- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Tuesday, 28 December 2021 21:54
- Hits: 16951
สินิตย์ ชวนผู้ประกอบการเตรียมใช้ประโยชน์จาก RCEP ตอบโจทย์การค้ายุคดิจิทัล
สินิตย์ เร่งเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการ SMEs ใช้ประโยชน์จากความตกลง RCEP ก้าวสู่การค้ายุคดิจิทัลและพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ รองรับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ชี้! RCEP จะช่วยผลักดันการพัฒนาระบบทรัพย์สินทางปัญญาในภูมิภาค ลดต้นทุน-เพิ่มโอกาสทางการค้า และเพิ่มมูลค่าผลผลิตของผู้ประกอบการไทย
นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า หลังจากสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) รวมถึงประเทศไทย ได้ร่วมกันให้สัตยาบันความตกลง RCEP ครบตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ ทำให้ความตกลง RCEP เริ่มมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 โดยความตกลง RCEP นอกจากจะครอบคลุมการเปิดเสรีการค้า ลดอุปสรรคทางการค้า ส่งเสริมการใช้วัตถุดิบภายในภูมิภาค และอำนวยความสะดวกทางการค้าที่เพิ่มมากขึ้นจากความตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่ไทยเป็นภาคีอยู่ก่อนหน้าแล้ว ยังมีข้อตกลงที่ตอบโจทย์กับการค้าในยุคชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) อีกด้วย
รมช.พาณิชย์ เพิ่มเติมว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคและการดำเนินธุรกิจของทั่วโลกมีการเปลี่ยนแปลง โดยได้นำพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินธุรกิจและกิจกรรมต่างๆ มากขึ้น รวมถึงมีปริมาณการซื้อขายออนไลน์ระหว่างผู้บริโภคกับผู้ผลิตหรือเกษตรกรโดยตรงเพิ่มขึ้น ความตกลง RCEP มีเป้าหมายสร้างสภาวะแวดล้อมที่ตอบสนองการก้าวสู่การค้าโลกยุคดิจิทัลที่เปิดกว้าง เพื่อช่วยลดต้นทุนและเพิ่มโอกาสทางการค้าให้ผู้ประกอบการ SMEs และเกษตรกร โดยเฉพาะเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และการส่งเสริมศักยภาพของ SMEs
ทั้งนี้ ความตกลง RCEP จะช่วยผลักดันการพัฒนาระบบทรัพย์สินทางปัญญาในภูมิภาค RCEP ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการไทยให้ได้รับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเหมาะสมและสะดวกยิ่งขึ้นในประเทศสมาชิกอื่น เช่น การกำหนดให้มีระบบยื่นคำขอจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาอิเล็กทรอนิกส์ การอำนวยความสะดวกในการยื่นคำขอจดทะเบียนสิทธิบัตรระหว่างประเทศ การอำนวยความสะดวกในการยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าระหว่างประเทศ และการเพิ่มประสิทธิภาพการคุ้มครองลิขสิทธิ์ในระบบอินเทอร์เน็ต เป็นต้น ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนและอำนวยความสะดวกการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาในประเทศสมาชิก ป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของไทย และกระตุ้นการสร้างและใช้นวัตกรรมใหม่ในการประกอบธุรกิจอีกด้วย
นอกจากนี้ ความตกลง RCEP จะช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ทำให้เกิดความคล่องตัวในการทำธุรกิจ เพิ่มความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคในการใช้พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น การกำหนดให้ประเทศสมาชิกมีกฎหมายหรือกฎระเบียบที่จะคุ้มครองผู้บริโภคออนไลน์จากการกระทำที่ฉ้อฉลและหลอกลวง การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลออนไลน์ และการจัดการข้อความการค้าทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่พึงประสงค์ เป็นต้น
“ความตกลง RCEP ได้ให้ความสำคัญกับ SMEs รวมถึงวิสาหกิจชุมชนและเกษตรกรรายย่อย ให้สามารถใช้ประโยชน์จากความตกลงได้อย่างเต็มที่ โดยกำหนดให้มีกิจกรรมความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนข้อมูล เพื่อแบ่งปันความรู้ ประสบการณ์ และแนวทางการปฏิบัติที่ดีเลิศระหว่างประเทศสมาชิก เพื่อการเข้าถึงตลาดและการเข้าสู่ระบบห่วงโซ่การผลิตโลก เพื่อให้ SMEs และผู้ประกอบการรายย่อยได้พัฒนาขีดความสามารถ ส่งเสริมศักยภาพในด้านการสร้างสรรค์ สามารถเชื่อมโยงเข้าสู่เครือข่ายการผลิตในภูมิภาค และมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดการขยายตัวทางการค้าและการลงทุนของไทยและในภูมิภาคด้วย”นายสินิตย์เสริม