- Hits: 7869
ประธานสภาดิจิทัลฯ รับเทียบเชิญ ประชุม APEC 2022 กลุ่มดิจิทัล เสนอแนวคิดเสริมศักยภาพคนรุ่นใหม่ ในการเข้าถึงเทคโนโลยี พร้อมส่งเสริมค่านิยมที่ดีผ่านกระบวนการเรียนรู้แบบลงมือทำ ตอบโจทย์ความยั่งยืน แนะกำหนดเป็นเป้าหมายทุกเขตเศรษฐกิจในเอเปค
เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทยร่วมประชุมเอเปค กลุ่ม Digital Economy Steering Group (DESG) ผ่านระบบออนไลน์ โดยการประชุมดังกล่าวมีสมาชิกเอเปค 21 เขตเศรษฐกิจเข้าร่วมประชุม เพื่อร่วมกันกำหนดทิศทางการพัฒนาด้านดิจิทัลของกลุ่มประเทศเอเปก และหารือถึงความสำคัญของดิจิทัล รวมถึงแนวทางการติดตามการพัฒนาด้านดิจิทัลของประเทศสมาชิก ตามแผนปฏิบัติการ APEC Internet and Digital Economy Roadmap (AIDER) ผ่านตัวชี้วัดต่าง ๆ โดยจะนำผลการประชุมไปรายงานในการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส (Senior Officer Meeting) ก่อนที่จะถูกนำเสนอสู่ที่ประชุมใหญ่ APEC 2022 ที่จะจัดขึ้นในปลายปีนี้
โดย นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย เสนอแนวคิดเสริมศักยภาพคนรุ่นใหม่ ในการเข้าถึงเทคโนโลยี พร้อมส่งเสริมค่านิยมที่ดีผ่านกระบวนการเรียนรู้แบบลงมือทำ ตอบโจทย์ความยั่งยืน แนะกำหนดเป็นเป้าหมายทุกเขตเศรษฐกิจในเอเปค ซึ่งถือเป็นอีกบทบาทและภารกิจที่สำคัญของสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทยที่ได้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนภารกิจที่เป็นระดับโลก
นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย กล่าววิสัยทัศน์ โดยระบุว่า กลไกสำคัญที่นำไปสู่เป้าหมายเพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล ของทุกเขตเศรษฐกิจที่เป็นสมาชิก หรือ APEC Internet and Digital Economy Roadmap (AIDER) สามารถใช้ 5 ยุทธศาสตร์ของสภาดิจิทัลฯเป็นเครื่องมือในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล
นอกจากนี้ ได้ความสำคัญในการเข้าถึงคอมพิวเตอร์ของเยาวชน การส่งเสริมคนรุ่นใหม่ และสตาร์ทอัพ รวมไปถึงการประสานความร่วมมือของภาครัฐและเอกชน เพื่อให้ถูกกำหนดเป็นเป้าหมายในทุกเขตเศรษฐกิจของเอเปค ทั้งนี้มีความเห็นว่าการเสริมพลังให้คนรุ่นใหม่มีความสำคัญมาก ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นการถ่ายทอดเทคโนโลยี แต่ยังรวมถึงการถ่ายทอดค่านิยมของสังคม ผ่านการเรียนรู้จากการปฏิบัติบนพื้นฐานด้านความยั่งยืน
“คนรุ่นใหม่จะเรียนรู้ได้เร็วขึ้น และสามารถปรับตัวได้เร็ว ตราบเท่าที่เราส่งเสริมศักยภาพพวกเขา และการส่งเสริมนั้นเข้าถึงทุกคนได้เท่าเทียมกัน พวกเขาจะสามารถเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้ มีส่วนร่วมเป็นผู้กำหนดประเด็นความยั่งยืน เช่น ความไม่เท่าเทียมกันและความท้าทายอื่นๆ ด้วย”ประธานสภาดิจิทัลฯ กล่าว
ปัจจัยสำคัญที่สุดอีกประการในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล ของทุกเขตเศรษฐกิจที่เป็นสมาชิกเอเปค คือ การเข้าถึงคอมพิวเตอร์ของเยาวชน ซึ่งในประเทศไทย ยังเป็นตัวเลขที่ต่ำมาก ในการนี้นายศุภชัยในฐานะประธานสภาดิจิทัลฯ ได้แนะนำเกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษา (Education Reform) ที่ต้องพัฒนาคุณภาพของหลักสูตร ให้สอดคล้องกับรูปแบบการเรียนรู้ในยุคปัจจุบัน สร้างทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Literacy)
โดยเฉพาะในกลุ่มของนักเรียนและนักศึกษาที่จบใหม่ โดยอาศัยหลักการเรียนรู้บนการปฏิบัติการณ์จริง (Action Based Learning) และได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการสร้างกลไกที่มีประสิทธิภาพเพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ในกลุ่มเศรษฐกิจเอเปค ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญที่จะทำให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล ของทุกเขตเศรษฐกิจประสบความสำเร็จ
สำหรับ 5 ยุทธศาสตร์ของสภาดิจิทัลฯ ที่เสนอให้ APEC นำไปพิจารณาใช้เป็นฐานในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคเอเปก ประกอบด้วย 1. การสร้างมาตรฐานและตัวชี้วัดด้านดิจิทัล 2. การสร้างความร่วมมือภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน 3. การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในด้านดิจิทัล หรือ Digital Workforce 4. การพัฒนา Digital Transformation ของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม 5. การพัฒนาระบบนิเวศเพื่อการส่งเสริมนวัตกรรม เช่น การสร้างกลุ่มพื้นที่วิจัยนวัตกรรม (Innovation Clusters) หรือศูนย์ความเป็นเลิศ (Center of Excellence) ด้านดิจิทัล รวมถึงการลงทุนส่งเสริมสตาร์ทอัพ และคนรุ่นใหม่ให้มีกระบวนการทางความคิดแบบผู้ประกอบการ (Entrepreneurship Mindset) ในการสร้างนวัตกรรม และเทคโนโลยีใหม่ๆ โดย 5 ยุทธศาสตร์นี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและเอกชน
อนึ่ง เอเปคเป็นเวทีส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่ไทยเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง ประกอบด้วยเขตเศรษฐกิจชั้นนำถึง 21 เขตเศรษฐกิจ มี GDP รวมกันทั้งสิ้นกว่า 53 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1,700 ล้านล้านบาท และมีมูลค่าการค้ารวมกันเกือบครึ่งหนึ่งของการค้าโลก โดยการประชุม APEC 2022 ครั้งนี้ไทยเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นภายใต้หัวข้อ ‘เปิดกว้าง สร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล’ หรือ ‘Open. Connect. Balance.’ซึ่งมีประเด็นสำคัญ 3 ด้าน คือ 1. การส่งเสริมการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนและครอบคลุม 2. การอำนวยความสะดวกการค้าและการลงทุน และ 3. การฟื้นฟูความเชื่อมโยง โดยเฉพาะการเดินทาง และท่องเที่ยว เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบของโควิด