- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Sunday, 23 January 2022 17:33
- Hits: 16373
ไทยแชมป์ส่งออก 'สิ่งปรุงรสอาหาร' อาเซียน แนะลุยต่อใช้ FTA สร้างความได้เปรียบ
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศติดตามสถิติการส่งออก 'สินค้าสิ่งปรุงรสอาหาร' ปี 64 ทำยอด 949.11 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 12% เป็นการส่งออกไปยังคู่ FTA ถึง 509.32 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 53.66% ของการส่งออกรวม เผยไทยเป็นผู้ส่งออกอันดับ 1 ในอาเซียน มีสัดส่วนสูงถึง 30% หลังทุกประเทศยกเลิกเก็บภาษีกับไทยแล้ว และเป็นอันดับ 4 ของโลก แนะผู้ส่งออกเข้มคุณภาพ มาตรฐาน และอย่าลืมใช้สิทธิ์ FTA-RCEP สร้างความได้เปรียบ
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ติดตามสถิติการส่งออกสินค้าสิ่งปรุงรสอาหาร ในปี 2564 (ม.ค.-ธ.ค.) พบว่า มีมูลค่า 949.11 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 12% โดยเป็นการส่งออกไปประเทศคู่เจรจา FTA มูลค่ารวม 509.32 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 53.66% ของการส่งออกสิ่งปรุงรสอาหารทั้งหมดของไทย ตลาดส่งออกสำคัญส่วนใหญ่ขยายตัวได้ดี เช่น อาเซียน เป็นตลาดส่งออกอันดับที่ 1 ของไทย มีสัดส่วนการส่งออกถึง 30% ของการส่งออกทั้งหมด เพิ่ม 10% สหรัฐฯ เพิ่ม 13% เนเธอร์แลนด์ เพิ่ม 26% จีน เพิ่ม 18% และเกาหลีใต้ เพิ่ม 6% เป็นต้น สินค้าส่งออกที่ขยายตัวได้ดี เช่น ซอสพริก เพิ่ม 37% ซอสถั่วเหลือง เพิ่ม 27% น้ำปลา เพิ่ม 20% ผงปรุงรส เพิ่ม 11% ซอสมะเขือเทศ เพิ่ม 7% และสิ่งปรุงรสอื่นๆ เพิ่ม 6%
ทั้งนี้ ปัจจุบัน 15 ประเทศคู่ FTA ของไทย ได้แก่ อาเซียน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ จีน ฮ่องกง ชิลี และเปรู ได้ยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าสิ่งปรุงรสอาหารที่ส่งออกจากไทยแล้วทุกรายการ เหลือเพียง 3 ประเทศ ที่ยังคงภาษีนำเข้าในสินค้าบางรายการ ได้แก่ ญี่ปุ่น เก็บภาษีนำเข้าซอสมะเขือเทศ 15.3-17% เกาหลีใต้ เก็บภาษีนำเข้าซอสถั่วเหลืองและเต้าเจี้ยว 5% และอินเดีย เก็บภาษีซอสและสิ่งปรุงรส 30% และตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.2565 ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งเป็นความตกลง FTA ฉบับล่าสุดของไทย จะมีผลบังคับให้เกาหลีใต้ทยอยลดภาษีนำเข้าสินค้าเต้าเจี้ยวให้ไทยจนเหลือ 0% ภายในปี 2579
นางอรมน กล่าวว่า สินค้าสิ่งปรุงรสอาหาร เป็นสินค้าดาวรุ่งของไทย ที่มีศักยภาพทั้งการผลิตและการส่งออก ซึ่งปัจจุบันไทยเป็นผู้ส่งออกสิ่งปรุงรสอาหารอันดับ 1 ในอาเซียน และเป็นอันดับ 4 ของโลก รองจากสหภาพยุโรป สหรัฐฯ และจีน โดยสินค้าสิ่งปรุงรสอาหาร มีแนวโน้มเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น เนื่องจากประชาชนหันมาประกอบอาหารรับประทานในครัวเรือน โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โควิด-19 จึงเป็นโอกาสที่สินค้าไทยจะขยายตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ
“ตลาดสิ่งปรุงรสอาหารไทยมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง เพราะผู้บริโภคในต่างประเทศนิยมรสชาติอาหารไทย และมีสินค้าวางจำหน่ายในซุปเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำ รวมทั้งการขยายตัวของธุรกิจร้านอาหารและภัตตาคารไทยในต่างประเทศ ทำให้อาหารไทยเป็นที่รู้จักมากขึ้น และเป็นปัจจัยหนุนให้การส่งออกเติบโตในระยะยาว ดังนั้น ผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญกับคุณภาพมาตรฐานและส่วนผสมของวัตถุดิบไม่ให้มีสารปนเปื้อน พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลาย มีฉลากคำอธิบาย และบรรจุภัณฑ์ที่สวยงาม ตอบโจทย์ด้านความสะดวกและกลุ่มผู้บริโภคที่รักสุขภาพ และอย่าลืมใช้สิทธิ์ FTA ในการสร้างความได้เปรียบในการส่งออกด้วย”นางอรมนกล่าว