- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Sunday, 20 February 2022 09:11
- Hits: 10505
จุรินทร์ ชี้แจงสภาฯ ยันเร่งแก้ของแพง ปัญหาพืชเกษตร-ปุ๋ย-ส่งออกผลไม้
จุรินทร์ ชี้แจงฝ่ายค้านในการประชุมสภาผู้แทนราษฏร ยัน 'พาณิชย์'เดินหน้าแก้ปัญหาสินค้าแพงอย่างเร่งด่วน จนสามารถบรรเทาผลกระทบให้ประชาชน โชว์ตรึงราคาสินค้าสำคัญได้ 18 หมวด แก้ไข่-ไก่-น้ำมันปาล์ม-หมูแพง เผยพืชผลทางการเกษตร ราคาดีขึ้นต่อเนื่อง และยังได้เร่งแก้ปัญหาปุ๋ยแพง การส่งออกผลไม้ไปจีนติดขัด ส่วนการทุจริตถุงมือยาง ได้ติดตามใกล้ชิด เอาผิดทุกคนที่เกี่ยวข้อง
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยในชี้แจงการอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ว่า กระทรวงพาณิชย์ได้เดินหน้าแก้ไขปัญหาสินค้าราคาแพงอย่างเร่งด่วนทันทีที่มีปัญหาเกิดขึ้น โดยในช่วงเดือนม.ค.2565 ที่ผ่านมา ได้สั่งการให้กรมการค้าภายในประชุมร่วมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมผู้ผลิตสินค้า ผู้ประกอบการห้างค้าส่ง-ค้าปลีก และเกษตรกร ตรึงราคาสินค้าไว้ 18 กลุ่มสินค้าสำคัญประกอบด้วย 1.บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 2.น้ำอัดลม 3.เครื่องใช้ไฟฟ้า 4.ซอสปรุงรส 5.อาหารกระป๋อง 6.ข้าวสารถุง 7.นมผลิตภัณฑ์จากนม 8.อาหารสัตว์ 9.ปุ๋ย 10.ยาฆ่าแมลง 11.เหล็ก 12.ปูนซีเมนต์ 13.กระดาษ 14.ยาเวชภัณฑ์ บริการทางการแพทย์ 15.น้ำมันพืช 16.อาหารสด 17.ผลิตภัณฑ์ซักล้าง 18.บริการ โดยไม่ได้แพงขึ้นทั้งแผ่นดินอย่างที่ได้อภิปรายกันไว้ในสภาผู้แทนราษฎรแห่งนี้
สำหรับ ปัญหาไข่ไก่ราคาแพง กระทรวงพาณิชย์ได้ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แก้ปัญหาเสร็จสิ้นภายในไม่เกิน 4 วัน โดยสมาคมผู้เลี้ยงผู้ผลิตผู้ค้าและผู้ส่งออกไข่ไก่ประกาศแจ้งจะปรับราคาไข่คละหน้าฟาร์มจาก 2.80 บาทต่อฟอง เป็น 3 บาทต่อฟอง วันรุ่งขึ้นกระทรวงพาณิชย์เชิญประชุมสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ สหกรณ์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้รับความร่วมมือตรึงราคาไข่หน้าฟาร์มไม่เกิน 2.90 บาทต่อฟอง โดยยุคนี้ราคาไข่สูงสุด ยังถูกกว่าหลายยุคที่ผ่านมา ไม่ได้แพง
ส่วนไก่ ที่หลายคนห่วงว่าหมูขึ้นราคาแพงแล้ว คนหันไปกินไก่ จะทำให้ไก่ราคาแพงขึ้น แต่ไม่เป็นอย่างนั้นเพราะดระทรวงพาณิชย์เข้าไปแก้ปัญหาอย่างทันท่วงที ประกาศไก่เป็นสินค้าควบคุม มีการกำกับราคาไก่เนื้อหน้าฟาร์มไม่เกินกิโลกรัม (กก.) ละ 40 บาท และขอห้าง 3 ห้างจำหน่าย โดย 1.ไก่สดทั้งตัวไม่เกิน กก.ละ 65 บาท 2.น่องติดสะโพกไม่เกิน กก.ละ 65 บาท 3.น่องแยก สะโพกแยก ไม่เกิน กก.ละ 65-70 บาท 4.เนื้อหน้าอก ไม่เกิน กก.ละ 70-75 บาท และช่วงตรุษจีนจัดเทศกาลไก่ต้มไหว้เจ้า 189 บาท ขนาด 1.4-1.7 กก.ต่อตัว จำนวน 100,000 ตัว ซึ่งสามารถเข้าไปแก้ปัญหาได้ในเวลาที่รวดเร็วทันเหตุการณ์
ขณะที่ราคาน้ำมันปาล์มขวด ปรับสูงขึ้นจริงอย่างมีนัยยะสำคัญ เพราะประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาราคาผลปาล์มดิบ จากอดีต กก.ละ 2-3 บาท เพิ่มเป็น กก.ละ 9.11 บาท บางช่วง 12 บาท สูงสุดในประวัติศาสตร์ ส่งผลให้ราคาน้ำมันปาล์มขวดขึ้นจาก 42 บาท เป็น 50-62 บาท แต่ตามโครงสร้างจริง หากผลปาล์มดิบอยู่ที่ กก.ละ 11 บาท ราคาน้ำมันปาล์มขวดควรไปถึงขวดละ 72.50 บาท แต่ก็ยังกำกับดูแลไม่ให้สูงจนกระทบผู้บริโภค และผู้ประกอบการอยู่ได้ และเมื่อราคาผลปาล์มลดลง ก็จะเข้าไปกำกับดูแลน้ำมันปาล์มขวดให้ปรับลดลงต่อไป
อย่างไรก็ตาม เนื้อหมู ยอมรับว่าราคาสูงขึ้นจริง เพราะผลผลิตหายไป ต้นทุนการเลี้ยงเพิ่มขึ้น 14% ส่งผลให้สุกรมีชีวิตราคาสูงขึ้น โดยกระทรวงพาณิชย์ได้เข้าไปแก้ไขปัญหาทันทีด้วยการห้ามส่งออกหมูเป็น ทำให้มีหมูเข้าสู่ระบบอีก 1 ล้านตัว ขณะที่กรมปศุสัตว์ได้เร่งผลิตลูกหมูป้อนเดือนละ 3 แสนตัว ธ.ก.ส.จัดเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้ผู้เลี้ยงหมู 3 หมื่นล้านบาท เพื่อกระตุ้นการเลี้ยง และยังได้ร่วมกับหน่วยงานฝ่ายความมั่นคง กระทรวงเกษตรฯ ออกตรวจสต๊อกหมูทั่วประเทศ พบผิด 38 คดี อายัดหมูไว้ 9.8 แสน กก. ถ้าไม่พบความผิด หรือศาลตัดสินแล้ว ก็จะนำเข้าสู่ระบบต่อไป ซึ่งผลการดำเนินการ ปัจจุบันราคาเนื้อหมูปรับตัวลดลงต่อเนื่อง โดยเฉพาะห้างแม็คโคร ถือเป็นตัวชี้นำตลาด เมื่อวานลงมาเหลือแค่กก.ละ 138 บาท ภาวะหมูแพงในช่วงต้นปี ตอนนี้คลี่คลายลงมาอย่างมีนัยยะสำคัญ
ทางด้านพืชผลทางการเกษตร ภาพรวมดีขึ้นเกือบทุกตัว โดยข้าวเปลือกเจ้า เฉลี่ยปี 2564 ตันละ 8,918 บาท เดือนม.ค.2565 ตันละ 8,156 บาท เดือนก.พ. 8,329 บาท มันสำปะหลัง เมื่อก่อน กก. ละ 1 บาทกว่า ตอนนี้ 2.50-2.60 บาทต่อกก. บางช่วงถึง 2.70 บาทต่อ กก. ยางพาราที่เคยบอก 3 กิโลกรัม 100 ช่วงนี้ ยางแผ่นดิบชั้น 3 กก. ละ 60.55 บาท น้ำยางสด กก. ละ 65 บาท ขี้ยางหรือยางก้อนถ้วย ตอนนี้ กก. ละ 25-27 บาท ปาล์มน้ำมัน กก.ละ 8.90 บาท ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ความชื้น 14.5% กก. ละ 10 บาท ผลไม้ยิ่งราคาสูง ทุเรียนราคาเฉลี่ยปี 2564 ราคา 113.98 บาทต่อกก. สูงสุดถึง 165 บาทต่อ กก. มังคุดเฉลี่ยปี 2564 ราคา 48.77 บาทต่อกก. สูงสุดถึง 210 บาทต่อ กก. มะพร้าว 12.47 บาทต่อลูก ลองกองเบอร์หนึ่ง 32 บาทต่อกก. สูงสุดถึง 50 บาทต่อ กก. ลำไยเกรดเอ ปี 2564 เฉลี่ยทั้งปี 21.65 บาทต่อ กก.
นายจุรินทร์ กล่าวว่า เรื่องปุ๋ยแพง ได้เข้าไปดูแล โดยเจรจากับผู้ผลิตให้พยายามตรึงราคา และเจรจากับผู้ผลิต ผู้นำเข้า จัดปุ๋ยราคาถูก 4.5 แสนกระสอบ 84 สูตร ลดราคากระสอบละ 20-50 บาท ส่วนที่ถามว่า ทำไมไม่ใช่เงินรัฐบาลอุดหนุนเพื่อให้ราคาปุ๋ยลดลง กระทรวงพาณิชย์ได้ของบกลาง 960 ล้านบาท มาช่วยลดราคาปุ๋ย ตั้งแต่ 21 ม.ค.2564 แต่สำนักงบประมาณ ตอบมา 28 มิ.ย.2564 ว่าไม่ใช่หน้าที่กระทรวงพาณิชย์ เพราะเป็นเรื่องการผลิต จากนั้นวันที่ 3 ก.พ.2565 ได้ทำหนังสือของบประมาณอีก 123 ล้านบาท เป็นงบเงินกู้ มาชดเชยดอกเบี้ยให้กับผู้นำเข้าและสหกรณ์ 3% ซึ่งรอผลพิจารณาจากสภาพัฒน์ และวันที่ 29 ธ.ค.2564 กระทรวงเกษตรฯ ของบเงินกู้ 570 ล้านบาท เพื่อชดเชยกระสอบละ 50 บาท ตอนนี้ติดขั้นตอนอนุกรรมการเงินกู้ พิจารณาบอกว่าไม่ตรงวัตถุประสงค์การกู้เงิน ต้องรอกรรมการใหญ่อนุเคราะห์ต่อไปว่าจะทำอย่างไร แต่ขณะนี้ แนวโน้มราคาปุ๋ยเริ่มลดลงแล้ว เพราะจีนผลิตมากขึ้น อินเดียประมูลปุ๋ยในราคาต่ำ
ทางด้านการแก้ไขปัญหาส่งออกผลไม้ไปจีน ได้มีการติดตามและแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน ซึ่งขณะนี้ ด่านโหย่วอี้กวาน ผิงเสียง ตงซิง และโมฮั่น ยังเปิดปกติ แต่เข้มงวดจากเมื่อก่อนสุ่มตรวจบางตู้ เป็นตรวจทุกตู้ ทำให้การจราจรติดขัด ไม่เฉพาะสินค้าจากไทย แต่จากลาวและเวียดนามด้วย เป็นนโยบายของจีน Zero-Covid แต่ได้ให้ทูตพาณิชย์ทูตเกษตร กระทรวงการต่างประเทศรายงานทุกวัน พยายามเจรจากับจีนให้ล้งที่ผ่านกระบวนการอบรมหลักสูตร 'ล้งปลอดโควิด-19' มี GMP Plus รับรอง ผ่านด่านจีนได้โดยไม่ต้องเปิดทุกตู้ ถ้าประสบความสำเร็จจะช่วยแก้ปัญหาได้มาก ทั้งนี้ ผลไม้ไทยยังไปได้ทางเรือ ทางอากาศ
ส่วนเรื่องการสอบเรื่องถุงมือยาง ได้ติดตามตลอด มีการตั้งกรรมการสอบ 2 ส่วน 1.สอบวินัย 2.สอบทางละเมิด ซึ่งชุดวินัยสอบจบ มี 3-4 คน ที่ต้องรับความผิดลงโทษทางวินัย และชี้แล้วว่าให้ไล่ออกทั้งหมด ส่วนความผิดทางละเมิดผู้ที่ต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายให้กับองค์การคลังสินค้า (อคส.) 2,000 ล้านบาท บวกดอกเบี้ย ส่งเรื่องให้กระทรวงการคลังแล้ว กระทรวงการคลังมีหน้าที่ตามกฎหมายชี้ขาดว่าใครต้องจ่ายจำนวนเท่าไร ซึ่งขั้นตอนกระบวนการเหล่านี้ จะต้องดำเนินการต่อไปตามกฏหมาย ส่วนที่เหลืออยู่ในขั้นตอนการดำเนินการของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช) และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.)