- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Monday, 07 February 2022 22:54
- Hits: 11075
สนค.วิเคราะห์ไทย-ซาอุฯ ฟื้นความสัมพันธ์ เพิ่มความร่วมมือ 5 ด้าน ดันส่งออกโต
สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) วิเคราะห์การฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-ซาอุดิอาระเบีย ช่วยเพิ่มความร่วมมือใน 5 ด้าน แรงงาน การลงทุน การท่องเที่ยว การค้า และอาหาร และจะช่วยเพิ่มมูลค่าการส่งออกกลับไปยืนเหนือระดับ 1 แสนล้านบาทได้ พร้อมชี้เป้ากลุ่มสินค้าที่มีโอกาส มีทั้งเกษตร และอุตสาหกรรม
นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สนค. ได้ทำการศึกษาโอกาสการส่งออกสินค้าไปตลาดซาอุดีอาระเบีย หลังมีการฟื้นความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน ตามนโยบายที่ได้รับจากนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พบว่า ผลจากการฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตในครั้งนี้ ในแง่เศรษฐกิจการค้า ทั้ง 2 ฝ่าย สามารถสร้างความร่วมมือได้ใน 5 ด้านหลัก ได้แก่ แรงงาน การลงทุน การท่องเที่ยว การค้า และอาหาร และมูลค่าการค้าระหว่างกันจะขยายตัวได้เพิ่มขึ้น โดยเชื่อว่าการส่งออกของไทยไปซาอุดิอาระเบีย จะสามารถกลับไปเหนือระดับ 100,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นระดับที่ไทยเคยมีมูลค่าการส่งออกไปซาอุฯ สูงสุดในปี 2557
ทั้งนี้ ในปี 2565 คาดว่ามูลค่าการค้ารวมระหว่าง 2 ประเทศ จะอยู่ที่ประมาณ 280,336 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20.3% โดยการส่งออก มีมูลค่า 54,678 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.2% การนำเข้า มีมูลค่า 225,658 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24.3% และขาดดุลการค้า 170,980 ล้านบาท
สำหรับ สินค้าส่งออกที่มีแนวโน้มเติบโตสูง ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป และผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็งและแห้ง ส่วนสินค้านำเข้าที่มีแนวโน้มเติบโตสูง ได้แก่ น้ำมันดิบ เคมีภัณฑ์ น้ำมันสำเร็จรูป สินแร่โลหะอื่นๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ แร่และผลิตภัณฑ์จากแร่ เครื่องใช้และเครื่องตกแต่งภายในบ้านเรือน และส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์
นายรณรงค์ กล่าวว่า สนค. ยังได้ประเมินสินค้าส่งออกศักยภาพที่มีโอกาสและคุ้มค่าต่อการผลักดันไปยังตลาดซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นสินค้าที่ไทยมีศักยภาพในตลาดซาอุดีอาระเบียอยู่เดิม รวมถึงสินค้าที่ซาอุดีอาระเบีย มีแนวโน้มนำเข้าจากตลาดโลกเพิ่มขึ้นตลอด 3-5 ปีที่ผ่านมา โดยกลุ่มสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร เช่น ข้าว ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง เช่น มะพร้าว เม็ดมะม่วงหิมพานต์ เนื้อปลาสด แช่เย็น แช่แข็ง ปลาปรุงแต่ง เช่น ปลาทูน่าปรุงแต่ง กาแฟ ขนมจากน้ำตาล (แบบไม่มีโกโก้ผสม) อาหารปรุงแต่งจากธัญพืช เป็นต้น
ส่วนสินค้าอุตสาหกรรม เช่น รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ยางรถยนต์สำหรับรถยนต์นั่ง รถบัสและรถบรรทุก ตู้เย็น ตู้แช่แข็ง และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน เครื่องระบายอากาศหรือเครื่องหมุนเวียนอากาศที่มีพัดลมประกอบร่วมอยู่ด้วย เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับตัดต่อหรือป้องกันวงจรไฟฟ้า เครื่องประดับเพชรพลอย อุปกรณ์ติดตั้งของหลอดหรือท่อ เช่น ข้อต่อ ข้องอ ปลอกเลื่อน ทำด้วยเหล็กหรือเหล็กกล้า ไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ เอสเซนเชียลออยล์ เป็นต้น
ตลาดซาอุดิอาระเบีย เป็นตลาดที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคตะวันออกกลาง รองจากตุรกี จากข้อมูลของธนาคารโลก (World Bank) ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของซาอุฯ อยู่ที่ประมาณ 700 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ มีรายได้ต่อหัวเฉลี่ย 46,700 เหรียญสหรัฐ คาดว่า ในปี 2565 เศรษฐกิจของซาอุฯ จะขยายตัว 4.9% จากราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น และกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ไม่เกี่ยวข้องกับน้ำมันจะฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งจากการลงทุนที่ขยายตัว และยังมองว่าเศรษฐกิจของซาอุฯ ในปี 2566 จะยังคงขยายตัวที่ 2.3%
ทางด้านการส่งออกของไทยไปซาอุฯ ก่อนหน้าที่จะลดความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน เฉลี่ยอยู่ที่ 2.4% (เฉลี่ยปี 2527–2531) และเริ่มลดลงนับแต่นั้น โดยปี 2533 การส่งออกไปซาอุฯ หดตัว 11% แต่ก็ยังมีการค้าระหว่างกันอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีสัดส่วนการส่งออกที่ลดลงก็ตาม ในปี 2548 สัดส่วนการส่งออกไปซาอุฯ เริ่มปรับตัวดีขึ้น และมูลค่าการส่งออกขยายตัวสูงถึง 63.6% เนื่องจากซาอุฯ เข้าร่วมเป็นประเทศสมาชิกขององค์การการค้าโลก (WTO) และมีการเปิดกว้างทางการค้ากับต่างประเทศมากขึ้น หลังจากนั้น สัดส่วนการส่งออกไปซาอุฯ ปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ
ขณะที่มูลค่าการส่งออกก็เติบโตได้ในเกณฑ์ดี จนกระทั่งปี 2558 การส่งออกเริ่มชะลอตัวลงอีกครั้ง ทำให้ซาอุฯ จากที่เคยเป็นตลาดส่งออกอันดับที่ 21 ในปี 2558 มีสัดส่วน 1.4% ต่อการส่งออกรวม ลดลงมาเป็นอันดับที่ 29 และปี 2564 สัดส่วนลดเหลือ 0.6% ต่อการส่งออกรวม จากผลกระทบของราคาน้ำมันดิบตกต่ำ และความไม่สงบในตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นปัจจัยภายในของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่กระทบต่อการค้าระหว่างประเทศ โดยสินค้าที่หดตัวลงในช่วงเวลาดังกล่าว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้า ข้าว และผลิตภัณฑ์ยาง ขณะที่ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ อัญมณีและเครื่องประดับ เม็ดพลาสติก และอาหารสัตว์เลี้ยง เติบโตอย่างต่อเนื่อง