- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Tuesday, 30 November 2021 13:56
- Hits: 9454
กรมเจรจาฯ ปลื้ม FTA ดันส่งออกอาหารแช่เย็นแช่แข็งโตต่อเนื่อง สวนวิกฤติโควิด หนุนเจาะตลาดคู่เอฟทีเอใช้สิทธิ์ภาษีเป็นศูนย์
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เผย เอฟทีเอหนุนสินค้าอาหารแช่เย็นแช่แข็งส่งออกโตต่อเนื่อง สวนวิกฤตไวรัสโควิด-19 ชี้! ในช่วง 9 เดือน ส่งออกตลาดโลกขยายตัว 9% ตลาดคู่เอฟทีเอ 13.1% จีนและฮ่องกงตลาดดาวเด่นขยายตัวสูงถึง 41.3% และ 48% หนุนส่งออกประเทศคู่เอฟทีเอใช้สิทธิ์ภาษีเป็นศูนย์
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า จากการติดตามสถานการณ์การค้าระหว่างประเทศ ในช่วงเดือน ม.ค. – ก.ย. 2563 พบว่าการส่งออกสินค้าอาหารแช่เย็นแช่แข็งของไทยขยายตัวต่อเนื่อง แม้เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยไทยส่งออกอาหารแช่เย็นแช่แข็งสู่ตลาดโลก มูลค่า 5,099.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า 9% เป็นการส่งออกไปประเทศคู่เอฟทีเอ มูลค่า 4,550.5 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 89.2% ของการส่งออกสินค้าอาหารแช่เย็นแช่แข็งทั้งหมด ขยายตัว 13.1% จีนเป็นตลาดส่งออกอันดับหนึ่ง สัดส่วน 52.5% รองลงมา คือ อาเซียน สัดส่วน 13.6% ญี่ปุ่น สัดส่วน 12% และฮ่องกง สัดส่วน 8.4% โดยตลาดส่งออกที่น่าจับตามองเพราะมีอัตราการเติบโตสูง ได้แก่ จีน ขยายตัว 41.3% และฮ่องกง ขยายตัว 48% สำหรับสินค้าที่ขยายตัวได้ดี อาทิ ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง 13.6% ไก่แช่เย็นแช่แข็ง 21.7% สุกรแช่เย็นแช่แข็ง 640.7% ปูแช่เย็นแช่แข็ง 7.3% และหอยแช่เย็นแช่แข็ง 8.5%
นางอรมน กล่าวว่า การที่ไทยมีความตกลงการค้าเสรีกับประเทศคู่ค้าสำคัญ 18 ประเทศ เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่สร้างข้อได้เปรียบด้านราคาให้แก่สินค้าไทย โดยปัจจุบันอาหารแช่เย็นแช่แข็งของไทยไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าใน 8 ประเทศคู่เอฟทีเอ ได้แก่ อินโดนีเซีย บรูไนฯ เมียนมา สิงคโปร์ จีน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และฮ่องกง สำหรับอีก 10 ประเทศ ลดภาษีสินค้าส่วนใหญ่เป็นศูนย์แล้ว แต่คงภาษีนำเข้าบางรายการ อาทิ เวียดนาม เก็บภาษีไก่แช่เย็นแช่แข็ง 5% ฟิลิปปินส์ เก็บภาษีสุกร เป็ด ไก่ แช่เย็นแช่แข็ง 5% กัมพูชา เก็บภาษีผักผลไม้แช่เย็นแช่แข็ง และไก่/เป็ดแช่เย็นแช่แข็ง 5% เกาหลีใต้ เก็บภาษีผลไม้แช่เย็นแช่แข็ง 0-50% และไก่แช่เย็นแช่แข็ง 5-27% ญี่ปุ่น เก็บภาษีกล้วย สับปะรด ส้มแช่เย็นแช่แข็ง 0-3.2% และประมงแช่เย็นแช่แข็ง 0-10% อินเดีย เก็บภาษีนำเข้าไก่และไข่ไก่แช่เย็นแช่แข็ง 30% ประมงแช่เย็นแช่แข็ง 0-30% เปรู เก็บภาษีไก่และสุกรแช่เย็นแช่แข็ง 17% และไข่ไก่แช่เย็นแช่แข็ง 9% และชิลี เก็บภาษีไก่/เป็ดแช่เย็นแช่แข็ง 2%
ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบมูลค่าการส่งออกสินค้าอาหารแช่เย็นแช่แข็งของไทยไปตลาดโลก ระหว่างปี 2562 กับปี 2535 ซึ่งเป็นปีก่อนที่ไทยจะมีเอฟทีเอฉบับแรกกับอาเซียน พบว่า การส่งออกไปยังตลาดโลกขยายตัวเพิ่มขึ้น 151% ขณะที่การส่งออกไปประเทศคู่เอฟทีเอขยายตัวสูงถึง 227% สำหรับการส่งออกรายตลาดคู่เอฟทีเอเติบโตอย่างน่าพอใจ เช่น อาเซียน ขยายตัว 802% จีน ขยายตัว 678% ญี่ปุ่น ขยายตัว 42% และฮ่องกง ขยายตัว 25 % เป็นต้น
“การขยายตัวของการส่งออกสินค้าอาหารแช่เย็นแช่แข็งของไทยท่ามกลางสภาวะความไม่แน่นอนทางการค้าเนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของอุตสาหกรรมอาหารไทยที่มีจุดแข็งด้านคุณภาพและมาตรฐานการผลิต สร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภค มีความหลากหลายด้านอาหารและมีผลผลิตทางการเกษตรที่เป็นวัตถุดิบในการประกอบอาหารออกสู่ตลาดโลกอย่างต่อเนื่อง”นางอรมน เสริม