- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Wednesday, 01 December 2021 20:46
- Hits: 5242
กรมพัฒน์ฯ เดินหน้าปั้นผู้ประกอบธุรกิจแฟรนไชส์รายใหม่เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ
กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเดินหน้าปั้น'แฟรนไชส์' รายใหม่ เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของประเทศ เปิดอบรมติวเข้มการบริหารจัดการธุรกิจแฟรนไชส์ รุ่นที่ 25 ช่วยเพิ่มพูนความรู้ สามารถนำไปใช้ขยายธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมดึง Kbank ร่วมเป็นกรรมการ หากแผนธุรกิจเข้าตา มีสิทธิ์ได้รับสินเชื่อนำไปขยายกิจการ
นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “การบริหารจัดการธุรกิจแฟรนไชส์ (B2B Franchise) รุ่นที่ 25 ว่า กรมฯ ได้กำหนดจัดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ ระหว่างวันที่ 1 ธ.ค.2564 ถึงวันที่ 1 เม.ย.2565 รวมระยะเวลา 180 ชั่วโมง หรือ 30 วัน เพื่อสร้างความรู้และความเข้าใจถึงขั้นตอนในการพัฒนาธุรกิจแฟรนไชส์ ให้กับผู้เข้ารับการอบรม เพื่อให้สามารถยกระดับมาตรฐานคุณภาพการบริหารจัดการธุรกิจแฟรนไชส์ให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง
และสามารถจัดทำแผนธุรกิจเชิงกลยุทธ์และสร้างคู่มือปฏิบัติงานในระบบแฟรนไชส์ (Franchise Operation Manual) ประกอบด้วย 4 Module ได้แก่ การบริหารจัดการธุรกิจแฟรนไชส์ การวางแผนกลยุทธ์ธุรกิจในระบบแฟรนไชส์ กลยุทธ์ทางการตลาดธุรกิจแฟรนไชส์ และการสร้างคู่มือแผนธุรกิจและสัญญาในระบบแฟรนไชส์
ทั้งนี้ ระบบบริหารจัดการ มีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อการประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ ไม่ว่าจะเป็นระบบการบริหารจัดการ ระบบการเงิน บัญชี ภาษี ระบบโลจิสติกส์ การดูแลวัตถุดิบ สต็อกสินค้า การตลาด แบรนดิ้ง การวิจัยพัฒนา R&D การควบคุมตรวจสอบคุณภาพ เพื่อให้สามารถส่งต่อความสำเร็จจากต้นแบบสู่สาขาอื่นๆ ได้อย่างมีคุณภาพ (แฟรนไชส์ซอร์สู่แฟรนไชส์ซี) แต่การจะผลักดันธุรกิจเข้าสู่ระบบแฟรนไชส์และประสบความสำเร็จได้ ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะธุรกิจที่จะก้าวสู่การเป็นแฟรนไชส์ ต้องมีความพร้อมและแข็งแกร่งในระดับหนึ่ง ไม่เช่นนั้นอาจสร้างปัญหาให้กับผู้ที่ซื้อแฟรนไชส์ (แฟรนไชส์ซี) รวมถึงตัวเองได้ในอนาคต กรมฯ จึงต้องเข้ามาช่วยปิดจุดอ่อนในส่วนนี้
สำหรับ ความพิเศษของหลักสูตร B2B Franchise ในครั้งนี้ กรมฯ ได้เชิญวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจแฟรนไชส์ และเจ้าของแฟรนไชส์ตัวจริงที่ประสบความสำเร็จ มาร่วมให้ความรู้และแชร์ประสบการณ์ เช่น โค้ชโซอี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านการทำตลาดออนไลน์, ผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างแบรนด์จาก Baramizi , Shippop บริการขนส่งพัสดุออนไลน์, The waffle , ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว และ Amazon เป็นต้น โดยก่อนจบหลักสูตรผู้เข้าร่วมอบรมจะต้องนำเสนอแผนธุรกิจ (Pitching) แก่คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญเพื่อร่วมกันวิเคราะห์ความเป็นไปได้และแนวทางการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ รวมทั้ง ยังมีผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินจากธนาคารกสิกรไทย (KBank) เข้าร่วมเป็นกรรมการ หากแผนธุรกิจเป็นที่เข้าตา มีความน่าสนใจก็จะเพิ่มโอกาสในการได้รับเงินทุนสินเชื่อเพื่อนำไปต่อยอดธุรกิจด้วย
“กรมฯ มีเป้าหมายต้องการยกระดับธุรกิจของคนไทย โดยใช้ระบบแฟรนไชส์เป็นกลยุทธ์ เพื่อขยายธุรกิจเป็นระบบสาขาได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มศักยภาพในการลงทุน และระบบการสร้างธุรกิจแฟรนไชส์มาตรฐาน ตลอดจนนำแนวทางระบบแฟรนไชส์ไปใช้ในการขยายธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้รับไปพัฒนาศักยภาพองค์กรให้สามารถขยายโอกาสทางการตลาดธุรกิจในระบบแฟรนไชส์ได้อย่างกว้างขวาง ทำให้มีร้านสาขาและแฟรนไชส์ซีเพิ่มขึ้น”นายทศพลกล่าว
ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 23 พ.ย.2564) มีผู้ประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ที่ผ่านการอบรมหลักสูตร การบริหารจัดการธุรกิจแฟรนไชส์ (B2B Franchise) จำนวน 1,094 ราย แบ่งเป็น ธุรกิจอาหาร 464 ราย คิดเป็นร้อยละ 42 ธุรกิจบริการ จำนวน 183 ราย คิดเป็นร้อยละ 17 ธุรกิจค้าปลีก จำนวน 161 ราย คิดเป็นร้อยละ 15 ธุรกิจเครื่องดื่ม จำนวน 142 ราย คิดเป็นร้อยละ 13 ธุรกิจความงาม สปา จำนวน 81 ราย คิดเป็นร้อยละ 7 และธุรกิจการศึกษา จำนวน 63 ราย คิดเป็นร้อยละ 6