- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Wednesday, 20 October 2021 20:36
- Hits: 16102
จุรินทร์ หนุนอาเซียนผนึกกำลังรับมือความขัดแย้งทางการค้าของชาติมหาอำนาจ
จุรินทร์ เผยจะมีการประชุมอาเซียน ซัมมิท วันที่ 26-28 ต.ค.นี้ เพื่อหารือการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม หนุนไทยผนึกอาเซียนรับมือความขัดแย้งทางการค้าของประเทศมหาอำนาจ ที่จะมีผลกระทบด้านการเมืองและเศรษฐกิจ พร้อมย้ำต้องหาคำตอบให้ได้ทุกประเด็นในการเข้าร่วม CPTPP เพื่อนำไปสู่การพิจารณาข้อสรุปในเรื่องนี้
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จะมีการประชุมอาเซียนซัมมิท วันที่ 26-28 ต.ค.2564 ซึ่งปีนี้บรูไนเป็นเจ้าภาพ และหลังการประชุม จะมีการส่งมอบประธานอาเซียนให้กับกัมพูชา โดยประเด็นสำคัญในการประชุมครั้งนี้ ผู้นำประเทศจะหารือกันทั้งเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม เช่น การหารือเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 BCG โมเดล เพื่อเดินหน้าเศรษฐกิจสีเขียว จุดยืนอาเซียนต่อภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก บทบาททางสร้างสรรค์ให้กับสถานการณ์ในเมียนมา ความร่วมมือทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมระหว่างอาเซียนกับกลุ่มประเทศต่าง ๆ รวมทั้งการแก้ปัญหาในคาบสมุทรเกาหลีอย่างสร้างสรรค์ เป็นต้น และยังจะมีการประชุมระหว่างอาเซียนกับจีน เกาหลี สหรัฐฯ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย เอเชียตะวันออก อินเดียและรัสเซีย เป็นต้น
“หลักใหญ่จะเป็นเรื่องของ BCG โมเดล (Bio-Circular-Green Economy) ซึ่งจะมีหลายกระทรวงที่เกี่ยวข้อง กระทรวงการต่างประเทศจะเป็นผู้ที่เข้าไปมีบทบาทหลัก เรื่องเศรษฐกิจจะเป็นส่วนประกอบ เพราะเป็นหนึ่งใน 3-4 ประเด็นใหญ่ ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ ความมั่นคง เป็นต้น ผมคิดว่าสิ่งที่ประเทศไทย รวมทั้งอาเซียน จะต้องติดตามสถานการณ์โดยใกล้ชิด ประเด็นหนึ่ง คือ ความขัดแย้งทางการค้าและการเมืองโลกระหว่างกลุ่มประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจทั้งสหรัฐฯ สหภาพยุโรป (อียู) จีน ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส ที่กำลังมีปัญหาในขณะนี้ อยากเห็นอาเซียนติดตามเรื่องนี้โดยใกล้ชิด เพราะนอกจากจะมีผลกระทบทางด้านการเมืองของภูมิภาค อาจจะมีผลกระทบทางเศรษฐกิจตามมา ไทยและอาเซียนควรได้มีการหารือกำหนดจุดยืนร่วมกัน เพื่อจะได้มีพลังในการติดตามสถานการณ์และเดินหน้าทางเศรษฐกิจต่อไป”
นายจุรินทร์ กล่าวว่า ประเด็นเรื่องความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ที่ยังมีความเห็นไม่ตรงกัน ภาคเอกชนอยากให้เดินหน้า ภาคประชาสังคม มีข้อโต้แย้ง แต่สิ่งหนึ่งที่ตนเคยเสนอไป และพูดในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว คือ การหาข้อสรุปจากที่คณะกรรมาธิการของสภาเสนอมาว่า แต่ละกระทรวง แต่ละหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องมีประเด็นใดบ้างที่จะต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้น หรือมีการบ้านกี่ข้อ ซึ่งคณะกรรมการชุดนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ต่างประเทศ ที่ ครม. มอบหมาย ควรมีข้อสรุปในเรื่องนี้ว่า หนึ่งกระทรวงมีการบ้านกี่ข้อทำไปแล้วกี่ข้อ เพื่อจะได้หาข้อสรุปว่าสุดท้ายหน่วยราชการต่าง ๆ มีความพร้อมกี่เปอร์เซ็นต์ จะได้นำมาสู่การพิจารณาต่อไปได้
นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการชุดนายดอน ควรจะได้ทำความเข้าใจร่วมกันระหว่างฝ่ายต่าง ๆ ที่ยังมีความเห็นไม่สอดคล้องกันอยู่ เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจดำเนินการต่อไปให้เกิดประโยชน์สูงสุด
สำหรับ เรื่องเปิดประเทศ ทุกหน่วยที่เกี่ยวข้อง ต้องเดินหน้าไปตามนโยบาย และทุกฝ่ายต้องเตรียมความพร้อมสำหรับการเดินหน้าให้เป็นไปตามนโยบาย โดยตนคิดว่าการแก้ปัญหาโควิด-19 กับเศรษฐกิจ ต้องทำควบคู่กันไป จะไปทิ้งเรื่องใดเรื่องหนึ่งไม่ได้ ที่สำคัญเมื่อสถานการณ์โควิด-19 ค่อนข้างทรงตัวและเบาบางลง คิดว่าภารกิจของทุกคนคือ จะต้องนำเศรษฐกิจฝ่าวิกฤตโควิด-19 ไปให้ได้ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ เพราะฉะนั้นปัจจัยหลัก คือ ความสมดุลระหว่างการแก้ปัญหาโควิด-19 กับเศรษฐกิจอยู่ตรงไหน ควรเดินไปทางนั้น เพื่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกัน
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ