- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Tuesday, 30 November 2021 21:49
- Hits: 4262
สถาบันอัญมณีฯ เตือนภัยผู้บริโภค ระวังอันตราย 'ทองคำเปลวปลอม' ในอาหาร-ขนม
สถาบันอัญมณีฯ เตือนภัยผู้บริโภค ระวังอันตรายจาก 'ทองคำเปลวปลอม' หรือ 'ทองคำสังเคราะห์' ที่นำมาใช้ผสมอาหารหรือขนมเพื่อจำหน่าย หลังลงเก็บตัวอย่างที่วางขายในตลาดนัดพบเจอเพียบ ชี้อาจทำให้เกิดอาการแพ้ สะสมในร่างกาย เป็นอันตรายต่อสุขภาพ แนะซื้อจากร้านที่น่าเชื่อถือ มีมาตรฐาน
นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT เปิดเผยว่า GIT ได้มีการเก็บตัวอย่างอาหารและขนมที่มีการนำทองคำเปลวมาเป็นส่วนประกอบใช้ตกแต่ง เพื่อความสวยงาม หรูหรา สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า และมีวางจำหน่ายทั่วไปในตลาดนัด เพื่อนำมาตรวจสอบ พบว่ามีการใช้ทองคำเปลวปลอม ซึ่งไม่มีส่วนผสมของทองคำ แต่เป็นโลหะอันตราย อาจก่อให้เกิดอาการแพ้ สะสมในร่างกาย และเกิดอันตรายต่อสุขภาพได้
“องค์ประกอบของธาตุที่ตรวจสอบพบ คือ ทองเหลือง ซึ่งมีส่วนผสมของทองแดง สังกะสี นิเกิล โครเมียม อลูมิเนียมและยังมีโลหะหนักอื่นๆ ผสมอยู่ หากนำไปตกแต่งหรือเป็นส่วนผสมในอาหาร อาจจะเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค และอาจจะสะสมในร่างกาย ทำให้เกิดโรคจากพิษโลหะหนัก และส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาว”นายสุเมธกล่าว
นายสุเมธ กล่าวว่า การนำทองคำมาเป็นส่วนประกอบในอาหาร มีการใช้มานานแล้วทั้งในไทยและต่างประเทศ แต่ที่ถูกต้อง จะต้องเป็นทองคำบริสุทธิ์ 99.99% เพราะเมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้ว จะไม่ดูดซึม ไม่ย่อย และขับถ่ายออกมาตามปกติ หากผู้บริโภคจะรับประทาน หรือใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีทองคำเป็นส่วนประกอบ ควรมั่นใจว่าเป็นทองคำบริสุทธิ์ 99.99% แต่ปัญหาที่เกิดขึ้น คือ ทองคำบริสุทธิ์ มีราคาสูงมาก จึงมีการนำทองคำที่ค่าความบริสุทธิ์ต่ำ ทองคำสังเคราะห์ หรือทองวิทยาศาสตร์มาใช้ทดแทน ซึ่งมีโทษต่อร่างกายอย่างมากตามที่กล่าวไปแล้ว
โดยในส่วนของผู้บริโภค GIT ขอแนะนำให้สังเกตร้านที่น่าเชื่อถือ ร้านที่มีคุณภาพและมาตรฐาน และให้หลีกเลี่ยงร้านค้าที่จำหน่ายในตลาดนัด ตลาดทั่วไป หรือร้านค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน เพราะไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าใช้ทองคำเปลวจริงหรือไม่ และในส่วนของผู้ประกอบการ ที่ต้องการความมั่นใจในการนำทองคำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าต่าง ๆ สามารถนำทองคำมาตรวจสอบค่าความบริสุทธิ์ และโลหะเจือปนที่เป็นพิษกับ GIT ได้
ทั้งนี้ ทั้งผู้บริโภคและผู้ประกอบการสามารถขอรับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญของ GIT เบื้องต้น ได้ที่แอปพลิเคชัน CARAT ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มให้คำปรึกษาจาก GIT โดยไม่มีค่าใช้จ่าย หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ห้องปฏิบัติการตรวจสอบโลหะมีค่า โทร 02 634 4999 ต่อ 421–425
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบันมีการนำทองคำเปลวมาใช้เป็นส่วนหนึ่งในอาหารและขนม โดยปิดไว้ด้านบน เพื่อความสวยงามและเพิ่มมูลค่าให้กับอาหาร เช่น เนื้อชั้นดี โอมากะเสะ ซูชิ และขนม เช่น ขนมทองเอก ขนมเค้ก มาการอง ช็อกโกแลต ไอศกรีม เป็นต้น