- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Wednesday, 05 January 2022 13:51
- Hits: 13192
น้ำมันขึ้น-หมูแพง ดันเงินเฟ้อธ.ค.64 เพิ่ม 2.17% ทั้งปีบวก 1.23% ใกล้เคียงเป้า
เงินเฟ้อ ธ.ค.64 เพิ่มขึ้น 2.17% หลังราคาน้ำมันยังคงเพิ่มสูงขึ้น เนื้อหมู ขยับแรง ผัก ไข่ นม อาหารบริโภคในบ้าน นอกบ้าน น้ำมันปาล์ม ราคาสูงขึ้น ส่วนทั้งปี เพิ่ม 1.23% ใกล้เคียงที่ประมาณการณ์ไว้ คงเป้าปี 2565 เท่าเดิม 0.8-2.4% ค่ากลาง 1.5% แม้โอมิครอนระบาด
นายรณรงค์ พูนพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนธ.ค.2564 เท่ากับ 101.86 เทียบกับเดือนพ.ย.2564 ลดลง 0.38% เทียบกับธ.ค.2563 เพิ่มขึ้น 2.17% ส่วนเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี 2564 (ม.ค.-ธ.ค.) เพิ่มขึ้น 1.23% ใกล้เคียงกับที่ประมาณการณ์ไว้ที่ 0.8-1.2% ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐาน ที่หักอาหารสดและพลังงานที่มีความผันผวนด้านราคาออก พบว่า ดัชนีอยู่ที่ 100.73 เพิ่มขึ้น 0.05% เมื่อเทียบกับเดือนพ.ย.2564 และเพิ่มขึ้น 0.29% เมื่อเทียบกับเดือนธ.ค.2563 และเฉลี่ยทั้งปี 2564 เพิ่มขึ้น 0.23%
สาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อในเดือนธ.ค.2564 เพิ่มขึ้น มาจากการเพิ่มขึ้นของสินค้าที่สำคัญหลายรายการ โดยน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่ม 26.26% แม้รัฐบาลจะช่วยตรึงราคาน้ำมันดีเซล แต่ราคาขายปลีกในประเทศยังสูงกว่าเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว ที่มีราคาค่อนข้างต่ำ เนื้อสุกร เพิ่มขึ้นตามต้นทุนการเลี้ยง ทั้งค่าอาหารสัตว์ ค่าดูแลและการป้องกันโรคระบาด ผู้เลี้ยงรายย่อยลดการเลี้ยง ทำให้หมูเข้าสู่ตลาดลดลง ขณะที่ผักสด เช่น มะเขือ กะหล่ำปลี ผักกาดขาว ผักบุ้ง ถั่วฝักยาว เพิ่มสูงขึ้นตามความต้องการที่สูงขึ้น ไข่และผลิตภัณฑ์นม เพิ่มขึ้นตามต้นทุนการเลี้ยง อาหารบริโภคในบ้านและนอกบ้าน เพิ่มขึ้นตามต้นทุนวัตถุดิบ น้ำมันปาล์ม ราคาขึ้นตามวัตถุดิบ สบู่ แชมพู ครีมนวดผม สูงขึ้นหลังสิ้นสุดโปรโมชัน บุหรี่ สูงขึ้นจากการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิต
ส่วนสินค้าที่ราคาลดลง เช่น ข้าวสารเจ้าและข้าวสารเหนียว จากผลผลิตที่มีมากขึ้น ผลไม้ เช่น เงาะ ส้มเขียวหวาน น้ำดื่ม กาแฟผงสำเร็จรูป ที่ลดลงจากการกระตุ้นการขาย เสื้อผ้า ค่ากระแสไฟฟ้า จากมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ ค่าเช่าบ้าน และค่าลงทะเบียน ค่าธรรมเนียมการศึกษา ขณะที่สินค้าอื่น ๆ เช่น เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด และของใช้ส่วนบุคคล ยังเคลื่อนไหวในทิศทางที่ปกติ สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจและปริมาณผลผลิต
นายรณรงค์กล่าวว่า การคาดการณ์เงินเฟ้อปี 2565 เดิมคาดไว้ว่าจะอยู่ในช่วง 0.7-2.4% มาวันนี้ ผ่านมา 1 เดือนมีการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน แต่ก็ยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญที่จะทำให้เงินเฟ้อทั้งปี 2565 มีอัตราแตกต่างจากเดิม สนค. จึงยังยืนยันเงินเฟ้อทั้งปี 2565 ไว้ตามที่ประเมินเอาไว้เดิม โดยมีค่ากลางอยู่ที่ 1.5%
สำหรับ ปัจจัยที่มีผลต่อการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อในปีนี้ มาจากแรงสนับสนุนจากการท่องเที่ยว การส่งออก การผลิต และความต้องการด้านพลังงาน รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐในรูปแบบต่าง ๆ ที่จะช่วยกระตุ้นกำลังซื้อของประชาชน ส่วนปัจจัยที่จะมีผลกระทบ มาจากการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิต การขนส่ง เงินบาท และการขาดแคลนแรงงาน และยังต้องจับตาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน
สรุปสถานการณ์ราคาสินค้าและบริการ เดือนธันวาคม 2564 ??️??
.
? ภาพรวม
ดัชนี ราคาผู้บริโภค หรือเงินเฟ้อทั่วไป เดือนธันวาคม 2564 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้นร้อยละ 2.17 (YoY) สูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวจากเดือนก่อนหน้า ที่สูงขึ้นร้อยละ 2.71 จากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศที่สูงน้อยกว่าที่ควรจะเป็น เนื่องจากมาตรการตรึงราคาน้ำมันของภาครัฐ ขณะที่สินค้าในกลุ่มอาหารสด อาทิ ราคาผักสดยังอยู่ในระดับสูงกว่าเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื้อสุกรและไข่ไก่ ปรับสูงขึ้นตามต้นทุนการเลี้ยง
โดยเฉพาะราคาเนื้อสุกรปรับเพิ่มตามค่าบริหารจัดการโรคระบาดในสุกร นอกจากนี้ ปริมาณผลผลิตลดลง เนื่องจากผู้ประกอบการรายย่อยลดปริมาณการเลี้ยงสุกร รวมทั้ง น้ำมันพืช กับข้าวสำเร็จรูปและข้าวราดแกง ราคาปรับสูงขึ้นตามต้นทุนและวัตถุดิบ อย่างไรก็ตาม ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว ผลไม้สด เสื้อผ้า ค่าเช่าบ้าน ค่าเล่าเรียนและค่าธรรมเนียมการศึกษายังคงปรับลดลง ส่วนสินค้าอื่น ๆ อาทิ เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด และของใช้ส่วนบุคคลยังเคลื่อนไหวในทิศทางที่ปกติ สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจและปริมาณผลผลิต
. เงินเฟ้อที่สูงขึ้นในเดือนนี้ สอดคล้องกับเครื่องชี้วัดเศรษฐกิจสำคัญหลายตัว ด้านอุปสงค์ ได้แก่ ยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ทั้งการจัดเก็บจากการใช้จ่ายภายในประเทศและจากการนำเข้า รวมทั้งการส่งออกสินค้าที่ยังคงขยายตัวได้ดีและต่อเนื่อง ด้านอุปทาน ได้แก่ อัตราการใช้กำลังการผลิต และดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่ยังคงขยายตัวได้ดี นอกจากนี้ ยังสอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม ที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 มาอยู่ที่ระดับ 47.0 จากระดับ 45.2 ในเดือนก่อนหน้า รวมทั้ง ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างและดัชนีราคาผู้ผลิต ที่สูงขึ้นร้อยละ 8.9 และ 7.7 ตามลำดับ
. เงินเฟ้อพื้นฐาน เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก ในเดือนนี้ทรงตัวที่ร้อยละ 0.29 (YoY) เท่ากับเดือนก่อนเงินเฟ้อทั่วไป เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2564 ลดลงร้อยละ 0.38 (MoM) ไตรมาสที่ 4 ปี 2564 เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้นร้อยละ 2.42 (YoY) เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า สูงขึ้นร้อยละ 1.80 (QoQ) และเฉลี่ยทั้งปี 2564 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้นร้อยละ 1.23 (AoA)
? สรุปสถานการณ์เงินเฟ้อปี 2564
. เงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 2564 สูงขึ้นร้อยละ 1.23 ใกล้เคียงกับที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ว่าจะขยายตัวในช่วงร้อยละ 0.8 – 1.2 และเงินเฟ้อพื้นฐาน (ไม่รวมอาหารสดและพลังงาน) สูงขึ้นร้อยละ 0.23 ซึ่งขยายตัวเท่ากับปีก่อน ปัจจัยบวกที่ส่งผลต่อเงินเฟ้อในปีนี้ ได้แก่ น้ำมันเชื้อเพลิง จากอุปทานที่ไม่สมดุลกับอุปสงค์ของโลกที่เริ่มฟื้นตัว ส่งผลให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศและสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันสูงขึ้น ประกอบกับราคาผักสดเพิ่มสูงขึ้น จากปริมาณผลผลิตลดลง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วม และผลผลิตที่ต่ำกว่าปีก่อน ขณะที่เครื่องประกอบอาหาร อาหารบริโภคในบ้านและนอกบ้าน ราคาปรับสูงขึ้นตามต้นทุนวัตถุดิบ
สำหรับ ปัจจัยลบ ได้แก่ ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว และผลไม้สด จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้อุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศชะลอตัวลง รวมถึงผลผลิตมีปริมาณมากเมื่อเทียบกับปีก่อน นอกจากนี้ มาตรการช่วยเหลือของภาครัฐส่งผลให้ค่าสาธารณูปโภค ค่าเล่าเรียนและค่าธรรมเนียมการศึกษาลดลง ส่วนหมวดอื่นๆ เคลื่อนไหวในทิศทางปกติ เงินเฟ้อดังกล่าวชี้ว่า สถานการณ์ด้านราคาสินค้าและบริการของประเทศตลอดทั้งปี 2564 ยังอยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพ เคลื่อนไหวในทิศทางปกติ สอดคล้องกับปัจจัยด้านอุปทานและด้านอุปสงค์
? แนวโน้มเงินเฟ้อทั่วไป ปี 2565
คาดว่า จะมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นในระดับที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจทั้งด้านอุปสงค์และอุปทาน ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยด้านอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศจะได้รับแรงสนับสนุนจากการท่องเที่ยว การส่งออกสินค้า การผลิต และอุปสงค์ด้านพลังงาน รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐในรูปแบบต่าง ๆ ส่งผลดีต่อรายได้และกำลังซื้อของประชาชน สำหรับอุปทานที่ส่งผลต่อเงินเฟ้อ ได้แก่ แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิต การขนส่ง เงินบาทที่อ่อนค่าลง และการขาดแคลนแรงงาน ส่งผลต่อภาคการผลิตและสินค้าในหมวดอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม ปัจจัยและแนวโน้มเหล่านี้ยังมีความเสี่ยงและมีโอกาสผันผวน รวมถึงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของไทยอาจจะได้รับแรงกดดันจากโควิด-19 ซึ่งจะกดดันให้เงินเฟ้อของไทยขยายตัวได้อย่างจำกัด
. ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ว่าเงินเฟ้อในปี 2565 จะมีค่ากลางที่ร้อยละ 1.5 ซึ่งเป็นอัตราที่น่าจะสอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจและช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้อย่างเหมาะสม
.
ท่านสามารถดาวน์โหลดเอกสารประกอบการแถลงข่าว ได้ที่
?? http://www.tpso.moc.go.th/th/node/8939