- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Thursday, 13 January 2022 18:33
- Hits: 15407
ส่งออก ใช้สิทธิ์ GSP 10 เดือนปี 64 มูลค่า 3,151 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 30.98%
กรมการค้าต่างประเทศเผยการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าภายใต้ระบบ GSP ช่วง 10 เดือนปี 64 มีมูลค่า 3,151 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 30.98% สหรัฐฯ นำโด่งใช้สิทธิ์มากสุด สินค้าสำคัญที่ใช้สิทธิ์มาก ถุงมือยาง ส่วนประกอบเครื่องปรับอากาศ อาหารปรุงแต่ง เลนส์แว่นตา และกรดซิทริก
นายพิทักษ์ อุดมวิชัยวัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า สถิติการใช้สิทธิประโยชน์สำหรับการส่งออกภายใต้ภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) ทั้ง 4 ระบบ ได้แก่ สหรัฐฯ สวิตเซอร์แลนด์ กลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช และนอร์เวย์ ในช่วง 10 เดือนของปี 2564 (ม.ค.-ต.ค.) มีมูลค่า 3,151 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 30.98% มีสัดส่วนการใช้สิทธิ์ 63.92% ของการได้รับสิทธิประโยชน์ทั้งหมดที่มีมูลค่า 4,929.32 ล้านเหรียญสหรัฐ
สำหรับ ตลาดส่งออกที่ไทยมีมูลค่าการใช้สิทธิ์ มากที่สุด คือ 1.สหรัฐฯ มูลค่า 2,808.20 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 37.11% ใช้สิทธิ์สัดส่วน 67.47% 2.สวิตเซอร์แลนด์ มูลค่า 221.09 ล้านเหรียญสหรัฐ ลด 3.64% ใช้สิทธิ์สัดส่วน 38.27% 3.กลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช มูลค่า 108.32 ล้านเหรียญสหรัฐ ลด 3.63% ใช้สิทธิ์สัดส่วน 64.31% และ 4.นอร์เวย์ มูลค่า 13.39 ล้านเหรียญสหรัฐ ลด 14.49% ใช้สิทธิ์สัดส่วน 64.24%
โดยสินค้าส่งออกที่มีการใช้สิทธิ์สูง เช่น กระเป๋าเดินทางขนาดใหญ่ (สวิตเซอร์แลนด์) ของผสมของสารที่มีกลิ่นหอมชนิดที่ใช้ในอุตสาหกรรมผลิตอาหารหรือเครื่องดื่ม (สวิตเซอร์แลนด์) น้ำ เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ (สหรัฐฯ) อาหารปรุงแต่ง (สหรัฐฯ , นอร์เวย์) ข้าวโพดหวาน (นอร์เวย์) ปลาทูน่า ปลา สคิปแจ็กและปลาโบนิโต (ชนิดซาร์ดา) (กลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช) เนื้อปลาแบบฟิลเล สด แช่เย็น แช่แข็ง (กลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช) เป็นต้น
ทั้งนี้ เฉพาะสหรัฐฯ มีสินค้าที่ใช้สิทธิ์มาก ได้แก่ ถุงมือยาง ส่วนประกอบเครื่องปรับอากาศ อาหารปรุงแต่ง เลนส์แว่นตาทำด้วยวัตถุอื่นๆ กรดซิทริก เป็นต้น และแม้ว่าโครงการ GSP สหรัฐฯ จะสิ้นสุดอายุเมื่อวันที่ 31 ธ.ค.2563 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ผู้นำเข้าสินค้าที่เคยได้รับสิทธิ GSP จะต้องชำระภาษีในอัตราปกติ (MFN rate) ไปจนกว่าจะมีการต่ออายุโครงการ แต่เพื่อเป็นการรักษาสิทธิ์ ผู้นำเข้าสามารถยื่นขอใช้สิทธิ์ GSP เพื่อนำเข้าสินค้าได้ตามปกติ โดยที่ผ่านมาสหรัฐฯ จะทำการคืนภาษีเมื่อโครงการได้รับการต่ออายุแล้ว
ผู้ประกอบการที่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้า สามารถค้นหาข้อมูลได้ที่เว็บไซต์กรมการค้าต่างประเทศ www.dft.go.th หรือโทร สายด่วน 1385 รวมถึงไลน์แอปพลิเคชันชื่อบัญชี “@gsp_helper”