- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Tuesday, 09 November 2021 23:09
- Hits: 11801
จุรินทร์ โชว์วิชันเวทีเอเปก ใช้การค้าดิจิทัลฟื้นเศรษฐกิจ หนุน BCG สร้างความยั่งยืน
จุรินทร์ โชว์วิชันกลางเวทีประชุมรัฐมนตรีเอเปก นำเสนอประสบการณ์ไทยใช้การค้าดิจิทัลเป็นเครื่องมือฟื้นฟูเศรษฐกิจ เร่งใช้ BCG Model ขับเคลื่อนการค้ายุคใหม่ที่เน้นความยั่งยืนและดูแลสิ่งแวดล้อม พร้อมหนุน APEC พัฒนาเป็นเขตการค้าเสรี ดัน WTO กำหนดกติกาอีคอมเมิร์ซ การเข้าถึงวัคซีน ทำกฎเกณฑ์อุดหนุนประมง ลดอุดหนุนเกษตรที่บิดเบือน
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีเอเปก APEC Minister Meeting 2021 (AMM) ครั้งที่ 32 ผ่านระบบ Video Conference ณ ห้องบุรฉัตรไชยากร กระทรวงพาณิชย์ เมื่อช่วงเย็นวันที่ 8 พ.ย.2564 ว่า ในการประชุมครั้งนี้ ไทยได้นำเสนอประสบการณ์ในการใช้การค้าดิจิทัลเป็นเครื่องมือสำหรับการฟื้นฟูเศรษฐกิจ เพราะปัจจุบันรูปแบบการค้าเปลี่ยนแปลงไปมาก การค้าดิจิทัลได้เข้ามามีบทบาทสำคัญมากขึ้น
โดยเฉพาะเมื่อเกิดวิกฤติโควิด-19 ซึ่งไทยมีกิจกรรมที่ส่งเสริมการค้าออนไลน์ ทั้งออนไลน์และออนไซต์ผสมกัน จัดให้มีการเจรจาจับคู่ธุรกิจออนไลน์ จัดอบรมเกษตรกร SMEs และ Micro SMEs ให้สามารถใช้แพลตฟอร์มการค้าออนไลน์ในการทำธุรกิจ และเดินหน้าสร้างนักธุรกิจยุคใหม่ภายใต้โครงการ From GEN Z to be CEO โดยอบรมนิสิตนักศึกษามากกว่า 20,000 ราย เพื่อเตรียมพร้อมเติบโตไปเป็นแม่ทัพทางเศรษฐกิจให้ประเทศไทยต่อไปในอนาคต
ทั้งนี้ ไทยได้แสดงวิสัยทัศน์ในการสนับสนุนใช้ BCG Model ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยจะใช้โมเดล BCG กับการขับเคลื่อนพัฒนา SMEs และ Micro SMEs เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้งด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมต่อไปในอนาคต และในปี 2022 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพการประชุม APEC ก็จะจัดให้มีการสัมมนาใหญ่ในเรื่องนี้ เนื่องจากตระหนักดีว่าการค้ายุคใหม่ต้องไปคู่กับการดูแลสิ่งแวดล้อม เพื่อความยั่งยืน
นายจุรินทร์ กล่าวว่า ไทยได้ยืนยันที่จะสนับสนุนให้ APEC พัฒนาไปเป็นเขตการค้าเสรี หรือ FTA ต่อไปในอนาคต จะใช้ชื่อว่า FTAAP ที่จะมีผลทำให้ความร่วมมือในกลุ่มประเทศ APEC 21 เขตเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น และจะช่วยลดเลิกอุปสรรคทางการค้า ทำให้เศรษฐกิจเชื่อมโยงและเติบโตในระยะยาว
ส่วนการประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลก (WTO) ในช่วงปลายเดือนพ.ย.ถึงต้นธ.ค.2564 เห็นว่า APEC ควรมีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้การประชุมมีผลลัพธ์ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยเฉพาะการกำหนดกติกาอีคอมเมิร์ซที่มีความโปร่งใส มีความยุติธรรม ไม่ว่าจะเป็นประเทศเล็กหรือใหญ่ในโลกที่เป็นสมาชิก WTO และให้ความสำคัญกับการคุ้มครองผู้บริโภคจากการค้าออนไลน์หรือแพลตฟอร์มต่าง ๆ รวมถึงการผลักดันให้มีการเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 อย่างทั่วถึง การจัดทำกฎเกณฑ์การอุดหนุนประมง การลดการอุดหนุนเกษตรที่บิดเบือน
สำหรับ APEC เป็นข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ แต่ยังไม่ถือว่าเป็น FTA มีอยู่ด้วยกัน 21 เขตเศรษฐกิจ มีประชากรรวมกัน 2,900 ล้านคน มี GDP รวมกัน 60% ของโลก มีมูลค่า 53 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ โดยการค้าระหว่างไทยกับ APEC ในช่วง 9 เดือน ปี 2564 (ม.ค.-ก.ย.) มีมูลค่า 284,966 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 22.76% คิดเป็น 70% ของการค้าไทยที่ค้ากับโลก โดยไทยส่งออกไปยังกลุ่ม APEC มูลค่า 144,426 ล้านเหรียญสหรัฐ นำเข้า 140,540 ล้านเหรียญสหรัฐ ได้ดุลการค้า 3,385 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ เช่น รถยนต์ อุปกรณ์ และชิ้นส่วนเครื่องคอมพิวเตอร์ ผลิตภัณฑ์ยาง เม็ดพลาสติก ผลไม้ อัญมณีเครื่องประดับ เครื่องปรับอากาศ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ผลิตภัณฑ์พลาสติก เป็นต้น
โดยหลังการประชุมรัฐมนตรีเอเปก ครั้งที่ 32 จบแล้ว จะมีการประชุมสำคัญอีกครั้งในวันที่ 12 พ.ย.2564 ซึ่งเป็นการประชุมในระดับผู้นำประเทศ และจะมีการส่งมอบการเป็นเจ้าภาพจากนิวซีแลนด์มาเป็นประเทศไทย และจะถือว่าประเทศไทยรับไม้ต่อการเป็นเจ้าภาพเอเปกต่อจากนิวซีแลนด์เป็นระยะเวลาหนึ่งปี จนถึงเดือนพ.ย.2565
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ