- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Saturday, 30 October 2021 09:29
- Hits: 12962
สถาบันอัญมณีฯ เปิดตัว GIT Standard ใหม่ วางมาตรฐานตรวจสอบ ‘เพชร-หยก’
สถาบันอัญมณีฯ เดินหน้าสร้างมาตรฐานห้องปฏิบัติการตรวจสอบอัญมณีและเครื่องประดับ ประกาศใช้ GIT Standard ใหม่ วางมาตรฐานตรวจสอบ ‘เพชร-หยก’ หลังก่อนหน้านี้ นำร่องกำหนดมาตรฐานตรวจสอบอัญมณี ทองคำ และโลหะเงินไปแล้ว เตรียมผลักดันให้ห้องปฏิบัติการเข้าร่วม เพื่อช่วยยกระดับอุตสาหกรรม และสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภค
นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT เปิดเผยว่า ขณะนี้ GIT Standard ซึ่งเป็นมาตรฐานสำหรับห้องปฏิบัติการใช้เป็นมาตรฐานในการตรวจสอบสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ได้มีผลบังคับเพิ่มเติมอีกหลายมาตรฐาน ทำให้การวิเคราะห์ตรวจสอบอัญมณีและเครื่องประดับ มีความเป็นมาตรฐานสากล หรือเทียบเท่ามาตรฐานสากล ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพมาตรฐานการตรวจวิเคราะห์ ทดสอบสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ และผลักดันให้ห้องปฏิบัติการที่เปิดให้บริการอยู่ในปัจจุบัน มีมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ซื้อ ส่งเสริมอุตสาหกรรมให้เติบโต และช่วยสร้างภาพลักษณ์ไทยในการเป็นศูนย์กลางการผลิตและการค้าอัญมณีและเครื่องประดับของโลก
ทั้งนี้ ล่าสุด GIT ได้ประกาศใช้มาตรฐานหลักเกณฑ์ GIT จำนวน 3 ขอบข่าย ได้แก่ 1.ข้อกำหนดทั่วไปในการขึ้นทะเบียน 2.หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการใช้เครื่องหมาย 3.หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการขึ้นทะเบียนห้องปฏิบัติการ และด้านมาตรฐานวิธีวิเคราะห์และทดสอบอัญมณีและเครื่องประดับ จำนวน 9 ขอบข่าย ได้แก่ 1.เพชร วิธีการตรวจสอบประเภทของเพชร ด้วยเครื่อง FTIR spectrometer 2.เพชร การจัดระดับความสะอาด 3.เพชร การจัดระดับสี 4.เพชร การประเมินคุณภาพการเจียระไน 5.เพชร การจัดระดับการเรืองแสง 6.เพชร การชั่งน้ำหนัก 7.วิธีการตรวจสอบหยก และเฝ่ยฉุ้ย (Fei Cui) 8.วิธีการตรวจสอบชนิดหยกและเฝ่ยฉุ้ย (Fei Cui) ด้วยเครื่องรามานสเปกโตรสโคป และ 9.วิธีการตรวจสอบชนิดหยกและเฝ่ยฉุ้ย (Fei Cui) ด้วยเครื่องฟูเรียร์ทรานส์ฟอร์มอินฟราเรดสเปกโตรมิเตอร์
นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT
ก่อนหน้านี้ เมื่อปี 2563 GIT ได้ประกาศใช้มาตรฐานห้องปฏิบัติการตรวจสอบอัญมณี เครื่องประดับ และโลหะมีค่า ในเฟสแรก จำนวน 5 ขอบข่าย ได้แก่ 1.วิธีมาตรฐานสำหรับการทดสอบอัญมณี 2.การวิเคราะห์หาปริมาณทองคำ ด้วยวิธี Cupellation (Fire Assay) 3.การวิเคราะห์หาเปอร์เซ็นต์ทองคำ ในตัวอย่างโลหะมีค่าโดยใช้เทคนิค X-Ray Fluorescence (XRF) 4.การวิเคราะห์หาความหนาทองคำ ในตัวอย่างเครื่องประดับชุบโลหะมีค่า โดยใช้เทคนิค X-Ray Fluorescence (XRF) และ 5.การวิเคราะห์หาปริมาณโลหะเงิน โดยเทคนิค Potentiometric Titration ด้วยเครื่อง Auto Titrator
“ปัจจุบัน GIT กำลังอยู่ระหว่างการผลักดันให้ห้องปฏิบัติการเข้าร่วมใช้ GIT Standard เพื่อพัฒนาและยกระดับมาตรฐานห้องปฏิบัติการในประเทศไทยให้เทียบเท่าระดับสากล ซึ่งไม่เพียงแต่จะช่วยเสริมสร้างความน่าเชื่อถือให้ห้องปฏิบัติการ แต่ยังสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคได้มากขึ้นว่าสินค้าที่ผ่านการตรวจสอบจากห้องปฏิบัติการเชื่อถือได้ อันจะส่งผลให้เกิดความเชื่อมั่นในสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทย สมกับการเป็นศูนย์กลางการค้าและการผลิตอัญมณีและเครื่องประดับโลก”นายสุเมธกล่าว
ที่ผ่านมา GIT ได้เชิญหน่วยงานต่างๆ เช่น สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ สมาคมค้าทองคำ สมาคมช่างทองไทย สมาคมผู้ส่งออกเครื่องประดับเงินไทย สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กรมการท่องเที่ยว ผู้แทนจากภาคเอกชน และผู้เชี่ยวชาญด้านอัญมณีและเครื่องประดับ เข้ามาร่วมเป็นคณะกรรมการจัดทำมาตรฐาน
และได้จัดทำประชาพิจารณ์เปิดรับฟังความคิดเห็นจากสาธารณชนผ่านช่องทางเว็บไซต์ และเฟซบุ๊กของสถาบันฯ โดยคณะกรรมการวิชาการได้นำข้อคิดเห็นดังกล่าวมาประกอบการพิจารณาเพื่อกำหนดมาตรฐาน GIT Standard และประกาศใช้มาตรฐานออกมาอย่างต่อเนื่อง
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ