- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Thursday, 06 January 2022 23:30
- Hits: 15402
สินิตย์’ มั่นใจ! RCEP เพิ่มโอกาสธุรกิจบริการ ดึงดูดการลงทุน ช่วยฟื้นเศรษฐกิจจากวิกฤตโควิด
‘สินิตย์’ มั่นใจ! ความตกลง RCEP เพิ่มโอกาสขยายส่งออกสินค้าและบริการ ดึงดูดการลงทุนเข้าประเทศ เกิดการจ้างงาน ช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจในภูมิภาคจากวิกฤตโควิด คาด!การลงทุนใน RCEP จะเพิ่มขึ้น ทั้งก่อสร้าง สุขภาพ ค้าปลีก การวิจัยและพัฒนา บริการสิ่งแวดล้อม แนะศึกษากฎระเบียบ พฤติกรรมผู้บริโภค ช่องทางจำหน่ายทั้งตลาดออนไลน์และออฟไลน์
นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) เริ่มมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ที่ผ่านมา ส่งผลให้ประเทศไทยซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิก RCEP ได้รับประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งจากการช่วยลดต้นทุนการผลิตและโอกาสส่งออกสินค้าและบริการ รวมทั้งดึงดูดการลงทุนเข้าประเทศ เพิ่มการจ้างงานให้กับแรงงานที่มีฝีมือและบุคลากรด้านวิชาชีพ และส่งเสริมบทบาทของไทยในฐานะห่วงโซ่การผลิตที่สำคัญของภูมิภาค
รมช.พาณิชย์ กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมในภาคบริการอย่างมาก อาทิ การท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหาร และการบิน ซึ่งความตกลง RCEP เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่จะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของไทยและประเทศในภูมิภาค โดยการเปิดตลาดภาคบริการของประเทศสมาชิกจะช่วยเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยเข้าไปลงทุนในสาขาที่ไทยมีศักยภาพ อาทิ ก่อสร้าง ธุรกิจเกี่ยวเนื่องด้านสุขภาพ ภาพยนตร์และบันเทิง ประเภทเทคนิคตัดต่อภาพ/เสียง การผลิตแอนิเมชัน และค้าปลีก รวมทั้งยังช่วยสร้างโอกาสให้คนไทยสามารถเข้าไปทำงานในประเทศสมาชิก RCEP อีกด้วย
นอกจากนี้ การลดหรือยกเลิกกฎระเบียบและมาตรการที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุน จะช่วยดึงดูดการลงทุนในสาขาที่ไทยมีความต้องการและเกิดเป็นเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้อย่างต่อเนื่อง อาทิ การวิจัยและพัฒนา บริการสิ่งแวดล้อม การศึกษา ซ่อมบำรุงชิ้นส่วนอากาศยาน/เรือขนาดใหญ่/อุปกรณ์ขนส่งทางราง และการผลิตหุ่นยนต์ เพื่อเป็นพื้นฐานการพัฒนาอุตสาหกรรมและการสนับสนุนห่วงโซ่การผลิตในประเทศ ตลอดจนการต่อยอดอุตสาหกรรมเป้าหมาย S curve ซึ่งจีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ ถือเป็นนักลงทุนรายใหญ่ที่มีการลงทุนในอาเซียนสูง และนักลงทุนไทยก็เข้าไปลงทุนในอาเซียนเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน
ทั้งนี้ ภูมิภาค RCEP ถือเป็นฐานการผลิตที่สำคัญและเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก ถึงแม้ว่าทั่วโลกจะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่สำหรับการลงทุนในภูมิภาค RCEP ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง ซึ่งในปี 2563 ได้รับเม็ดเงินลงทุน (FDI Inflow) มูลค่า 329,054 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของเม็ดเงินลงทุนของโลก โดยหลังจากนี้ความตกลง RCEP จะทำให้มีการลงทุนเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากห่วงโซ่การผลิตในภูมิภาคขยายตัวและแข็งแรงขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากการอำนวยความสะดวกและการลดอุปสรรคทางการค้า รวมทั้งส่งเสริมการใช้วัตถุดิบภายในภูมิภาค ทำให้เกิดการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมการผลิตและกิจการภาคบริการต่อเนื่องเพิ่มมากขึ้น
“ขอให้ผู้ประกอบการ เกษตรกร หรือผู้สนใจทำการค้าในตลาด RCEP เร่งใช้ประโยชน์จากความตกลงฯ ทำความเข้าใจกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องของแต่ละประเทศสมาชิก และศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภค ตลอดจนช่องทางการจำหน่ายทั้งตลาดออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อสร้างแต้มต่อทางการค้าในตลาด RCEP ได้อย่างมีประสิทธิภาพ” รมช.พาณิชย์ เสริม
กระทรวงพาณิชย์ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ