- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Friday, 31 December 2021 08:12
- Hits: 14673
ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ 11 เดือน 5,571.51 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 26.69%
GIT เผยส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ 11 เดือน ปี 64 มีมูลค่า 5,571.51 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 26.69% เหตุตลาดสำคัญฟื้นตัวดีขึ้น สินค้าสำคัญส่งออกได้มากขึ้น ส่วนการส่งออกในระยะต่อไป ต้องจับตาโอมิครอน จะรุนแรงแค่ไหน แต่ละประเทศจะคุมเข็มกิจกรรมทางเศรษฐกิจหรือไม่ ย้ำเดินหน้าสร้างความเชื่อมั่น เตรียมพร้อมจัดงานพลอยและเครื่องประดับจันทบุรี 3-7 ก.พ.65
นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT เปิดเผยว่า การส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ ไม่รวมทองคำ เดือนพ.ย.2564 มีมูลค่า 636.97 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 24.77% หากรวมทองคำมีมูลค่า 1,034.29 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 54.05% และส่งออกรวม 11 เดือนของปี 2564 (ม.ค.-พ.ย.) ที่ไม่รวมทองคำ มีมูลค่า 5,571.51 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 26.69% หากรวมทองคำมีมูลค่า 9,215.67 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 47.49%
ปัจจัยที่ทำให้การส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับเพิ่มขึ้น มาจากการฟื้นตัวของตลาดสำคัญ ๆ ของไทย โดยสหรัฐฯ ที่เป็นตลาดส่งออกอันดับหนึ่ง เพิ่มขึ้น 53.26% อินเดีย เพิ่ม 59.91% สหราชอาณาจักร เพิ่ม 137.02% ญี่ปุ่น เพิ่ม 7.77% เบลเยียม เพิ่ม 19.71% ออสเตรเลีย เพิ่ม 14.61% สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพิ่ม 36.44% สวิตเซอร์แลนด์ เพิ่ม 75.99% ส่วนฮ่องกง และเยอรมนี ลด 0.68% และ 2.49%
ส่วนสินค้าสำคัญที่ส่งออกได้เพิ่มขึ้น เช่น เครื่องประดับเงิน เพิ่ม 20.42% เครื่องประดับทอง เพิ่ม 34.81% เครื่องประดับแพลทินัม เพิ่ม 58.03% เครื่องประดับเทียม เพิ่ม 8.10% เพชรเจียระไน เพิ่ม 34.84% พลอยเนื้อแข็งเจียระไน เพิ่ม 36.88% ส่วนพลอยเนื้ออ่อนเจียระไน ลดลง 3.12% ขณะที่ทองคำ ซึ่งเคยเป็นสินค้าส่งออกเพื่อเก็งกำไรช่วงที่ราคาทองคำสูงขึ้น ลดลง 72.29%
นายสุเมธ กล่าวว่า GIT ประเมินว่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับในเดือนธ.ค.2564 ซึ่งเป็นเดือนสุดท้ายของปี น่าจะยังดีขึ้นต่อเนื่อง เพราะเป็นช่วงเทศกาลคริสมาสต์และปีใหม่ ทำให้ภาพรวมการส่งออกทั้งปี 2564 ที่ไม่รวมทองคำจะขยายตัวเป็นบวกได้แน่นอน แต่การส่งออกในช่วงปี 2565 ต้องจับตาการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน โดยเฉพาะในตลาดสหรัฐฯ และยุโรป ที่มีความรุนแรงเพิ่มขึ้น ซึ่งต้องดูว่าแต่ละประเทศจะมีมาตรการเข้มงวดอะไรออกมา หากมีการล็อกดาวน์ หรือจำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ก็อาจจะมีผลกระทบต่อการบริโภคสินค้าในกลุ่มนี้ได้
ทั้งนี้ GIT มีแผนที่จะสร้างความเชื่อมั่นในการเป็นศูนย์กลางการผลิตและการค้าอัญมณีและเครื่องประดับของโลก เพื่อกระตุ้นความต้องการสินค้าของไทย โดยมีกำหนดจัดงาน “เทศกาลนานาชาติพลอยและเครื่องประดับจันทบุรี” ในวันที่ 3-7 ก.พ.2564 ที่ จ.จันทบุรี ซึ่งจะมีการเชิญผู้ซื้อ ผู้นำเข้า และนักท่องเที่ยวไปเลือกซื้อสินค้า มีการจัดกิจกรรมเจรจาจับคู่ธุรกิจออนไลน์ เพื่อกระตุ้นการส่งออก โดยภายในงานจะมีสินค้ามากมายมาจัดแสดง ได้แก่ พลอยดิบ พลอยเจียระไน อัญมณี วัตถุดิบประกอบอัญมณี เครื่องจักร อุปกรณ์ รวมถึงบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ และมีจุดจัดแสดง 3 จุด ได้แก่ ศูนย์ส่งเสริมอัญมณีและเครื่องประดับจันทบุรี , เคพี จิวเวลรี่เซ็นเตอร์ และตลาดพลอย ถนนศรีจันทร์