WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

พาณิชย์ แนะผู้ส่งออกไทยไป EU พัฒนา-สร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าก่อนถูกตัดสิทธิ GSP

    นางอัมพวัน พิชาลัย รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยผลการศึกษาของสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนย.) ว่า ในระยะเวลา 10 ปีภายหลังจากที่สหภาพยุโรป (EU) ได้ขยายรับสมาชิกเพิ่ม 10 ประเทศในปี 2547 (บัลแกเรียและโรมาเนียเข้าเป็นสมาชิกในปี 2550 และโครเอเชียเข้าเป็นสมาชิกล่าสุดในปี 2556) การค้าภายในระหว่าง EU ด้วยกันขยายตัวอย่างก้าวกระโดด และไทยได้สูญเสียส่วนแบ่งตลาดของสินค้าหลายรายการให้กับคู่แข่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศสมาชิกใหม่ใน EU ผู้ส่งออกไทยไป EU จึงต้องเร่งปรับตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะที่การเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีไทย-EU ยังไม่มีความคืบหน้าและไทยกำลังจะถูกตัดสิทธิ GSP ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558

    หลังจากการขยายการรับสมาชิกใหม่ครั้งใหญ่เมื่อ ปี 2547 มูลค่าการค้าเฉลี่ยระหว่างสมาชิกเดิม (EU15) กับสมาชิกใหม่ (EU12) เพิ่มขึ้นจาก 314,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ในปี 2546 เป็น 783,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ในปี 2556 หรือขยายตัวเฉลี่ย 9.6% ทำให้ EU12 กลายมาเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของ EU15 แทนที่สหรัฐอเมริกา

    การเพิ่มขึ้นของการค้าภายในระหว่าง EU15 กับ EU 12 ทำให้ไทยสูญเสียส่วนแบ่งตลาดใน EU15 ให้กับ EU 12 โดยส่วนแบ่งตลาดของไทย ลดลงจาก 1.16% ในปี 2546 เหลือเพียง 0.82% ในปี 2556 ในขณะที่ EU12 มีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นจาก 12.8% มาเป็น 15.4% นอกจากนี้ จีน เวียดนาม กัมพูชาและกลุ่มประเทศ EU Candidates (ตุรกี ไอซ์แลนด์ และมาซิโดเนีย) ก็มีส่วนแบ่งตลาดที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน

    สินค้าที่ไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันให้กับ EU12 เป็นสินค้าในหมวดเครื่องจักร  อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์และส่วนประกอบ ซึ่งไทยสูญเสียส่วนแบ่งตลาดให้กับ ฮังการี โปแลนด์ และสาธารณรัฐเช็ก เนื่องจากทั้ง 3 ประเทศที่มีโครงสร้างสินค้าส่งออกที่คล้ายคลึงกับไทยมากในหมวดสินค้าข้างต้น นอกจากนี้ ยังพบว่า สินค้าในหมวดอัญมณี และยางพารา เป็นสินค้าที่ไทยมีความสามารถในการแข่งขันในตลาด EU15 ลดลง ในขณะที่สินค้าหลายรายการที่มีมูลค่าเพิ่มสูงที่ EU15 ต้องการนำเข้าจากประเทศอื่นๆ แต่ไทยไม่ได้ส่งออก เช่น สินค้าหมวดเคมีภัณฑ์ เหล็กและเหล็กกล้า และเครื่องจักรกลบางรายการ ทั้งนี้ สินค้าไทยหลายรายการไม่ได้เผชิญการแข่งขันที่สูงจาก EU12 แต่กลับประสบปัญหาการกีดกันทางการค้าจาก EU15 เช่น สินค้าหมวดอาหารทะเล ผักและผลไม้

   ผู้ส่งออกไทยไป EU จึงควรพัฒนามาตรฐานสินค้าและเร่งสร้างมูลค่าเพิ่มอย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มส่วนแบ่งตลาดให้กับสินค้าที่ไทยมีความสามารถในการแข่งขันสูงและไม่ได้เผชิญการแข่งขันสูงในตลาด EU15 มากนัก เช่น อาหาร และผักผลไม้ นอกจากนี้ ควรหันมาพัฒนาและส่งออกสินค้าสำหรับผู้สูงอายุ สินค้า Organic และสินค้าเพื่อสุขภาพไป EU15 โดยเน้นที่ นอร์เวย์ สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ และเยอรมัน ซึ่งได้กลายเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์แล้ว ในขณะเดียวกัน ผู้ส่งออกสินค้าเทคโนโลยีต้องเร่งพัฒนานวัตกรรมและเพิ่มมูลค่าสินค้าให้ตรงกับความต้องการของตลาด EU15 มากขึ้น หรือกระจายการส่งออกไปยังตลาดอื่นๆที่มีศักยภาพ อาทิ จีน อินเดีย รัสเซีย และอาเซียน ซึ่งมีกำลังซื้อสูงและมีความนิยมในสินค้าไทย

   นอกจากนี้ สำหรับสินค้ายางและผลิตภัณฑ์ยาง ไทยต้องเร่งเพิ่มมูลค่าและการแปรรูป เนื่องจากผลิตภัณฑ์ยางหลายรายการเช่น ยางธรรมชาติที่กำหนดไว้ใช้ทางเทคนิค ถุงมือยางที่ใช้ในทางศัลยกรรม มีส่วนแบ่งตลาดใน EU15 ลดลง และเผชิญการแข่งขันสูงขึ้นจาก EU12 รวมทั้ง ผู้ประกอบการต้องติดตามการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบทางการค้าของ EU อย่างใกล้ชิด เพื่อให้สามารถปรับตัวได้ทันการณ์

อินโฟเควสท์

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!