- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Wednesday, 16 June 2021 23:39
- Hits: 6127
DEmark Award เส้นทางสู่ความสำเร็จของนักออกแบบไทยสู่สากล
การได้รับการยอมรับ นับเป็นสิ่งที่หลายคนยอมรับว่ามันคือแรงกระตุ้นที่ทำให้เราต้องการทำสิ่งที่ดี ให้ดีขึ้นกว่าเดิม การที่ได้ทำในสิ่งที่รัก มุ่งมั่นและพัฒนาจนได้รับการยอมรับ ย่อมเป็นแรงส่งให้เกิดความพยายามเพื่อให้ประสบความสำเร็จในลำดับที่สูงขึ้นต่อไป รางวัล DEmark Award ถือเป็นหนึ่งในเส้นทางสู่ความสำเร็จและสร้างการยอมรับของนักออกแบบไทย เพื่อปูทางสู่การแข่งขันระดับสากล สำนักส่งเสริมนวัตกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อการค้า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ หรือ DITP มุ่งมั่นให้การสนับสนุนพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมออกแบบของไทยให้มีศักยภาพในการแข่งขันในตลาดโลก มาอย่างต่อเนื่อง และในปีนี้ ได้เตรียมพร้อมสำหรับการคัดเลือกและตัดสินสินค้าไทยที่มีการออกแบบดี ปี 2564 หรือ รางวัล Design Excellence Award (Demark) DEmark Award ต่อเนื่องเป็นปีที่ 14 ภายใต้แนวคิด REGENERATIVE DESIGN FOR THE NEXT สะท้อนดีไซน์ เชื่อมวิถีใหม่ “ปฏิรูปกระบวนการออกแบบโดยให้คุณค่าและความสำคัญกับความต้องการในการใช้ชีวิตและไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนแปลงไป ตอบโจทย์วิถีใหม่ของผู้คนในโลกที่ทุกคนต้องปรับตัว (Next Normal)”
คุณสมชนะ กังวารจิตต์ (แชมป์) PROMPT Design DEmark Award Winner 2018-2020 เล่าประสบการณ์การค้นหาตนเองจนเจอจากการได้รับการยอมรับจากผู้อื่น จนประสบความสำเร็จเป็นนักออกแบบบรรจุภัณฑ์คนไทยที่สร้างชื่อเสียงจากการออกแบบ เจ้าของรางวัลการออกแบบระดับโลก เช่น เหรียญทองจาก Pentawards, รางวัลชนะเลิศอันดับ 1 ของสมาคม The Dieline, ชนะเลิศ Red Dot ที่เยอรมนี เป็นต้น และได้รับเชิญให้เป็นหนึ่งในกรรมการตัดสินรางวัลออกแบบบรรจุภัณฑ์ของโลก เช่น Pentawards ของยุโรป, Good Design ของญี่ปุ่น, Core77 ของอเมริกา และอีกมากมาย ได้เล่าประสบการณ์และให้ข้อคิด ที่เป็นประโยชน์สำหรับนักออกแบบรุ่นน้องที่กำลังสนใจส่งผลงานเข้า DEmark Award ในปีนี้
จากประสบการณ์ของผู้ที่ได้รับรางวัลมากมาย คุณแชมป์มีความเห็นเรื่องของงานออกแบบในปัจจุบันว่ามีความยากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเรื่องการตลาดมีความซับซ้อนมากขึ้น อีกทั้งผู้บริโภคก็เปลี่ยนไป งานออกแบบจึงต้องมีความลึกซึ้งมากขึ้น ต้องตีโจทย์ความต้องการของลูกค้าให้แตก ดังนั้น “การฝึกฝน” เป็นประจำและทำอย่างต่อเนื่องจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้เราเก่งขึ้น
“วิกฤติโควิด-19 อาจทำให้ธุรกิจหยุดชะงัก แต่เราต้องไม่หยุด “ฝึกฝน” และ “เรียนรู้” นักออกแบบต้องไม่หยุดคิด ถึงแม้ว่าบางช่วงจะไม่มีคนจ้าง เราก็ต้องเป็นคนตั้งโจทย์เอง หาคำตอบเอง และทำขึ้นมาเอง ทำต่อเนื่องจนมีคนเห็นผลงานของเรา เท่านั้นยังไม่พอ ทุกวันนี้โลกไปเร็วมาก ถ้าเราจะแข่งในพื้นที่ที่มีคนเก่งเราต้องวิ่งและพัฒนาไปให้เร็วกว่าโลก เช่น เรารู้ว่า กบ กระโดดเก่ง เราก็ต้องกระโดดให้เก่งกว่ากบ” แชมป์ยกตัวอย่างและเล่าต่อว่า “สำหรับตนเองส่วนหนึ่งที่เป็นแรงผลักดันให้สามารถส่งผลงานที่เป็นที่ยอมรับได้คือ “ความขยัน” และมี “เป้าหมาย” ที่ชัดเจน การที่มีคนเก่งเยอะ เก่งแต่ไม่ขยัน ก็สู้คนที่กลางๆ แต่มีความขยันไม่ได้ ดังนั้น การที่จะเป็นนักออกแบบที่มีชื่อเสียงนั้นไม่ยากเกินกว่าที่เราจะไปให้ถึง”
สำหรับรางวัล DEmark เป็นเวทีที่ยกระดับมาตรฐานงานออกแบบคนไทยสู่สากลให้เราได้ส่งผลงานแสดงความสามารถ สร้างโอกาสให้เราสามารถไปต่อยอดได้ในเวทีโลก ต้องขอบคุณ สำนักส่งเสริมนวัตกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อการค้า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ที่ได้จัดทำโครงการนี้มาอย่างต่อเนื่อง ในฐานะที่ผ่านเวทีรับรางวัลมากมากมายและจากประสบการณ์ของการเป็นกรรมการตัดสิน ขอฝากให้นักออกแบบรุ่นน้องให้คำนึงถึงมิติต่างๆ ในการทำงานเพื่อตอบโจทย์ของลูกค้า นอกเหนือจากความสวยงามของสินค้าแล้ว เราต้องคำนึงมิติด้านอื่นๆ ด้วย เช่น ด้านการตลาด การผลิต ประโยชน์ใช้สอย ผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งตัวผู้บริโภคเองด้วย นำมาผสมผสานในการออกแบบจะทำให้ผลงานออกมาสมบูรณ์แบบ
“การได้ส่งผลงานเข้าชิงรางวัล ไม่ว่าจะได้รับรางวัลหรือไม่ก็ตาม ถือว่าเป็นโอกาสของเราที่จะได้ฝึกฝน ศึกษาหาจุดบกพร่อง ดังนั้นจึงอยากแนะนำรุ่นน้องว่าอย่ารอ ให้ทำทันที เราจะได้พัฒนา และฝึกฝนเพื่อความสำเร็จตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ ถ้าวันนี้ยังไม่สำเร็จ ท้องฟ้า ยังไงๆ ก็เป็นสีฟ้า ถึงแม้ว่าวันนี้มันจะออกสีหม่นๆ แต่วันนึงเมื่อฟ้าเปิด เราก็จะเห็นสีฟ้าของท้องฟ้า” คุณแชมป์ส่งกำลังใจให้ทุกคน
คุณอมตะ หลูไพบูลย์ (บี) Department of Architecture Co.,Ltd. DEmark Award Winner 2020 สถาปนิกเจ้าของผลงานออกแบบที่ได้รับรางวัลหลากหลายมากมายทั้งในและต่างประเทศ กล่าวถึงผลงานที่ภาคภูมิใจที่ได้รับรางวัล DEmark หนึ่งในนั้นคือการออกแบบ โรงแรม Little Shelter Chiangmai ที่เป็นการออกแบบผสมผสานจุดเด่นของสถาปัตยกรรมล้านนากับความสมัยใหม่ที่ออกมาได้อย่างลงตัวและกลมกลืน ผลงานชิ้นนี้ทำให้นำไปต่อยอดจนได้รับรางวัล The Best Golden Pin Award ที่ไต้หวัน โดยการสนับสนุนของ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และอีกผลงานที่ภูมิใจคือการออกแบบห้องสมุดคณะสถาปัตย์ จุฬา
สำหรับเคล็ดลับในการทำงานออกแบบให้ประสบความเร็จ คุณบี สรุปง่ายๆ สั้นๆ ว่า ต้องมี “ความรักในงานนั้นๆ” งานออกแบบเป็นงานที่ต้องใช้เวลา และต้องมีการพัฒนาตนเองอย่างสม่ำเสมอ กว่าผลงานจะออกมาให้เห็นเป็นรูปธรรม บางงานที่ทุ่มเทคิดอาจไม่ได้ไปจนถึงการก่อสร้างเลยก็ได้ ถ้าเราไม่รักในงาน เราจะเกิดความรู้สึกยอมรับไม่ได้ และเกิดการท้อใจ
คุณบี เพิ่มเติมให้อีกว่าในงานออกแบบ เราต้องค้นหา “ความสนุก” ให้เจอตั้งแต่เริ่มต้นและในทุกขั้นตอนของการทำงาน การได้ค้นพบสิ่งใหม่ๆ ในเส้นทางที่เราไม่เคยเจอ เราจะตื่นเต้นและสนุกไปกับมัน จนที่สุดแล้วสิ่งที่เราได้คือ “ความภาคภูมิใจ” ซึ่งทดแทนด้วย “เงิน” ไม่ได้
นอกจากนี้ คุณบี ยังได้เสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการปรับตัวในเรื่องของงานออกแบบช่วงโควิด ที่ส่งผลกระทบกับชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนว่า ต่อไปแนวโน้มการออกแบบจะคำนึงถึงเรื่อง “พื้นที่”(Space) ที่นอกจากจะต้องรักษาระยะห่างแล้ว ยังต้องคำนึงถึงการใช้ประโยชน์สูงสุดของพื้นที่ด้วย ความสำคัญของการใช้สอยอุปกรณ์เฟอร์นิเจอร์ก็จะลดน้อยลง อะไรที่เป็นส่วนประกอบของผ้าที่ต้องมีกระบวนการทำความสะอาดมากเช่นผ้าม่านก็อาจถูกลดทอน ส่วนพื้นผิวสัมผัสที่ทำความสะอาดได้ง่าย เช่นวัสดุที่เป็นโลหะเบา จะได้รับความนิยมมากขึ้น การออกแบบสำนักงานก็ต้องคิดถึงเรื่องการปรับเปลี่ยนการใช้พื้นที่ที่ต้องสนองตอบได้ทั้งการใช้งานร่วมกัน ในขณะเดียวกันก็ต้องคำนึงถึงความเป็นส่วนตัวเพื่อสุขอนามัยและความปลอดภัยของตนเองและส่วนรวม ซึ่งหลายธุรกิจต้องปรับเช่นกัน ทั้ง โรงแรม ร้านอาหาร คาเฟ่ เป็นต้น
สุดท้าย “อยากให้นักออกแบบรุ่นน้องให้เข้ามามีประสบการณ์ใน DEmark Award เพื่อพัฒนาศักยภาพ และผลงาน โดยไม่ต้องกังวลว่าจะเป็นชิ้นงานเล็ก หรืองานใหญ่ เพราะกรรมการตัดสินมีความเที่ยงตรง ไม่ได้ตัดสินด้วยความเป็นองค์กรใหญ่ หรือเล็ก ชิ้นงานของแต่ละบุคคลก็มีความน่าสนใจและมีโอกาสได้รับรางวัลเช่นกัน” บีสรุป
คุณสาริช จันทวิบูลย์ (บอน) จาก DINSOR CO.,LTD DEmark Award Winner 2017 ผู้ออกแบบ Art Direction ของ DEmark Award ในปีนี้ ด้วย Theme “REGENERATIVE DESIGN FOR THE NEXT” สะท้อนดีไซน์ เชื่อมวิถีใหม่ บอนเล่าถึงความรู้สึกว่า “ดีใจ และมีความตื่นเต้นที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของงาน DEmark Award ในปีนี้ โจทย์ที่ได้รับมาน่าสนใจทีเดียว เพราะมันคือภาพรวมของวงการ Design ที่ต้องทำการรีเสริชหาข้อมูลเพื่อนำมาประกอบและตอบโจทย์นี้ให้ได้ โดยส่วนตัวแล้ว มีความหวังลึกๆ และแอบรอมาตลอด ว่าเมื่อไหร่จะถึงเวลาของเรา ในที่สุด เราก็ได้รับการเสนอให้ทำงานชิ้นนี้ รู้สึกภูมิใจมาก” บอนเล่าด้วยน้ำเสียงที่บ่งบอกถึงความประทับใจและดีใจที่ได้ออกแบบงานนี้
เมื่อถามว่าอยากเห็นอะไรใน DEmark Award ปีนี้ บอนสะท้อนมุมมองว่า “ความแตกต่าง และแนวคิดใหม่ๆ ของงานออกแบบที่มีความ WOW คาดหวังผลงานที่ให้ความใส่ใจในเรื่อง Eco Products เนื่องจากผลกระทบจากวิกฤติโควิดทำให้เราต้องปรับตัว ลูกค้าเราก็ปรับตัวเช่นกัน เป็นนวัตกรรมการออกแบบที่ช่วยให้ทุกคนปรับตัวเพื่ออยู่รอด และมองว่าสำหรับธุรกิจใหญ่ๆ องค์กรใหญ่ มีความพร้อมมากกว่า องค์กรขนาดเล็ก หรือ SME ที่ปัจจุบันนี้ หายไปเยอะมากทีเดียว ซึ่งจะเสียโอกาสไปอย่างมาก”
ถ้าถามถึงความหมายของ Theme งาน DEmark Award ในปีนี้ REGENERATIVE DESIGN FOR THE NEXT “ปฏิรูปกระบวนการออกแบบโดยให้คุณค่าและความสำคัญกับความต้องการในการใช้ชีวิตและไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนแปลงไป ตอบโจทย์วิถีใหม่ของผู้คนในโลกที่ทุกคนต้องปรับตัว (Next Normal)” ซึ่งบอน ต้องทำงาน Design Art Direction ออกมาเพื่อตอบโจทย์นี้ “มันคือองค์รวมของการออกแบบที่นำมาทำร่วมกันแล้วออกมาเป็นสิ่งใหม่ เป็นกระบวนการของการ Regroup การทำงานร่วมกัน แล้วมีการ Refresh ทำอะไรใหม่ๆ ที่มีการ Re improvement เพื่อพัฒนาผลงานที่ออกมาแล้วดีกว่าเดิม” บอนสรุปสั้นๆ แต่ช่วยให้เรามองเห็นภาพแนวโน้มของการออกแบบได้ชัดเจนขึ้น
สำหรับ นักออกแบบ ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ ผู้ส่งออก ที่สนใจเข้าร่วมโครงการรางวัลสินค้าไทยที่มีการออกแบบดีปี 2564 สมัครออนไลน์ได้ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิถุนายน 2564 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักส่งเสริมนวัตกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อการค้า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โทร 061 032 6594, 082 954 5965 หรือ 0 2507 8278 Email : [email protected]
A6568
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ