- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Sunday, 26 December 2021 20:26
- Hits: 12020
จุรินทร์ สั่งทูตพาณิชย์ทั่วโลก จับตาสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์"โอมิครอน"อย่างใกล้ชิด
นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์เตรียมการรับมือสถานการณ์การค้าที่อาจได้รับผลกระทบจากโอมิครอน เพื่อยังรักษาการขยายตัวของการส่งออกไทยให้ได้อย่างต่อเนื่อง
โดยภาพรวมการค้าระหว่างประเทศในภูมิภาคต่างๆ สามารถสรุปได้เบื้องต้น คือ ภาพรวมตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั่วโลก ณ วันที่ 23 ธันวาคม 2564 มีจำนวน 278,588,451 ราย โดยมีรายงานการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนบางประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และเดนมาร์ก
รายงานจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โดยสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ 58 แห่ง ระบุว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดและมาตรการรับมือในแต่ละภูมิภาคนั้นมีโดยสรุปดังนี้ คือ 1.ภูมิภาคแอฟริกา มีหลายประเทศพบผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งส่วนใหญ่เดินทางมาจากแอฟริกาใต้ โดยเฉลี่ยพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นวันละประมาณ 1,000 - 2,000 คน สำหรับประเทศแอฟริกาใต้ที่เป็นต้นตอของการแพร่ระบาดมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นวันละประมาณกว่า 30,000 คน และยังคงมาตรการล็อกดาวน์ประเทศบางส่วน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด แต่โดยรวมยังไม่พบผลกระทบรุนแรงกับการส่งออกของไทยไปภูมิภาคนี้
2.ภูมิภาคอเมริกาและแคนาดา มีรายงานการติดเชื้อสะสมร่วม 52 ล้านคน เสียชีวิต 76,144 คน พบการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธ์โอมิครอนในอัตราที่สูงในมลรัฐทางตอนเหนือ ได้แก่ อิลลินอยส์ นิวยอร์ก โอไฮโอ เพนซิเวเนีย และมิชิแกน และมลรัฐเหล่านี้ได้เตรียมความพร้อมในการรับมือกับการแพร่ระบาดระลอกใหม่ ทั้งทางด้านบุคลากร สถานพยาบาล และอุปกรณ์ทางการแพทย์ กระตุ้นให้ประชาชนมารับการฉีดวัคซีนรวมทั้ง วัคซีน Booster ให้มากขึ้น และขยายเวลาบังคับให้ต้องสวมหน้ากากในที่สาธารณะจากเดิมเป็นจนถึง 18 มี.ค. 2565 รวมถึงต้องมีหลักฐานการฉีดวัคซีนเมื่อเข้าใช้บริการในร้านค้า ร้านอาหาร และสถานบริการบางแห่ง แต่ยังไม่มีการประกาศปิดประเทศหรือปิดเมือง บริษัทเอกชนเริ่มสั่งให้ WFH
3.ภูมิภาคยุโรป สถานการณ์ล่าสุดในเนเธอร์แลนด์พบว่า ร้อยละ 25 ของจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เป็นการติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอน และมีแนวโน้มชัดเจนว่าจะเป็นสายพันธุ์หลักของการแพร่ระบาดภายในสิ้นเดือน ธ.ค. 2564 ทั้งนี้ ในเยอรมนีคาดการณ์ 1 ใน 3 หรือครึ่งหนึ่งของผู้ติดเชื้อโควิด ในปัจจุบันเป็นสายพันธ์โอมิครอน โดยประเทศที่ได้ออกมาตรการล็อกดาวน์แล้ว เช่น เนเธอร์แลนด์
รวมทั้งมาตรการอื่นๆ ทั่วไป ได้แก่ บังคับให้สวมหน้ากากอนามัยในสถานที่สาธารณะ จำกัดจำนวนการรวมกลุ่ม ปิดสถานบันเทิง สนับสนุนการ Work from Home และเร่งรัดการฉีดวัคซีนเข็ม 1-2 และเข็มกระตุ้น เป็นต้น ส่วนสหราชอาณาจักร มีรายงานมีผู้ติดเชื้อโควิด 11.6 ล้านคน จำนวนผู้ติดเชื้อสูงขึ้นอย่างมากในช่วง 10 วันที่ผ่านมา โดยมีผู้ติดเชื้อจำนวนเฉลี่ยวันละ 87,958 คน ณ วันที่ 21 ธันวาคม 2564 ประชาชนส่วนใหญ่หลีกเลี่ยงการออกจากบ้าน
และยกเลิกการจองร้านอาหารเพื่อฉลองวันคริสต์มาส และรัฐบาลบังคับใช้มาตรการเข้มงวดขึ้น ได้แก่ การบังคับการใส่หน้ากากอนามัยในการใช้บริการขนส่งสาธารณะ และร้านค้า บริษัทกลับมา WFH และการใช้วัคซีนพาสปอร์ตในการเข้าสถานที่ที่มีคนจำนวนมาก เป็นต้น
4.ภูมิภาคตะวันออกกลาง เริ่มมีรายงานพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนบ้างแล้ว เช่น อิสราเอล สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ตะวันออกลางยังไม่ออกมาตรการควบคุมการควบคุมการแพร่ระบาดในระดับเข้มงวด และเร่งฉีดวัคซีนเข็ม 2-4 ให้ประชาชน รวมถึงห้ามผู้โดยสารจากประเทศกลุ่มเสี่ยงเข้าประเทศ
ดังนั้น การดำเนินธุรกิจในตะวันออกกลางยังคงปกติ จึงยังไม่ส่งผลกระทบต่อมูลค่าการส่งออกของไทย 5.ภูมิภาคลาตินอเมริกา สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธ์โอไมครอนยังมีไม่มากนัก คาดว่าจะติดเชื้อเพิ่มหลังจากปีใหม่และจะมากขึ้นช่วงฤดูหนาว (มิ.ย.-ก.ค. 2565) ซึ่งจำนวนผู้ติดเชื้อคาดว่าจะน้อยกว่าในปีที่ผ่านมาเนื่องจากมีการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนไปแล้วบางส่วน
จนถึงขณะนี้ ยังอยู่ระหว่างการเฝ้าระวังการแพร่กระจายในประเทศ มีการควบคุมการเดินทางระหว่างประเทศตามมาตรการสาธารณสุขโดยการตรวจหาเชื้อ (PCR test) ก่อนเดินทางเข้าประเทศและกักตัวตามระยะเวลาที่กำหนด ยังไม่มีการประกาศปิดประเทศหรือปิดเมือง
5.ในกลุ่มประเทศอาเซียนมีการรายงานผู้ติดเชื้อ Covid-19 สายพันธุ์โอมิครอนในจำนวนที่ยังน้อยกว่าภูมิภาคอื่นๆ แต่ก็ต่างออกมาตรการป้องกันโดยการจำกัดการเดินทางจากต่างประเทศ โดยผู้เดินทางต้องแสดงผลตรวจหาเชื้อโควิด-19 แบบ RT-PCR ยกเลิกการเดินทางเข้าประเทศในผู้เดินทางจากกลุ่มประเทศเสี่ยงสูงจากทวีปแอฟริกา มีการยกเลิกการจัดกิจกรรมที่รวมตัวของผู้คนจำนวนมากในช่วงเทศกาลปีใหม่ และกระตุ้นการฉีดวัคซีนเข็ม Booster
ส่วนที่ประเทศจีน ล่าสุดพบผู้ต้องสงสัยติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอน 5 ราย เบื้องต้นผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศจะต้องกักตัวในสถานที่ที่กำหนดอย่างน้อย 21 วัน ส่วนฮ่องกง พบผู้ติดเชื้อโอมิครอน 34 ราย ตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2564 ผู้เดินทางเข้าฮ่องกงต้องแสดงผลตรวจปลอดเชื้อและต้องตรวจกรดนิวคลีอิกด้วยวิธีการ RT-PCR ที่ได้ทำการตรวจเป็นเวลาไม่เกิน 48 ชม. ก่อนกำหนดเวลาเครื่องออก
และไต้หวันพบผู้ติดเชื้อโอมิครอน 12 ราย ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศต้องกักตัวในโรงแรม 10 วันและที่บ้านอีก 4 วัน และให้เพิ่มการตรวจหาเชื้อโควิด-19 แบบ PCR เป็น 2 ครั้ง และมีการปิดด่านตามแนวชายแดนจีน ทำให้เกิดปัญหารถติดสะสมจำนวนมากตามด่านสำคัญ เช่น โม่ฮาน โหย่วอี้กวน และตงซิง
ซึ่งส่งผลกระทบต่อสินค้าเกษตร อาหารและผลไม้สด และผู้ประกอบการจะมีต้นทุนในการผลิตเพิ่มเนื่องจากต้องตรวจโควิดแรงงาน โดยใช้ RT-PCR ส่วนทางอินเดีย ล่าสุดพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนจำนวน 213 ราย กระจายอยู่ใน 13 รัฐ ส่วนใหญ่มีประวัติเดินทางจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สหราชอาณาจักร แอฟริกาใต้ แทนซาเนีย ซิมบับเว ขณะนี้ยังไม่มีผลกระทบต่อการส่งออกของไทย
ทางด้านออสเตรเลีย Australian Technical Advisory Group (ATAGI) ได้ออกคำแนะนำเพื่อเป็นการรับมือการแพร่ระบาดสายพันธุ์โอมิครอน ให้ผู้ที่อายุ 18 ปีขึ้นไปที่ได้รับวัคซีนครบโดส (จำนวน 2 เข็ม) มาแล้วเป็นระยะเวลา 5 เดือน เข้ารับการฉีด Booster dose (เข็มที่ 3) เป็นวัคซีน Pfizer หรือ Moderna เท่านั้น (ยกเว้นกรณีที่ผู้มีการแพ้ให้ใช้วัคซีน AstraZeneca แทนได้) มาตรการควบคุมการเดินทางเข้าประเทศทำให้ภาคการผลิตประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานและไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเต็มที่
นางมัลลิกา กล่าวว่า รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายจุรินทร์ ได้รับทราบรายงานและให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศติดตามอย่างใกล้ชิดในสถานการณ์ตลาดต่างประเทศต่อไป และกล่าวว่าการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอนในระยะสั้นจะยังไม่ส่งผลกระทบต่อมูลค่าการส่งออกของไทย แต่ถ้าสถานการณ์ยืดเยื้อออกไป จะส่งผลกระทบต่อระบบ Supply Chain ซึ่งอาจทำให้ต้นทุนการขนส่งสินค้าสูงขึ้น แต่ในทางกลับกันก็มีความต้องการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค และสินค้าสุขอนามัยจากไทยเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน
"ปัจจุบันได้สั่งการให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศเตรียมกิจกรรมส่งเสริมการค้าให้เข้าสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 อยู่แล้ว โดยเฉพาะหากมีการแพร่ระบาดเป็นวงกว้าง โดยการจัดกิจกรรมส่งเสริมการค้าให้ผู้ประกอบการไทยทั้งในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ เช่น การจัด Online Business Matching การจัดงานแสดงสินค้าในประเทศในรูปแบบ Virtual/Online Exhibition กิจกรรมส่งเสริมการขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ได้แก่ TMALL, Bigbasket, Blibli, Amazon, Ozon รวมถึงการประชุมเพื่อหารือแนวทางส่งเสริม แก้ไขปัญหาการค้าที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19
ทั้งนี้ โดยการส่งออกของไทยในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2564 มีมูลค่า 7,731,390.8 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.48 จากช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา สินค้าเกษตรและอาหารสำคัญที่ไทยส่งออกไปทั่วโลก ได้แก่ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง ยางพารา ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ข้าว"ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าว
ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ www.ditp.go.th หรือสายตรงการค้าระหว่างประเทศ โทร 1169