- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Saturday, 02 October 2021 16:33
- Hits: 9479
อาเซียน ถกฟื้นเจรจา FTA กับอียู เดินหน้าร่วมมือเศรษฐกิจกับยูเค 11 เรื่อง
รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนหารือฟื้นเจรจา FTA กับสหภาพยุโรป เล็งจัดประชุมผู้เชี่ยวชาญสร้างความเข้าใจประเด็นการค้าใหม่ พร้อมร่วมมือฟื้นฟูเศรษฐกิจจากโควิด-19 การหารือกับยูเคครั้งแรก เคาะร่วมมือเศรษฐกิจ 11 เรื่อง ด้านสวิตเซอร์แลนด์ มอบเจ้าหน้าที่อาวุโสเร่งสรุปความร่วมมืออาเซียน-เอฟตา ส่วนรัสเซียเห็นพ้องปรับแผนร่วมมือการค้า ลงทุน เดินหน้าร่วมมือยูเรเซีย
ดร.สรรเสริญ สมะลาภา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อช่วงกลางเดือนกันยายน 2564 ที่ผ่านมา ได้รับมอบหมายจากนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนกับรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจของคู่ค้าสำคัญ ได้แก่ สหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร สวิตเซอร์แลนด์ และรัสเซีย ผ่านการประชุมทางไกล เพื่อกระชับความสัมพันธ์ และติดตามความคืบหน้าความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนระหว่างกัน
โดยการประชุมร่วมกับกรรมาธิการยุโรปด้านการค้า ได้เห็นชอบแผนงานด้านการค้าและการลงทุนร่วมกัน การหารือเกี่ยวกับการเตรียมการเจรจาความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-สหภาพยุโรป โดยจะจัดประชุมระดับผู้เชี่ยวชาญเพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันในประเด็นการค้าใหม่ ๆ เช่น พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ และการค้าและพัฒนาที่ยั่งยืน และเห็นพ้องที่จัดประชุมระดับรัฐมนตรีและระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง รวมถึงกิจกรรมความร่วมมือเพื่อสนับสนุนการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียนให้แน่นแฟ้นขึ้น
ขณะเดียวกัน ได้หารือเกี่ยวกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบของโควิด-19 โดยเห็นพ้องถึงความสำคัญของ ความร่วมมือกันในเรื่องการเข้าถึงวัคซีนอย่างมีประสิทธิภาพและคุณภาพ ความร่วมมือในด้านดิจิทัล การพัฒนาที่ยั่งยืน การส่งเสริมความเชื่อมโยงของห่วงโซ่อุปทานระหว่างกันเพื่อให้ระบบเศรษฐกิจมีความยืดหยุ่น และจะร่วมกันปฏิรูปองค์การการค้าโลก (WTO) ตลอดจนจะผลักดันให้การประชุมรัฐมนตรี WTO ครั้งที่ 12 ในช่วงปลายเดือนพ.ย.2564 บรรลุผลสำเร็จ
ทั้งนี้ รัฐมนตรีทั้งสองฝ่ายยังได้พบหารือกับสภาธุรกิจสหภาพยุโรป-อาเซียน (EU-ASEAN Business Council: EU-ABC) โดยภาคเอกชนได้ให้ข้อคิดเห็นต่ออาเซียนหลายประการ อาทิ ขอให้ลดการใช้มาตรการการค้าที่มิใช่ภาษีระหว่างกัน ควรให้มีกฎระเบียบด้านมาตรฐานสินค้าเหมือนหรือใกล้เคียงกันมากที่สุด ส่งเสริมความคุ้มครองด้านทรัพย์สินทางปัญญามากขึ้น การส่งเสริมพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การจัดการด้านข้อมูลเพื่อรองรับเศรษฐกิจดิจิทัล การอนุญาตการเดินทางข้ามพรมแดนระหว่างกัน เป็นต้น ซึ่งไทยได้ย้ำถึงความสำคัญของการทำ FTA ระหว่างกัน และสนับสนุนข้อเสนอแนะของภาคธุรกิจเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการค้าการลงทุนในภูมิภาค
ดร.สรรเสริญ กล่าวว่า สำหรับการหารือระหว่างรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนกับนางเอลิซาเบธ ทรัส รัฐมนตรีกระทรวงการค้าระหว่างประเทศของสหราชอาณาจักร (ยูเค) ถือเป็นการประชุมกันเป็นทางการครั้งแรก หลังจากที่ยูเคได้รับสถานะเป็นประเทศคู่เจรจาของอาเซียนเมื่อวันที่ 2 ส.ค.2564 ที่ผ่านมา โดยที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบต่อปฏิญญาร่วมระดับรัฐมนตรีว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนาคตระหว่างอาเซียนและยูเคใน 11 เรื่อง และได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจของทั้งสองฝ่ายหารือกันเพื่อกำหนดแผนการดำเนินความร่วมมือใน
รายละเอียดต่อไป ซึ่งไทยสนับสนุน เพราะเป็นประโยชน์ต่ออาเซียน ทั้งประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการพัฒนาที่ยั่งยืน การรับมือกับความท้าทายในปัจจุบันและอนาคต เช่น การฟื้นฟูเศรษฐกิจจากโควิด-19 และการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย การเรียนรู้ในประเด็นที่ยูเคมีความเชี่ยวชาญ เช่น นวัตกรรมดิจิทัล บริการทางการเงิน และการศึกษา และการส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างกัน เช่น การเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานอาเซียน-ยูเค
ส่วนการหารือกับสวิตเซอร์แลนด์ ได้ติดตามการจัดทำเอกสาร Joint Declaration of Cooperation (JDC) ระหว่างอาเซียนและเอฟตา (สวิตเซอร์แลนด์ ลิกเตนสไตน์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์) โดยเร่งรัดให้เจ้าหน้าที่อาวุโสทั้งสองฝ่ายเร่งหาข้อสรุปภายในปีนี้ และได้หารือความร่วมมือระหว่างกันภายใต้แผนความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างอาเซียน-สวิตเซอร์แลนด์ในช่วงปี 2022-2026 ซึ่งไทยได้เน้นย้ำในประเด็นการค้าชีวภาพ (Bio Trade) เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมในการทำธุรกิจสีเขียวและสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน และให้ความสำคัญกับการส่งเสริมนวัตกรรมและเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้เร็วขึ้น
ทางด้านผลการหารือกับรัสเซีย ได้ติดตามแผนความร่วมมือการค้าและการลงทุนอาเซียน-รัสเซียภายหลังปี 2560 โดยมีโครงการที่ดำเนินการร่วมกัน 25 โครงการ มูลค่า 7.4 ล้านเหรียญสหรัฐ เช่น เกษตรและประมง วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม MSMEs สุขภาพ วัฒนธรรมและเยาวชน การท่องเที่ยว พลังงาน เป็นต้น
ซึ่งที่ประชุมได้เห็นชอบการปรับปรุงแผนความร่วมมือ แผนปฏิบัติการด้านการค้าการลงทุนสำหรับปี 2564–2568 เพื่อให้ทั้งสองภูมิภาคได้ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันให้เน้นแฟ้นมากยิ่งขึ้น อันเป็นการเฉลิมฉลองโอกาสครบรอบ 25 ปีของความสัมพันธ์อาเซียน-รัสเซียด้วย และยังได้ติดตามความร่วมมือระหว่างอาเซียนและสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย ซึ่งรัฐมนตรีทั้งสองฝ่ายได้รับทราบความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนงาน เช่น การจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในเรื่องแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังการระบาดของไวรัสโควิด-19
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ