- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Saturday, 06 November 2021 17:00
- Hits: 7478
ข้าวไทยผงาด!'จุรินทร์'ออนทัวร์ชัยนาท เปิดประกวดข้าวพันธุ์ใหม่ ใช้ยุทธศาสตร์'ตลาดนำการผลิต' ตอบโจทย์โลก ในปี 67 ได้ข้าวพันธุ์ใหม่อย่างน้อย 12 พันธุ์
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ คณะผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ และร.ต.ท. เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย นายนที มนตริวัต รองผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาท สมาคมโรงสีข้าวไทย เปิดโครงการประกวดข้าวพันธุ์ใหม่ เพื่อการพาณิชย์ ภายใต้ยุทธศาสตร์ข้าวไทย ที่ศูนย์วิจัยข้าวชัยนาท ตําบลเขาท่าพระ อําเภอเมือง ชัยนาท จังหวัดชัยนาท
นายจุรินทร์ กล่าวว่า วันนี้ถือว่าเป็นวันประวัติศาสตร์วันหนึ่งของการเกษตรไทย เป็นครั้งแรกที่มีการจับมือกันทำกิจกรรมที่เป็นอนาคตข้าวของประเทศไทย โดย 4 หน่วยงาน กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยและสมาคมผู้รวบรวมและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าว จะมีผลทำให้อนาคตข้าวไทย เดินหน้าไปสู่ความรุ่งโรจน์อีกครั้งนึง
สำหรับ ความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรฯกับกระทรวงพาณิชย์ เราดำเนินการมาเป็นระยะ ตั้งแต่ตนมารับผิดชอบ คือ วิสัยทัศน์ “เกษตรผลิตพาณิชย์ตลาด” ภายใต้ยุทธศาสตร์ “ตลาดนำการผลิต” และได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชน สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย มาช่วยเติมเต็มทำให้การทำงานของทั้ง 2 กระทรวงก้าวหน้า ซึ่งอดีตยุทธศาสตร์ข้าวนั้นยังไม่มีการรวบรวมและกำหนดอย่างเป็นทางการมาก่อน เป็นครั้งแรกที่มียุทธศาสตร์ข้าวเกิดขึ้น
โดยยุทธศาสตร์ข้าวไทย กำหนดระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ 63-67 โดยตนเป็นประธานและทำงานร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรฯ ทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย สมาคมเกษตรกร สภาการเกษตร สมาคมชาวนาและทุกสมาคมที่เกี่ยวข้อง นำเสนอผ่านที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ(นบข.)และที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบอย่างเป็นทางการมีจุดมุ่งหมายให้ประเทศไทยเป็นผู้นำการผลิต การตลาดข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวคุณภาพของโลก โดยใช้ยุทธศาสตร์ 'ตลาดนำการผลิต'
ซึ่งยุทธศาสตร์ที่ตอบโจทย์ปัญหาชัดเจน 1.การลดต้นทุนการผลิต เป้าหมาย ภายใน 5 ปี จะลดต้นทุนการผลิต จากไร่ละ 6,000 บาทให้เหลือไม่เกิน 3,000 บาท 2.จะเพิ่มผลผลิตจากปัจจุบันไร่ละ 465 กิโลกรัม เป็น 600 กิโลกรัมต่อไร่เป็นอย่างต่ำ และ 3.ปรับปรุงพันธุ์ข้าว เพราะรสนิยมการบริโภคข้าวโลกเปลี่ยนไปจากอดีตที่นิยมข้าวพื้นแข็ง ปัจจุบันตลาดโลกเป็นตลาดของข้าวพื้นนุ่ม แต่ประเทศไทยไม่สามารถผลิตข้าวพันธุ์ใหม่ได้ทันต่อเหตุการณ์ทำให้ขาดความหลากหลาย ไม่สนองความต้องการของตลาด เสียศักยภาพในการแข่งขันในตลาดข้าวโลก
ซึ่งการปรับปรุงพันธุ์ต้องใช้ระยะเวลาไม่สามารถทำได้อย่างรวดเร็ว ยุทธศาสตร์ข้าวจึงเป็นธงนำที่กำหนดชัดเจนว่าภายใน 5 ปีจะต้องสร้างข้าวพันธุ์ใหม่ให้ได้อย่างน้อย 12 พันธุ์ โดยเป็นข้าวพื้นแข็ง 4 พันธุ์ ข้าวพื้นนุ่ม 4 พันธุ์ ข้าวหอมมะลิ 2 พันธุ์และข้าวโภชนาการสูง เพื่อตอบสนองต่อความตลาดยุคใหม่อีก 2 พันธุ์ รวมเป็น 12 พันธุ์ภายใน 5 ปี
วันนี้เป็นการนับหนึ่งของประวัติศาสตร์ เอาภาคเอกชนมามีบทบาทสำคัญจับมือกับภาครัฐ กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกันคัดข้าวพันธุ์ใหม่ ที่จะนำเสนอต่อตลาดโลก นำรายได้เข้าประเทศ ทำให้ข้าวไทยผงาดขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งในอนาคต
โดยครั้งนี้มีผู้ส่งข้าวเข้าประกวดถึง 48 ราย และเปลี่ยนเกณฑ์การตัดสินจากเน้นกายภาพเป็นมุ่งเน้น 3 เรื่องสำคัญ เพื่อให้ข้าวที่ชนะการประกวดสามารถตอบสนองต่อความต้องการของตลาดโลก นำไปสู่การพาณิชย์นำรายได้เข้าประเทศ ซึ่งจะมีการตัดสินในเดือนธันวาคม อย่างน้อยประเทศไทยจะมีคำตอบที่เป็นรูปธรรมว่า จะได้ข้าวพันธุ์ใหม่เพิ่มอีกกี่พันธุ์
จะช่วยให้เกษตรกรอยู่ดีกินดีขึ้นมีรายได้เลี้ยงครอบครัวได้มากขึ้น นอกจากนี้ยังมีนโยบายอื่นเข้ามาช่วยเหลือ เช่น นโยบายประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว และมาตรการคู่ขนาน เงินเยียวยาช่วยเหลือ เพื่อให้เกษตรกรสามารถยังชีพได้อย่างมีความสุขและมีศักดิ์ศรีในฐานะชาวนาเกษตรกรผู้ปลูกข้าวไทย และมีส่วนช่วยให้ประเทศไทยมีรายได้เข้าประเทศเพิ่มขึ้น ให้ข้าวไทยของเราผงาดในตลาดโลกขึ้นมาได้อีกครั้งหนึ่ง หรือรุ่งเรืองยิ่งขึ้นต่อไป
นอกจากนี้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้พูดคุยกับทูตพาณิชย์จากต่างประเทศผ่านระบบ zoom ว่าเร่งรัดให้บุกเบิกตลาดข้าวใหม่ ส่งเสริมตลาดเดิมและตลาดข้าวที่เราสูญเสียไปให้กลับคืนมาเป็นตลาดข้าวของเราให้ได้
และสำหรับพาณิชย์จังหวัด ขอให้ทีมเซลล์แมนจังหวัดได้มีบทบาทสำคัญในการเปิดตลาดข้าวทั้งในประเทศและส่งต่อทีมเซลล์แมนประเทศให้ไปขายข้าวในตลาดต่างประเทศ และลงไปแก้ปัญหาราคาข้าวและปัญหาอื่นๆ ในขณะนี้
โค้งสุดท้าย ข้าวไทยแรงดี ลุ้นส่งออกได้ตามเป้า 6 ล้านตัน
กระทรวงพาณิชย์ เผยภาพรวมส่งออกข้าวไทยในช่วงครึ่งปีหลังกลับมาโตบวกต่อเนื่อง 3 เดือน ตั้งแต่เดือนมิถุนายน โดยมีปัจจัยบวกมาจากปริมาณผลผลิตเพิ่มและเงินบาทอ่อนค่า ส่งผลให้ราคาข้าวไทยแข่งขันได้ ลูกค้าสนใจหันมาสั่งซื้อข้าวจากไทยมากขึ้น ลุ้นส่งออกปี 64 ได้ตามเป้า 6 ล้านตัน
นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยถึงแนวโน้มการส่งออกข้าวไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 ว่า การส่งออกข้าวไทยกลับมาขยายตัวเป็นบวกตั้งแต่เดือนมิถุนายน – กรกฎาคม ที่ขยายตัว 7.35% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตลาดหลักที่ไทยส่งออกข้าวได้เพิ่มขึ้น ได้แก่ แอฟริกาใต้ จีน เยเมน และอิรัก และชนิดข้าวที่ส่งออกเป็นบวก ได้แก่ ข้าวนึ่ง ข้าวขาว และข้าวกล้อง
ทั้งนี้ คาดว่าการส่งออกข้าวไทยในช่วงครึ่งปีหลังจะขยายตัวต่อเนื่อง โดยจะเห็นได้จากสถิติการขอใบอนุญาตส่งออกข้าวของกรมการค้าต่างประเทศในเดือนสิงหาคมที่มีปริมาณสูงถึง 831,260 ตัน ขยายตัว 133.13% และล่าสุดเดือนกันยายน (วันที่ 1-20 กันยายน) ปริมาณ 631,363 ตัน เพิ่มขึ้น 61.78% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปี 2563 โดยตัวเลขการขอใบอนุญาตส่งออกข้าวดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงคำสั่งซื้อจากลูกค้าในต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น คาดว่าในปีนี้ไทยจะสามารถส่งออกข้าวได้ตามเป้าที่ปริมาณ 6 ล้านตัน
ทั้งนี้ ปัจจัยหลักที่ส่งผลให้ข้าวไทยสามารถส่งออกได้เพิ่มขึ้นมาจากราคาข้าวไทยที่ปรับตัวมาอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับราคาข้าวจากประเทศคู่แข่ง เช่น เวียดนามและอินเดีย โดยเฉพาะข้าวขาวและข้าวนึ่ง โดยราคาข้าวไทยที่ปรับตัวลดลงเป็นผลมาจากผลผลิตข้าวปีการผลิต 2564/65 ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์คาดการณ์ว่าจะมีปริมาณเพิ่มขึ้นประมาณ 4.97% และเงินบาทที่อ่อนค่าลงจากประมาณ 29 – 30 บาท ต่อ 1 เหรียญสหรัฐฯ ในช่วงต้นปี มาอยู่ที่ประมาณ 32 – 33 บาท ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมิถุนายนเป็นต้นมา ทำให้ช่องว่างระหว่างราคาข้าวไทยกับข้าวจากประเทศคู่แข่งลดลงและสามารถแข่งขันได้มากขึ้น
นายกีรติฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมการค้าต่างประเทศในฐานะหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ข้าวไทยด้านการตลาดต่างประเทศ ได้เร่งดำเนินการภายใต้หลักการ’ตลาดนำการผลิต’ ซึ่งเป็นนโยบายการส่งเสริมตลาดข้าวไทยของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์)
โดยกรมฯ ได้ร่วมกับทูตพาณิชย์ในฐานะเซลส์แมนประเทศเร่งการเจรจา/หารือเพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าและประชาสัมพันธ์ข้าวไทยกับคู่ค้าสำคัญอย่างต่อเนื่อง โดยได้ปรับรูปแบบการทำงานในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นการนัดประชุมหารือกับคู่ค้าสำคัญผ่านระบบ Video conference
ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมาได้หารือกับคู่ค้า เช่น ผู้นำเข้าข้าวฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ ฮ่องกง อิรัก เป็นต้น ซึ่งจากการหารือดังกล่าวทำให้ได้รับทราบถึงความต้องการของลูกค้ามากขึ้น โดยผู้นำเข้าข้าวให้ความเห็นว่า ‘นอกจากปัจจัยด้านราคาที่ข้าวไทยปรับตัวอยู่ในระดับที่แข่งขันได้มากขึ้นแล้ว อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ช่วยกระตุ้นการนำเข้าข้าวไทย ได้แก่ คุณภาพและมาตรฐานข้าวไทยที่เหนือกว่าคู่แข่ง รวมทั้งศักยภาพของผู้ส่งออกข้าวไทยที่สามารถส่งข้าวคุณภาพดีให้ลูกค้าได้แม้ช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ผู้นำเข้ามีความเชื่อมั่นในการนำเข้าข้าวจากไทยมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง’
ทั้งนี้ กรมการค้าต่างประเทศ ยังมีแผนการจัดประชุมหารือกับประเทศคู่ค้าสำคัญอื่นๆ เช่น อินโดนีเซีย บังกลาเทศ จีน เป็นต้น รวมทั้งเร่งประชาสัมพันธ์ข้าวไทยภายใต้แนวคิด ‘Think Rice Think Thailand’ ผ่านช่องทางออนไลน์และสื่อโซเชียลมีเดียต่างๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภค และขอให้ทูตพาณิชย์ในฐานะทีมเซลส์แมนประเทศใช้แนวคิดดังกล่าวในการประชาสัมพันธ์ข้าวไทย เพื่อกระตุ้นให้เกิดการรับรู้เกี่ยวกับข้าวไทยในกลุ่มผู้บริโภคทั่วโลกต่อไป
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ