- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Saturday, 20 November 2021 21:00
- Hits: 3386
สินิตย์ สั่งกรมพัฒน์ฯ สานต่อ Digital Village ยกระดับสินค้าชุมชนทั่วประเทศ Go inter
สิสินิตย์ สั่งกรมพัฒน์ฯ เร่งสานต่อโครงการชุมชนอัจฉริยะออนไลน์ หรือ Digital Village by DBD ตั้งเป้าเพิ่มอีก 20 ชุมชน ภายในปี 65 พร้อมชู’หมู่บ้านเถาเป่า’ (Taobao Village Model) ของจีนเป็นต้นแบบ ย้ำ! อะไรดีก็ต้องนำมาเป็นแบบอย่างและปรับใช้ให้เหมาะสมเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ชุมชนและประชาชนในท้องถิ่น สนองนโยบายรัฐบาลในการผลักดันให้คนไทยกลุ่มฐานรากมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยใช้การค้าออนไลน์เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาความยากจนอีกช่องทางหนึ่ง
สินายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยกำลังขับเคลื่อนไปสู่ ‘เศรษฐกิจดิจิทัล’ โดยมุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อเปลี่ยนจากการเกษตรแบบดั้งเดิมไปสู่การเกษตรสมัยใหม่ที่เน้นการบริหารจัดการและเทคโนโลยี (Smart Farming) หวังให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ซึ่งได้มอบหมายให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เดินหน้าพัฒนาส่งเสริมผู้ประกอบการชุมชน และเกษตรกรที่มีสินค้าหรือบริการที่เป็นอัตลักษณ์ของท้องถิ่น
โดยใช้ช่องทางการค้าออนไลน์ หรือ e-Commerce มาช่วยทำการตลาด เป็นการสร้างรายได้ให้เกิดแก่ชุมชน โดยให้นำแนวคิดจาก ‘หมู่บ้านเถาเป่า’ (Taobao Village Model) ของสาธารณรัฐประชาชนจีนมาเป็นต้นแบบในการแก้ไขปัญหาความยากจนในชุมชนที่ห่างไกลโดยใช้พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์และระบบโลจิสติกส์ในการกระจายผลผลิตของชุมชน ให้เข้าถึงผู้บริโภคในทุกพื้นที่ได้มากขึ้น ซึ่ง ‘เถาเป่า’ ไม่เพียงแต่เป็นแพลตฟอร์มค้าปลีกออนไลน์อันดับหนึ่งของจีน แต่ยังเป็นชุมชนแห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของผู้บริโภค เป็นศูนย์รวมนวัตกรรมของโลกที่ได้เปลี่ยนแปลงวิธีการผลิตแบบดั้งเดิม
และเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค ซึ่งในชุมชนที่ห่างไกลการค้าออนไลน์ได้เข้ามาช่วยเติมเต็มช่องว่างระหว่างสังคมเมืองกับชนบท ช่วยส่งเสริมให้ชนบทมีการบริโภคจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ส่งเสริมให้ชาวบ้านเป็นผู้ขายสินค้าและผลิตภัณฑ์ของตนผ่านเว็บไซต์ในความร่วมมือกับอาลีบาบา
"แนวคิดของหมู่บ้านเถาเป่า นับว่าเป็นองค์ความรู้ที่สามารถนำมาปรับใช้ได้อย่างเป็นรูปธรรม จึงสั่งการให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการชุมชนและเกษตรกรภายใต้ "โครงการชุมชนอัจฉริยะออนไลน์ by DBD" เพื่อสร้างสินค้าที่เป็นอัตลักษณ์ของท้องถิ่น สร้างผู้นำชุมชนให้มีความเข้มแข็งทำให้ชุมชนมีความเป็นผู้ประกอบการมากขึ้น พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงและปรับรูปแบบการค้าให้ทันยุคสมัย ดำเนินการผลักดันสินค้าชุมชนเข้าสู่การค้าออนไลน์ โดยเชื่อมโยงกับแพลตฟอร์มพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
พร้อมพัฒนาควบคู่ไปกับระบบโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้ผู้ประกอบการชุมชน เกษตรกร หรือยุวชนในท้องถิ่น ให้สามารถสร้างร้านค้าออนไลน์บนแพลตฟอร์มออนไลน์ที่เป็นที่นิยมและมีชื่อเสียง สอนการใช้เครื่องมือทางการตลาดออนไลน์ การถ่ายภาพสินค้า การบริหารจัดการร้านค้าออนไลน์ การถ่ายทอดเรื่องราวสู่กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย (Content Marketing และ Story telling) ช่วยสร้างความโดดเด่นให้กับสินค้าหรือบริการของชุมชน รวมถึงแนะแนวทางการใช้ระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ และระบบการขนส่งเพื่อให้สามารถลดต้นทุนและเพิ่มรายได้
โดยเน้นย้ำให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้ามุ่งเน้นพัฒนาทักษะองค์ความรู้ให้คนในชุมชนสามารถมีอาชีพจากการค้าออนไลน์ได้อย่างมั่นคง นอกจากนี้ ยังมีการดำเนินกิจกรรมกระตุ้นการตลาด ช่วยประชาสัมพันธ์โครงการผ่านสื่อต่างๆ เพื่อสร้างภาพลักษณ์และการรับรู้ในวงกว้างทั้งในรูปแบบออฟไลน์และออนไลน์ โดยมีการจัดงานโชว์เคส นำเสนอผลิตภัณฑ์จากชุมชนต้นแบบของประเทศไทย และการประชาสัมพันธ์ผ่านบุคคลที่มีชื่อเสียง (Influencer)"
รมช. พณ. กล่าวเพิ่มเติมว่า "กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้ดำเนินการพัฒนาชุมชนอัจฉริยะออนไลน์ ต้นแบบของประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 2562 จนปัจจุบันสามารถพัฒนาชุมชนต้นแบบได้แล้ว 34 ชุมชน ใน 30 จังหวัด ครอบคลุมทุกภูมิภาค เกิดเครือข่ายผู้ประกอบการชุมชนและเกษตรกรที่มีทักษะองค์ความรู้สามารถสร้างธุรกิจของตนเองและชุมชนด้วยการค้าออนไลน์ได้แล้วกว่า 1,458 รายทั่วประเทศ และส่งเสริมผลักดันผู้ประกอบการชุมชน เข้าสู่แพลตฟอร์มร้านค้าออนไลน์ เช่น SHOPEE ผ่านแคมเปญ ‘สุขใจซื้อของไทย’ สร้างมูลค่าการค้าออนไลน์ 59,990,816 ล้านบาท
โดยโครงการดังกล่าวทำให้คนในชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 15 สร้างอาชีพค้าขายสินค้าและบริการในชุมชนโดยใช้เครื่องมือทางเทคโนโลยี และการค้าออนไลน์ มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน เกิดเป็นชุมชนที่เข้มแข็ง และสร้างยุวชนคนรุ่นใหม่ให้ต่อยอดธุรกิจของชุมชนต่อไป เล็งเห็นถึงโอกาสในการค้าออนไลน์ที่ช่วยให้ภาคธุรกิจของไทยรอดพ้นจากวิกฤต COVID-19 ไปได้ด้วยดี และเป็นหนทางในการขยายช่องทางการจำหน่ายสินค้าเกษตรสินค้าชุมชนไปสู่ตลาดระดับสากล เร่งเดินหน้าแผนพัฒนาชุมชนต้นแบบของประเทศไทยในปีงบประมาณ 2565 เพิ่มอีก 20 ชุมชน และผลักดันเข้าสู่แพลตฟอร์มร้านค้าออนไลน์ที่มีชื่อเสียง เช่น SHOPEE, LAZADA กระตุ้นการประชาสัมพันธ์โครงการด้วยแคมเปญต่างๆ
และทำการตลาดทั้งออนไลน์และออฟไลน์ หวังสร้างการรับรู้ในอัตลักษณ์ชุมชนท้องถิ่นในประเทศไทยให้มีชื่อเสียงไปทั่วโลก พร้อมเร่งส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการชุมชนและเกษตรกรผู้ประกอบการให้มีอาชีพและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี พร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงและวิกฤตต่างๆ สร้างเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งและเติบโตต่อไป"
ผู้ประกอบการชุมชนที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว จะมีการเปิดรับสมัครและคัดเลือกในช่วง เดือนมกราคม 2565 โดยสามารถติดตามข่าวสารได้ที่ www.dbd.go.th สายด่วน 1570 หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กองพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า โทร 0 2547 5959 อีเมล์ : [email protected]
พาณิชย์ เดินหน้าเพิ่มจำนวนสินค้าอินทรีย์ใช้บล็อกเชนตรวจสอบย้อนกลับ
สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) จับมือพันธมิตร ธ.ก.ส. สำนักงานเกษตร สหกรณ์จังหวัด และพาณิชย์จังหวัด ลุยเพิ่มจำนวนสินค้าเกษตรอินทรีย์ให้เข้าใช้ระบบบล็อกเชนตรวจสอบย้อนกลับผ่าน TraceThai.com หลังปัจจุบันมีสินค้าข้าวอินทรีย์ สินค้าอินทรีย์ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานอินทรีย์ในประเทศและสากลเข้าร่วมแล้ว ชี้อนาคตจะทวีความสำคัญมากขึ้น รับการบริโภคอาหารปลอดภัย เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม
นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ในปี 2565 สนค. ได้ตั้งเป้าขยายการใช้งานระบบ TraceThai.com ซึ่งเป็นระบบที่ใช้บล็อกเชนในการตรวจสอบย้อนกลับสินค้าให้กับผู้ผลิต ผู้ประกอบการเกษตรอินทรีย์ไทยให้มากขึ้น โดยจะร่วมมือกับพันธมิตรเครือข่าย เช่น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สำนักงานเกษตร และสหกรณ์จังหวัด รวมถึงสำนักงานพาณิชย์จังหวัด ในการผลักดันให้มีจำนวนสินค้าเกษตรอินทรีย์เข้ามาสู่ระบบเพิ่มมากขึ้น โดยผู้สนใจที่ผลิตสินค้าแปรรูปหรือจัดจำหน่ายสินค้าอินทรีย์และได้รับการรับรองมาตรฐานอินทรีย์แล้ว สามารถติดต่อเข้าร่วมโครงการได้ที่ [email protected] หรือ Facebook.com/tracethai
ทั้งนี้ ระบบ TraceThai.com ในปัจจุบัน มีกลุ่มผู้ผลิตข้าวอินทรีย์นำร่องเข้าร่วมโครงการ ตั้งแต่ปี 2563–64 รวม 34 กลุ่ม/ราย กระจายในพื้นที่ 17 จังหวัด และในปี 2564 ได้ขยายเกณฑ์ให้ครอบคลุมสินค้าอินทรีย์ทุกชนิดที่ผ่าน
การรับรองโดยหน่วยรับรองมาตรฐาน (Certification Body : CB) ทั้งที่เป็นมาตรฐานอินทรีย์ในประเทศ คือ Organic Thailand และมาตรฐานอินทรีย์สากล เช่น EU Organic , USDA , IFOAM รวมถึงสินค้าอินทรีย์มาตรฐาน GI
โดยกลุ่มเกษตรกรและผู้ประกอบการที่มีศักยภาพเข้าร่วมเป็นกลุ่มนำร่องในระบบ TraceThai เช่น กรีนลิฟวิ่งแคมป์ จ.นครปฐม เป็นผู้ประกอบการที่ทำฟาร์มออร์แกนิกที่ได้รับการรับรองมาตรฐานสากล นำข้าวอินทรีย์ขายผ่าน Amazon และกำลังขยายไปสู่ผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ทั้งกล้วยตาก ชาสมุนไพรจากอัญชัน กระเจี๊ยบแดง ใบเตย
บ้านสวนข้าวขวัญ นาข้าวอินทรีย์ ผู้ผลิตและจำหน่ายข้าวอินทรีย์จาก จ.สุพรรณบุรี นักวิชาการที่ผันตัวมาเป็นเกษตรกร มุ่งมั่นทำเกษตรอินทรีย์ให้ได้มาตรฐานสากลทั้ง IFOAM , EU , COR , และ USDA จนมีผลผลิตส่งออก
วิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์บ้านโคกทรายผ่อง ได้รับมาตรฐานทั้ง Organic Thailand และ GI จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา รวมทั้งได้ขึ้นทะเบียนบ้านโคกทรายผ่องเป็นหมู่บ้านอินทรีย์ (Organic Village) แห่งแรกของภาคใต้
บริษัท คิงด้อม ออร์แกนิค เนทเวิร์ค (ไทยแลนด์) เป็นตัวแทนเครือข่ายเกษตรกรและผู้จัดจำหน่าย นำร่องการขายข้าวอินทรีย์ และถั่วเหลืองอินทรีย์ผ่าน TraceThai เพื่อจำหน่ายทั้งในประเทศ ส่งออก รวมทั้งส่งเป็นวัตถุดิบให้กับร้านอาหาร และบริษัทแปรรูป
ปัจจุบันหน่วยงานรัฐ เอกชน และสตาร์ทอัปทั่วโลก ต่างก็สนใจที่จะใช้บล็อกเชนในการตรวจสอบย้อนกลับสินค้า ซึ่งเป็นโจทย์สำคัญสำหรับธุรกิจเกษตรและอาหาร สืบเนื่องมาจากความใส่ใจเรื่อง Food Safety และสุขภาพอนามัยของผู้บริโภค ความตระหนักในเรื่องสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมีกระบวนการผลิตที่ยั่งยืน รวมถึงกฎระเบียบมาตรการทางการค้าประเทศต่าง ๆ ทำให้การตรวจสอบย้อนกลับเป็นแนวโน้มสำคัญของธุรกิจเกษตรและอาหารในอนาคต
ขณะเดียวกัน ยังพบว่า ในต่างประเทศมีการศึกษาและประยุกต์ใช้บล็อกเชนเพื่อการตรวจสอบย้อนกลับในหลายกรณี เช่น ระบบ Food Trust ของบริษัท IBM ที่ร่วมกับ Walmart สำหรับติดตามสินค้ามะม่วงสุกที่ขายในห้าง และขยายไปยังสินค้าอีกหลายชนิด โครงการ BlocRice ของ Oxfam ที่ใช้บล็อกเชนตรวจสอบย้อนกลับสินค้าข้าวในกัมพูชา มีการสร้างสัญญาซื้อขาย Smart Contract ระหว่างชาวนา สหกรณ์ บริษัทส่งออก บริษัทนำเข้า เพื่อสร้างความโปร่งใสในการค้าและการชำระเงิน บริษัท ไทยยูเนี่ยน ผู้ผลิตทูน่ากระป๋อง นำเอา Ethereum Blockchain มาใช้ ซึ่งผู้บริโภคสามารถสแกน QR Code บนกระป๋องทูน่า เพื่อตรวจสอบที่มาของทูน่ากระป๋องที่ตนซื้อได้ เช่น แหล่งจับปลา ช่วงเวลาที่จับ วิธีการขนส่ง รวมทั้งแหล่งแปรรูปสินค้า