- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Friday, 31 December 2021 08:08
- Hits: 14340
พาณิชย์ แจงไทม์ไลน์แก้ปัญหาปุ๋ยแพง ช่วยเหลือเกษตรกร ตามข้อสั่งการนายกฯ
พาณิชย์ แจงไทม์ไลน์การแก้ไขปัญหาปุ๋ยแพง ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี เผยเริ่มของบช่วยเหลือตั้งแต่ พ.ค.64 แต่สำนักงบประมาณเห็นควรให้ 'เกษตร' เป็นคนทำ จึงแจ้งเรื่องต่อให้เกษตร ก่อนประชุมร่วมหลายครั้ง ล่าสุดคณะกรรมการส่งเสริมการใช้ปัจจัยการผลิตที่เหมาะสม สั่งเกษตรดำเนินการ ปัจจุบันกรมส่งเสริมการเกษตรทำเรื่องขอรับจัดสรรงบ 570 ล้านดูแลราคาปุ๋ยให้เกษตรกร ย้ำในช่วงที่ยังไม่ชัดเจน พาณิชย์ช่วยลดราคาปุ๋ย 84 สูตร ปริมาณ 4.5 ล้านกระสอบ มูลค่าส่วนลดกว่า 67 ล้าน แบบฟรีๆ ไปแล้ว
นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงการแก้ไขปัญหาปุ๋ยราคาแพง ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ว่า หลังจากที่นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์แก้ไขปัญหา นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาในทันที
โดยวันที่ 21 พ.ค.2564 ได้ทำหนังสือถึงสำนักงบประมาณขอรับงบกลางจำนวน 960 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนส่วนลดให้เกษตรกร จากนั้นวันที่ 28 มิ.ย.2564 สำนักงบประมาณมีหนังสือแจ้งกระทรวงพาณิชย์ว่าโครงการดังกล่าวเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรด้านต้นทุนปัจจัยการผลิตและเพิ่มผลผลิต เป็นภารกิจของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายกฯ จึงบัญชาให้กระทรวงพาณิชย์ประสานให้กระทรวงเกษตรฯ ดำเนินการ กระทรวงพาณิชย์ได้มีหนังสือถึงกระทรวงเกษตรฯ วันที่ 12 ก.ค.2564 แจ้งความเห็นสำนักงบประมาณและข้อสั่งการนายกฯ และจากนั้นได้ประชุมหารือระหว่างกระทรวงหลายรอบ รวมทั้งได้เรียนผู้บริหารระดับสูงทราบความคืบหน้าโดยตลอด
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 9 พ.ย.2564 กระทรวงพาณิชย์ยังได้แจ้งความเห็นของสำนักงบประมาณและข้อสั่งการนายกฯ ในการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการใช้ปัจจัยการผลิตที่เหมาะสม โดยที่ประชุมได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตร สังกัดกระทรวงเกษตรฯ เสนอโครงการ เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกร และเพื่อให้สอดคล้องกับความเห็นของสำนักงบประมาณ ต่อมาวันที่ 17 พ.ย.2564 กรมการค้าภายในจัดประชุมกับกรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมวิชาการเกษตร และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) เพื่อหารือแนวทางการดำเนินและเร่งรัดติดตามเรื่องการของบประมาณ
โดยที่ประชุมเห็นควรดำเนินโครงการตามแนวทางดังนี้ คือ 1.การนำเข้าแม่ปุ๋ย ควรมอบหมาย อ.ต.ก. ดำเนินการนำเข้าแม่ปุ๋ยเพื่อจำหน่ายให้แก่สถาบันเกษตรกร โดยชดเชยค่าใช้จ่ายในการนำเข้าในอัตรากระสอบละ 35 บาท ปริมาณเป้าหมาย 10 ล้านกระสอบ วงเงิน 350 ล้านบาท
2.สนับสนุนให้ภาคเอกชนนำเข้าปุ๋ยมาจำหน่ายให้แก่เกษตรกรโดยไม่ขาดตลาด และการชดเชยราคาปุ๋ยให้แก่เกษตรกร โดยชดเชยราคาปุ๋ยผ่านสถาบันเกษตรกร ในอัตรากระสอบละ 50 บาท ปริมาณเป้าหมาย 10 ล้านกระสอบ วงเงิน 500 ล้านบาท ชดเชยค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการให้แก่สถาบันเกษตรกร ในอัตรากระสอบละ 5 บาท ปริมาณเป้าหมาย 10 ล้านกระสอบ วงเงิน 50 ล้านบาท สนับสนุนสินเชื่อให้สถาบันเกษตรกรผ่านโครงการล้านละร้อย เพื่อเสริมสภาพคล่องในการจัดซื้อปุ๋ยมาจำหน่ายให้แก่สมาชิก วงเงินงบประมาณ รวมค่าบริหารจัดการ เป็นจำนวน 1,070 ล้านบาท
จากนั้นวันที่ 19 พ.ย.2564 กระทรวงพาณิชย์มีหนังสือแจ้งแนวทางดำเนินโครงการไปยังกระทรวงเกษตรฯและวันที่ 3 ธ.ค.2564 กรมการค้าภายในมีหนังสือถึงสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมการใช้ปัจจัยการผลิต เสนอให้พิจารณามอบ อ.ต.ก. ดำเนินการนำเข้าปุ๋ย และวันที่ 15 ธ.ค.2564 กรมส่งเสริมการเกษตรมีหนังสือแจ้งกระทรวงพาณิชย์
สรุปว่าอยู่ระหว่างเสนอขอรับจัดสรรงบประมาณวงเงิน 570 ล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายในการชดเชยปุ๋ย 50 บาทต่อกระสอบ จำนวน 10 ล้านกระสอบ วงเงิน 500 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการให้แก่สถาบันเกษตรกร 5 บาทต่อกระสอบ จำนวน 10 ล้านกระสอบ วงเงิน 50 ล้านบาท และบริหารจัดการโครงการ วงเงิน 20 ล้านบาท และวันที่ 28 ธ.ค.2564 กระทรวงพาณิชย์มีหนังสือถึงกรมส่งเสริมการเกษตร ขอทราบผลการพิจารณาของในส่วนการนำเข้าปุ๋ยอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าภายในกำลังอยู่ระหว่างเตรียมเสนอขอรับจัดสรรงบประมาณชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้ เพื่อเสริมสภาพคล่องให้แก่ผู้นำเข้าปุ๋ยเคมีและสถาบันเกษตรกร ให้สามารถจัดหาปุ๋ยเคมีมาจำหน่ายให้แก่เกษตรกรได้ด้วย
นอกจากนี้ ในระหว่างที่ดำเนินการแก้ไขปัญหาปุ๋ยแพง กระทรวงพาณิชย์ได้มีมาตรการเร่งด่วนในการช่วยเหลือเกษตรกร โดยได้จัดทำโครงการพาณิชย์ลดราคา! ปุ๋ยช่วยเกษตรกร ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.-31 ธ.ค.2564 โดยความร่วมมือกับผู้ประกอบการ 19 ราย ลดราคาปุ๋ย 20-50 บาทต่อกระสอบ จำนวน 84 สูตร ปริมาณรวม 4.5 ล้านกระสอบ ขณะนี้มีปริมาณการสั่งซื้อ 3.14 ล้านกระสอบ หักระบายสินค้าหมดอายุ 1.12 ล้านกระสอบ คงเหลือ 0.24 ล้านกระสอบ มูลค่าส่วนลดรวม 67.31 ล้านบาท ดำเนินโครงการโดยไม่ใช้งบประมาณแผ่นดิน แต่ใช้ความร่วมมือกับผู้ประกอบการปุ๋ย