- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Tuesday, 30 November 2021 21:54
- Hits: 4198
อาเซียน-แคนาดา เดินหน้าทำ FTA กรมเจรจาฯ ยันเปิดเสรียึดประโยชน์ทุกภาคส่วน
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เผยอาเซียนเปิดเจรจา FTA กับแคนาดาอย่างเป็นทางการแล้ว ยันไทยจะยึดประโยชน์ที่จะเกิดกับทุกภาคส่วนและประเทศชาติ ชี้ประเด็นการเปิดเสรีในระดับสูง ไม่น่าห่วง เหตุมีอาเซียนอื่นคอยเจรจาต่อรอง ทำให้ลดแรงกดดันลงได้
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า อาเซียนและแคนาดาได้ประกาศเปิดการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างกันอย่างเป็นทางการแล้ว โดยไทยจะใช้กรอบการเจรจา ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ให้ความเห็นชอบเป็นแนวทางในการเจรจา เพื่อขยายโอกาสการค้า การลงทุน ทำให้เกิดประโยชน์แก่ทุกภาคส่วน และให้ได้ประโยชน์ในภาพรวมสูงสุดกับประเทศ โดยคำนึงถึงความพร้อมของระดับการพัฒนา และภูมิคุ้มกันของประเทศ รวมถึงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งถือว่า กรอบการเจรจาของไทยสามารถดูแลผลประโยชน์และสร้างสมดุลให้กับทุกภาคส่วนได้
“เร็วๆ นี้ ทั้ง 2 ฝ่ายจะเริ่มเปิดการเจรจา จะเริ่มต้นหารือเพื่อวางกรอบการเจรจากันก่อน โดยนอกจากจะเปิดการตลาดการค้าสินค้า บริการ และการลงทุนแล้ว ยังจะต้องมีความร่วมมือด้านอื่น ๆ ด้วย แต่ก่อนที่ทั้ง 2 ฝ่ายจะพบกัน อาเซียนจะหารือกันก่อนเพื่อกำหนดกรอบการเจรจาเป็นภาพรวมของอาเซียน”
นางอรมน กล่าวว่า การทำ FTA ฉบับนี้ ไม่น่ากังวลสำหรับไทยมากนัก เพราะระดับการพัฒนาของอาเซียนแตกต่างกัน การจะยอมเปิดเสรีในระดับสูง หรือยอมรับมาตรฐานด้านต่าง ๆ ในระดับสูงทัดเทียม FTA ฉบับอื่น เช่น ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) คงเป็นเรื่องยาก เพราะยังมีอาเซียนอื่นที่จะช่วยลดแรงกดดันให้ไทย จะมาช่วยไทยเจรจาต่อรอง อีกทั้งประเด็นอะไรที่อาเซียนทำตามไม่ได้ ก็อาจทำเป็นความร่วมมือ ที่ไม่ได้บังคับให้ต้องปฏิบัติตาม
สำหรับ ประเด็นหรือขอบเขตการเจรจาใน FTA อาเซียน-แคนาดา จะคล้ายกับ FTA ที่แคนาดาได้ทำกับประเทศอื่นแล้ว เช่น เกาหลีใต้ สหภาพยุโรป เปรู ปานามา คอสตาริกา โคลัมเบีย ซึ่งครอบคลุมการเปิดเสรีการค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน มาตรการปกป้องและเยียวยาทางการค้า กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า พิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช อุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า การเคลื่อนย้ายบุคคลธรรมดา ทรัพย์สินทางปัญญา แรงงาน สิ่งแวดล้อม พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ นโยบายแข่งขันทางการค้า การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ การระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐ เป็นต้น
ส่วนประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากการทำ FTA ฉบับนี้ จากผลการศึกษาที่กรมฯ ได้ว่าจ้างศึกษา พบว่า จะทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของไทยเพิ่มขึ้น 7,968-254,953 ล้านบาท เชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานของไทยไปยังภูมิภาคอเมริกาเหนือ ที่ไทยยังไม่เคยมี FTA ด้วย ขณะที่สินค้าไทยที่คาดจะได้ประโยชน์จากการส่งออกไปแคนาดาเพิ่มขึ้น มีทั้งสินค้าเกษตรและอาหาร เช่น ผักและผลไม้แปรรูป ผลิตภัณฑ์ปรุงรส สินค้าอุตสาหกรรม เช่น ยางรถยนต์ ถุงมือยาง เครื่องมือและเครื่องจักร เครื่องปรับอากาศ ส่วนกลุ่มสินค้าที่ไทยจะนำเข้าเพิ่มขึ้น เช่น เนื้อหมูและเครื่องใน เนื้อปลาแช่แข็ง ข้าวสาลี ไม้แปรรูป เฟอร์นิเจอร์ไม้