- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Wednesday, 19 January 2022 15:33
- Hits: 9507
กรมเจรจาฯ แนะผู้ประกอบการใช้ประโยชน์ FTA ขยายตลาดส่งออกโปรตีนจากพืช
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเผยเทรนด์การบริโภคอาหารโปรตีนจากพืชกำลังมาแรง แนะผู้ประกอบการใช้ประโยชน์จาก FTA ขยายการส่งออกและเพิ่มข้อได้เปรียบในการแข่งขัน เผยปัจจุบัน 16 ประเทศไม่เก็บภาษีนำเข้า เหลือแค่เกาหลีใต้ เก็บภาษีเต้าหู้ และญี่ปุ่น เก็บภาษีโปรตีนจากพืชที่มีส่วนผสมของน้ำตาล
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ปัจจุบันสินค้าอาหารกลุ่มโปรตีนจากพืช (plant-based products) ที่ผ่านกรรมวิธีแปรรูปให้มีลักษณะแบบเดียวกับเนื้อสัตว์ กำลังเป็นสินค้าที่น่าจับตามอง เนื่องจากได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น จากกระแสการดูแลสุขภาพของผู้บริโภค โดยองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) คาดการณ์ว่า ในปี 2565 ตลาดสินค้าโปรตีนจากพืชจะขยายตัวสูงกว่า 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ประเทศผู้ส่งออกสำคัญ ได้แก่ สหรัฐฯ จีน และสหภาพยุโรป ส่วนไทยส่งออกสินค้าอาหารกลุ่มโปรตีนจากพืชอันดับที่ 25 ของโลก และอันดับที่ 3 ของอาเซียน รองจากสิงคโปร์ และมาเลเซีย
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการสามารถใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่ไทยมีกับคู่ค้า 18 ประเทศ เพื่อขยายการส่งออกสินค้า และเพิ่มข้อได้เปรียบทางการแข่งขัน โดยปัจจุบันคู่เจรจา FTA 16 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน จีน ฮ่องกง ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย ชิลี และเปรู ไม่เก็บภาษีนำเข้าสินค้าโปรตีนจากพืชของไทยแล้ว ยกเว้นอีก 2 ประเทศ คือ เกาหลีใต้ ยังคงเก็บภาษีนำเข้าเต้าหู้ที่ภาษีอัตรา 5% และญี่ปุ่น ยังคงเก็บภาษีนำเข้าสินค้าโปรตีนจากพืชกลุ่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาลที่อัตรา 16.8-21%
อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.2565 ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งเป็นความตกลง FTA ฉบับล่าสุดของไทย จะมีผลบังคับใช้กับเกาหลีใต้ ทำให้เกาหลีใต้จะทยอยลดภาษีนำเข้าสินค้าเต้าหู้ให้ไทยจนเหลือ 0% ภายในปี 2579
นางอรมน กล่าวว่า ในการทำตลาด ผู้ประกอบการและเกษตรกรไทย จะต้องติดตามและปรับตัวให้เท่าทันกับพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไป เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค ที่ปัจจุบันนิยมอาหารโปรตีนจากพืชทดแทนเนื้อสัตว์เพิ่มขึ้น โดยการพัฒนาผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์จากพืชให้หลากหลาย เช่น รูปลักษณ์หรือรสชาติคล้ายเนื้อสัตว์ ประโยชน์ต่อสุขภาพ โปรตีนสูงและให้พลังงานต่ำ รวมทั้งยังเป็นโอกาสของเกษตรกรในการเพาะปลูกพืชที่ให้โปรตีนสูงประเภทถั่วหรือเห็ด มาป้อนอุตสาหกรรมแปรรูปโปรตีนจากพืชให้ตรงตามความต้องการของตลาดได้เพิ่มขึ้น
ปัจจุบัน ไทยส่งออกสินค้าโปรตีนจากพืช ในช่วง 11 เดือนของปี 2564 (ม.ค.-พ.ย.) มีมูลค่า 2.57 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยส่งออกไปหลายประเทศเพิ่มขึ้น เช่น อาเซียน ซึ่งเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย เพิ่ม 43% โดยเมียนมา เพิ่ม 82% สิงคโปร์ เพิ่ม 195% และสปป.ลาว เพิ่ม 969% จีน เพิ่ม 27% และออสเตรเลีย เพิ่ม 502% เป็นต้น