- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Monday, 21 February 2022 23:32
- Hits: 10406
กรมเจรจาฯ แนะเกษตรกร 'ชาไทย' ใช้ประโยชน์จาก FTA ขยายตลาดส่งออก
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ลงพื้นที่จังหวัดเชียงราย พบปะหารือกับเกษตรกรผู้ประกอบการชาไทย ชี้ช่องใช้ประโยชน์จาก FTA ทำการขยายตลาดส่งออก หลังมีถึง 15 ประเทศที่ไม่เก็บภาษีนำเข้าจากไทยแล้ว คงเหลือแค่อินเดีย ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 18-20 ก.พ.2565 ที่ผ่านมา กรมฯ ได้ลงพื้นที่เยี่ยมชมการดำเนินงานของบริษัท ชาไทยอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ซึ่งผลิตและปรุงชาผสมหลากหลายรสและกลิ่น ทั้งชาแดง ชาเขียว ชาอู่หลง ชากุหลาบ และชาอัญชัน ภายใต้แบรนด์ ‘ชาตรามือ’ ที่โรงงานอำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย โดยบริษัทได้สนใจข้อมูลความตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่ไทยทำกับประเทศคู่ค้า และข้อมูลกฎระเบียบด้านมาตรฐานที่ประเทศต่าง ๆ บังคับใช้กับผลิตภัณฑ์ชาผสม เพื่อที่จะพัฒนาสินค้าให้สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค และเพิ่มโอกาสขยายส่งออกสู่ตลาดต่างประเทศ
ทั้งนี้ กรมฯ ได้ชี้แจงว่า ปัจจุบันคู่เจรจา FTA จำนวน 15 ประเทศของไทย ได้แก่ อาเซียน จีน ฮ่องกง ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี และเปรู ได้ยกเลิกการเก็บภาษีศุลกากรกับสินค้าชาปรุงแต่งและชาสำเร็จรูปที่ส่งออกจากไทยแล้ว ยังเหลืออินเดีย ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ที่ยังคงเก็บภาษีศุลกากรในอัตรา 3-30% จึงเป็นโอกาสในการใช้ FTA ขยายตลาดส่งออกไปยังคู่เจรจาได้ ซึ่งปัจจุบัน พบว่า บริษัทมีการส่งออกและเปิดแฟรนไชส์ชาตรามือในหลายประเทศ เช่น สิงคโปร์ จีน ฮ่องกง บรูไน และกัมพูชา เป็นต้น
นางอรมน กล่าวว่า กรมฯ ยังได้เยี่ยมชมการดำเนินงานของบริษัท ชาดอยช้าง จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตชาออร์แกนิกคุณภาพสูง เน้นการใช้ปุ๋ยชีวภาพอินทรีย์บริสุทธิ์ กำจัดแมลงศัตรูพืชและวัชพืชโดยวิธีธรรมชาติ ตลอดจนพัฒนานวัตกรรมการเพิ่มสารอนุมูลอิสระให้ใบชา ซึ่งได้มีการร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในหัวข้อ ‘สร้างแต้มต่อชาไทย ขยายตลาดส่งออก’ เพื่อหารือแนวทางพัฒนาผู้ประกอบการชาในประเทศ ซึ่งพบว่า ปัจจุบันผู้บริโภคชา โดยเฉพาะในตลาดจีน ซึ่งเป็นประเทศที่นิยมบริโภคชาเป็นอันดับต้นๆ ของโลก หันมาสนใจผลิตภัณฑ์ชาออร์แกนิกมากขึ้น เนื่องจากให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพ แต่ผลผลิตชาออร์แกนิกในประเทศไม่เพียงพอต่อความต้องการ จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการชาไทยที่จะเร่งพัฒนาสินค้าชาและผลิตภัณฑ์ชาออร์แกนิกคุณภาพสูง เพื่อเจาะตลาดผู้บริโภคสินค้าชาพรีเมี่ยมในจีน โดยผู้ประกอบการชาชาวไทยสามารถใช้ประโยชน์จาก FTA อาเซียน-จีน ซึ่งจีนได้ยกเว้นการเก็บภาษีนำเข้าให้ไทยแล้ว เพื่อเป็นแต้มต่อในการส่งออกสินค้าชาและผลิตภัณฑ์สู่ตลาดจีน และอาเซียน
ปัจจุบันไทยประสบความสำเร็จในการเป็นผู้ส่งออกสินค้าชาสำเร็จรูป อันดับที่ 1 ของอาเซียน และอันดับที่ 8 ของโลก โดยในปี 2564 ไทยส่งออกชาสำเร็จรูปสู่ตลาดโลกปริมาณ 10.6 ล้านตัน มูลค่า 38.8 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 19% ตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ อาเซียน มูลค่า 19.1 ล้านเหรียญสหรัฐ สหรัฐฯ มูลค่า 6.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ญี่ปุ่น มูลค่า 3.7 ล้านเหรียญสหรัฐ จีน มูลค่า 3.6 ล้านเหรียญสหรัฐ และฮ่องกง มูลค่า 1.5 ล้านเหรียญสหรัฐ และส่งออกใบชาเขียวและชาดำสู่ตลาดโลกปริมาณ 3.5 พันตัน มูลค่า 24.9 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 4.9% ตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ อาเซียน มูลค่า 14.8 ล้านเหรียญสหรัฐ สหรัฐฯ มูลค่า 3.6 ล้านเหรียญสหรัฐ และจีน มูลค่า 2.7 ล้านเหรียญสหรัฐ